อุปาทาน – อุปทาน (บาลีวันละคำ 1,810)
อุปาทาน – อุปทาน
ถ้ารู้จักคิด ก็จะรู้ว่าผิดตรงไหน
(๑) “อุปาทาน”
ภาษาไทยอ่านว่า อุ-ปา-ทาน หรือ อุบ-ปา-ทาน บาลีอ่านว่า อุ-ปา-ทา-นะ รากศัพท์มาจาก อุป (คำอุปสรรค = เข้าไป, ใกล้) + อา (คำอุปสรรค = กลับความ) + ทา (ธาตุ = ให้) + ยุ ปัจจัย, แปลงเป็น อน (อะ-นะ)
หลักภาษา : อา คำอุปสรรคปกติใช้นำหน้าธาตุ มีความหมายหลายอย่างคือ ทั่ว, ยิ่ง, กลับความ ในที่นี้ใช้ในความหมายว่า “กลับความ” คือนำหน้าธาตุตัวใด ทำให้ความหมายของธาตุตัวนั้นกลายเป็นตรงกันข้าม
ในที่นี้ “ทา” ธาตุ มีความหมายว่า “ให้”
เมื่อมี อา นำหน้า เป็น “อาทา” ความหมายกลับตรงกันข้าม จาก “ให้” กลายเป็น “เอา” (รับเอา, คว้าเอา, ยึดเอา)
: อุป + อา + ทา = อุปาทา + ยุ > อน = อุปาทาน แปลตามศัพท์ว่า (1) “การเข้าไปยึดเอา” (สิ่งที่จะยึดเอาอยู่ที่ไหน จิตก็เข้าไปที่นั่นแล้วยึดติดอยู่) (2) “สิ่งที่ไฟจับเอา”
“อุปาทาน” ในบาลีใช้ในความหมาย 2 นัย คือ –
(1) อาศัย, ยึด, ยึดมั่น, ถือมั่น, เครื่องเกาะ, อุปาทาน (drawing upon”, grasping, holding on, grip, attachment)
(2) เชื้อ, เสบียง, อาหาร (fuel, supply, provision)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อุปาทาน : (คำนาม) การยึดมั่นถือมั่น, การนึกเอาเองแล้วยึดมั่นถือมั่นว่าจะต้องเป็นอย่างนั้น ๆ. (ป.).”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –
“อุปาทาน : ความถือมั่น, ความยึดติดถือค้างถือคาไว้ (ปัจจุบันมักแปลกันว่า ความยึดมั่น) ไม่ปล่อยไม่วางตามควรแก่เหตุผล เนื่องจากติดใคร่ชอบใจหรือใฝ่ปรารถนาอย่างแรง.”
(๒) “อุปทาน”
ภาษาไทยอ่านว่า อุ-ปะ-ทาน หรือ อุบ-ปะ-ทาน บาลีอ่านว่า อุ-ปะ-ทา-นะ รากศัพท์มาจาก อุป (คำอุปสรรค =เข้าไป, ใกล้, มั่น) + ทา (ธาตุ = ให้) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)
: อุป + ทา = อุปทา + ยุ > อน = อุปทาน แปลตามศัพท์ว่า “การเข้าไปให้” (ผู้ที่จะรับอยู่ที่ไหน ก็เข้าไปที่นั่น แล้วให้ คือการนำไปให้จนถึงที่) หรือ “การมอบให้” หมายถึง ให้, มอบให้ (giving, bestowing)
คำว่า “อุปทาน” เป็นศัพท์บัญญัติจากคำอังกฤษว่า supply
คำว่า “อุปทาน” ที่มีความหมายตรงกับ supply ยังไม่พบในคัมภีร์บาลี
คำว่า “อุปทาน” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554
เปรียบเทียบ :
: อุป + อา + ทาน = อุปาทาน (attachment)
: อุป + ทาน = อุปทาน (supply)
…………..
