บาลีวันละคำ

แสนยากร (บาลีวันละคำ 1,689)

แสนยากร

อ่านว่า แสน-ยา-กอน

ประกอบด้วย แสนย + อากร

(๑) “แสนย

บาลีเป็น “เสนิย” (เส-นิ-ยะ) ประกอบมาจาก เสนา + อิย ปัจจัย

เสนา” (เส-นา) รากศัพท์มาจาก สิ (ธาตุ = ผูก, มัด) + ปัจจัย, แปลง อิ (ที่ สิ) เป็น เอ, ลง อา เครื่องหมายอิตถีลิงค์

: สิ > เส + = เสน + อา = เสนา แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “ผู้ที่ผูกกันไว้” คือ ผู้ที่ต้องเกาะกลุ่มกันเป็นพวก เป็นหมู่ เป็นกอง จึงจะสามารถปฏิบัติงานได้

(2) “ผู้เป็นเหตุให้ผูกมัดข้าศึกได้” คือ เมื่อมีข้าศึกศัตรูมารุกราน (หรือจะไปรุกรานบ้านเมืองอื่น) ต้องอาศัยหมู่คนชนิดเช่นนี้จึงจะสามารถจับข้าศึกได้

เสนา” หมายถึง กองทัพ (an army)

เสนา + อิย ปัจจัย, “ลบสระหน้า” คือลบ อา ที่ (เส)-นา (เสนา > เสน)

: เสนา > เสน + อิย = เสนิย (คุณศัพท์) แปลตามศัพท์ว่า “อันตั้งอยู่ในกองทัพ” หมายถึง จอมทัพ, แม่ทัพ (a general)

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “เสนิย” ว่า belonging to an army (อันเป็นของกองทัพ) และหมายถึง soldier (ทหาร)

บาลี “เสนิย” สันสกฤตเป็น “ไสนฺย

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

ไสนฺย : (คำนาม) กองทัพ (บก); ทหารถืออาวุธ; ทหารยาม; an army; a soldier under arms; a guard or sentinel.”

เสนิย > ไสนฺย เราเอามาแปลงรูปเป็น “แสนย

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

แสนย-, แสนย์ : (คำนาม) คนในกองทัพ, ทหาร เช่น จ่าแสนย์ ว่า ผู้ควบคุมทหาร. (ส. ไสนฺย).”

(๒) “อากร

บาลีอ่านว่า อา-กะ-ระ รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ข้างหน้า) + กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ปัจจัย

: อา + กรฺ + = อากร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ทำไปทั่วๆ” “ผู้ทำไปข้างหน้า” หมายถึง บ่อ, แหล่งกำเนิดของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง (a mine)

เสนิย > ไสนฺย > แสนย + อากร = แสนยากร แปลตามศัพท์ว่า “บ่อเกิดของทหาร” คือแหล่งที่มีทหารอยู่รวมกัน

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

แสนยากร : (คำนาม) หมู่ทหาร, กองทัพ. (ส. ไสนฺย + อากร).”

…………..

วันที่ 18 มกราคม เป็น “วันกองทัพไทย

เดิมรัฐบาลกำหนดให้วันที่ 8 เมษายน เป็นวันกองทัพไทยมาตั้งแต่ปี 2502

ต่อมา รัฐบาลเห็นว่าควรถือเอาเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ครั้งที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชาแห่งกรุงหงสาวดี เป็น “วันกองทัพไทย

วันที่เกิดเหตุการณ์ยุทธหัตถีครั้งนั้นตรงวันจันทร์ แรม 2 ค่ำ เดือนยี่ ปีมะโรง จุลศักราช 954 ตามทางสุริยคติในชั้นเดิมคำนวณได้ตรงกับวันที่ 25 มกราคม พุทธศักราช 2135 รัฐบาลจึงเปลี่ยนวันกองทัพไทยเป็นวันที่ 25 มกราคม เริ่มตั้งแต่ปี 2523

ครั้นต่อมา นักคำนวณปฏิทินหลายท่านพบว่าวันกระทำยุทธหัตถีตามที่คำนวณไว้แต่เดิมนั้นคลาดเคลื่อน วันที่ถูกต้องเป็นวันที่ 18 มกราคม พุทธศักราช 2135 รัฐบาลจึงเปลี่ยนวันกองทัพไทยเป็นวันที่ 18 มกราคม เริ่มตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ระเบียบวินัย

ป้องกันกองทัพไม่ให้กลายเป็นกองโจร ฉันใด

: พระธรรมวินัย

ก็คุ้มครองสมณพราหมณ์ไม่ให้กลายเป็นมหาโจร ฉันนั้น

18-1-60