เอกายนมรรค (บาลีวันละคำ 1,820)
เอกายนมรรค
อ่านว่า เอ-กา-ยะ-นะ-มัก
แยกศัพท์เป็น เอกายน + มรรค
(๑) “เอกายน”
บาลีอ่านว่า เอ-กา-ยะ-นะ รากศัพท์มาจาก เอก (หนึ่ง, หนึ่งเดียว, ดีที่สุด) + อยฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), ทีฆะ อะ ต้นธาตุเป็น อา (อยฺ > อาย)
: เอก + อยฺ = เอกยฺ > เอกาย + ยุ > อน = เอกายน
(๒) “มรรค”
บาลีเป็น “มคฺค” (มัก-คะ) รากศัพท์มาจาก –
(1) มคฺคฺ (ธาตุ = ไป, ถึง; แสวงหา) + อ ปัจจัย
: มคฺค + อ = มคฺค แปลตามศัพท์ว่า (1) “ทางเป็นเครื่องไปสู่ที่ต้องการได้โดยตรง” (2) “ที่อันพวกคนเดินทางแสวงหา” (3) “ธรรมที่ยังบุคคลให้ถึงพระนิพพาน” (4) “ทางอันผู้ต้องการพระนิพพานดำเนินไป”
(2) มชฺชฺ (ธาตุ = สะอาด, หมดจด) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แปลง ชฺชฺ ที่ (ม)-ชฺชฺ เป็น คฺค
: มชฺช + ณ = มชฺชณ > มชฺช > มคฺค แปลตามศัพท์ว่า “ที่ที่สะอาดโดยพวกคนเดินทาง”
(3) ม (นิพพาน) + คมฺ (ธาตุ = ไป, ถึง) + อ ปัจจัย, ซ้อน คฺ ระหว่าง ม + คมฺ, ลบ มฺ ที่สุดธาตุ (คมฺ > ค)
: ม + คฺ + คมฺ = มคฺคม > มคฺค + อ = มคฺค แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมเป็นเครื่องถึงพระนิพพาน”
(4) ม (กิเลเส มาเรติ = ฆ่ากิเลส) + ค (คจฺฉติ = ไป), ซ้อน คฺ
: ม + คฺ + ค = มคฺค แปลตามศัพท์ว่า “วิธีที่ไปฆ่ากิเลส”
“มคฺค” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) ถนน, ถนนใหญ่, ทาง, ทางเท้า (a road, high road, way, foot-path)
(2) ทางแห่งศีลธรรมและสัมมาชีพ, สัมมามรรคหรือทางที่ชอบธรรม (the road of moral & good living, the path of righteousness) คือมรรคในอริยสัจสี่
(3) ขั้นตอนของการบรรลุธรรม (Stage of righteousness) คือมรรคที่คู่กับผล
เอกายน + มคฺค = เอกายนมคฺค (เอ-กา-ยะ-นะ-มัก-คะ) > เอกายนมรรค (เอ-กา-ยะ-นะ-มัก)
“เอกายนมรรค” แปลตามศัพท์ได้หลายนัย (เน้น “เอกายน-”) คือ –
(1) “ทางอันคนผู้เดียวพึงถึง” คืออันผู้มีจิตสงบ ละการคลุกคลีกับหมู่คณะ ปลีกตัวออกไปอยู่แต่ผู้เดียวพึงดำเนินไป = จะไปทางนี้ต้องไปคนเดียว
(2) “ทางเป็นเครื่องถึงของผู้เป็นเอก” หมายถึงทางที่ผู้เป็นเอกมีพระพุทธเจ้าเป็นต้นปฏิบัติดำเนินไปแล้วบรรลุถึงความดับสนิทจากสังสารวัฏ (คือไม่ต้องเวียนเกิดเวียนตายอีกต่อไป) = เมื่อเดินทางนี้ ใครบรรลุถึงจุดหมาย คนนั้นเป็นเอก
(3) “ทางที่มีในที่เดียว” คือมีอยู่ในพระธรรมวินัย (คือพระพุทธศาสนา) นี้เท่านั้น มิได้มีในคำสอนของลัทธิศาสนาอื่น = ทางนี้มีสอนแต่ในพระพุทธศาสนาเพียงศาสนาเดียว
(4) “ทางที่ดำเนินไปสู่ที่เดียว” คือแม้วิธีปฏิบัติภาวนาจะมีหลายนัย แต่ลงท้ายแล้วต้องนำให้บรรลุถึงพระนิพพานที่เดียวเท่านั้น = ทางที่นำไปสู่จุดหมายเดียวกัน
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “เอกายนมคฺค” ว่า leading to one goal, direct way or “leading to the goal as the one & only way (magga).” (นำไปสู่ที่หมายเดียว, ทางตรง หรือ “นำไปสู่ที่หมายดุจทาง [มรรค] เอกและเฉพาะ”)
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –
“เอกายนมรรค : ทางอันเอก คือ ข้อปฏิบัติอันประเสริฐที่จะนำผู้ปฏิบัติไปสู่ความบริสุทธิ์หมดจด หมดความทุกข์ และบรรลุนิพพาน ได้แก่ สติปัฏฐาน ๔; อย่างกว้างขวาง เช่น ในมหานิทเทส หมายถึง โพธิปักขิยธรรม ด้วย.”
…………..
พระพุทธพจน์ว่าด้วย “เอกายนมรรค”
เอกายโน อยํ ภิกฺขเว มคฺโค สตฺตานํ วิสุทฺธิยา โสกปริเทวานํ สมติกฺกมาย ทุกฺขโทมนสฺสานํ อตฺถงฺคมาย ญายสฺส อธิคมาย นิพฺพานสฺส สจฺฉิกิริยาย ยทิทํ จตฺตาโร สติปฏฺฐานา ฯ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หนทางนี้เป็นที่ไปอันเอก เพื่อความบริสุทธิ์ของเหล่าสัตว์ เพื่อล่วงความโศกและปริเทวะ เพื่อความดับสูญแห่งทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุธรรมที่ถูกต้อง เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน หนทางนี้คือสติปัฏฐาน ๔ ประการ.
ที่มา:
– มหาสติปัฏฐานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค พระไตรปิฎกเล่ม ๑๐ ข้อ ๒๗๓, ๓๐๐
– มหาสติปัฏฐานสูตร มัชฌิมนิกาย มูลปัณาสก์พระไตรปิฎกเล่ม ๑๒ ข้อ ๑๓๒, ๑๕๒
– กถาวัตถุปกรณ์ อภิธรรมปิฎก พระไตรปิฎกเล่ม ๓๗ ข้อ ๔๓๕
…………..
ดูก่อนภราดา!
: มีทางเอก แต่ถ้าไม่ไป
: ก็ไม่มีทางอันใดจะช่วยให้ถึงจุดหมายปลายทาง
—————–
(ตอบคำถามของ Kamanit Vasitthi)
2-6-60