เปิดใจ :
เป็นที่น่าประหลาดอย่างยิ่งที่คนทั้งหลายเมื่อจะพูดคำที่หมายถึง “ยึดมั่นถือมั่น, การนึกเอาเองแล้วยึดมั่นถือมั่นว่าจะต้องเป็นอย่างนั้น ๆ” แทนที่จะพูดว่า “อุปาทาน” (attachment) ก็กลับพูดว่า “อุปทาน” (supply)
พูดก็ยังพอว่า เพราะเสียงคล้ายกัน แต่แม้จะเขียนเป็นอักษรก็ยังอุตส่าห์สะกดเป็น “อุปทาน” อยู่นั่นเอง โดยเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์ทั้งหลายมักจะเขียนผิดมาก คนทั้งหลายก็เขียนตามสื่อ แล้วก็พากันเขียนผิดกันอยู่ทั่วไปโดยไม่เฉลียวใจ
สื่อทั้งหลายมักอ้างว่า สื่อไม่ใช่ตำราเรียน และสื่อไม่มีหน้าที่สอนภาษาไทย เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่หน้าที่หรือความรับผิดชอบของสื่อ (อยากโง่มาเชื่อสื่อเองทำไมละ!)
ครั้นทักท้วงเข้า ก็มีผู้ออกรับแทนว่า ก็คนทั่วไปเขาไม่รู้ เพราะเขาไม่ได้เรียน จะไปโทษเขาไม่ได้ ต้องโทษคนที่เรียนมา คนที่เรียนมานั่นแหละจะต้องบอกเขา
ผู้เขียนบาลีวันละคำเคยพยายามบอก พยายามอธิบายมานานแล้ว (เช่น “อุปาทาน” บาลีวันละคำ (111) 27-8-55, “อุปสงค์ – อุปทาน” บาลีวันละคำ (1,742)12-3-60 และในที่อื่นๆ ทั่วไป ที่ไม่ได้บันทึกไว้) พูดมาตั้งมากมาย แต่ก็คงเหมือนเดิม (ไม่ได้แปลว่าผู้เขียนบาลีวันละคำเป็นคนสำคัญ พูดอะไรออกไปคนทั้งเมืองจะต้องได้ยินและจะต้องเชื่อ) ใครที่เคยใช้ผิดมาอย่างไร ก็ยังคงผิดอยู่อย่างนั้น
นี่แสดงว่า ปัญหาเรื่องใช้ภาษาไม่ถูกต้องนี้ข้อเท็จจริงไม่ได้เกิดจาก “ความไม่รู้” อย่างที่อ้าง หากแต่เกิดจาก “ความไม่ใฝ่รู้” ประกอบกับไม่เห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญอะไรนั่นเอง
หลายคนบอกว่า ชาติบ้านเมืองมีปัญหาที่สำคัญกว่านี้อีกตั้งมากมาย จะมาเอาอะไรกันนักหนากับเรื่องภาษา หยุมหยิมไม่เข้าเรื่อง เสียเวลา
…………..
หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล นักการศึกษานามอุโฆษของไทยกล่าวว่า –
“ในโลกนี้มีอะไรเป็นไทยแท้
ของไทยแน่นั้นหรือคือภาษา”
คนที่มีประสบการณ์ในการเดินทางไปต่างประเทศแนะนำว่า เมื่ออยู่ต่างประเทศ บนถนนที่ผู้คนเดินกันขวักไขว่ ถ้าอยากรู้ว่าใครเป็นคนไทย วิธีที่ง่ายที่สุด แต่ได้ผลแน่นอนที่สุดก็คือ ให้พูดภาษาไทยออกมาดังๆ ถ้าแถวนั้นมีคนไทย เขาจะแสดงตัวออกมาทันที
นี่เป็นข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนว่า ภาษาเป็นเครื่องแสดงออกถึงความเป็นชาติ
ปัจจุบันนี้ ในแผนที่โลกไม่มีแผ่นดินที่เป็นประเทศมอญอีกแล้ว แต่ทั้งๆ ที่ไม่มีแผ่นดินของตัวเอง แต่โลกก็รับรู้ว่ายังมีชาติมอญอยู่ในโลกนี้ เพราะคนมอญในเมืองไทยเขายังพูดภาษามอญกันอยู่
แม้เราจะรักษาแผ่นดินที่เรียกว่าประเทศไทยไว้ได้ แต่เมื่อใดที่ภาษาไทยวิบัติวินาศ เมื่อนั้นก็จะไม่มีชาติไทยเหลือไว้ให้ใครรู้จักอีกต่อไป
ความวิบัติวินาศของภาษาก็เริ่มมาจากสิ่งที่เรียกว่า “หยุมหยิมไม่เข้าเรื่อง” นี่แหละ
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ใช้คำผิดความหมาย ไม่ต้องนรก
: แต่สร้างความสกปรกไว้ในภาษาของชาติบ้านเมือง
23-5-60