ข้อคิดจากจวนผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี
ข้อคิดจากจวนผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี
————————————-
ใครที่อยู่ราชบุรี-โดยเฉพาะในเขตเทศบาลเมืองราชบุรี-ย่อมจะเคยเห็นเคยผ่านจวนผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรีกันมาแล้ว
จวนผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรีตั้งอยู่ริมแม่น้ำแม่กลองฝั่งตัวเมือง ถ้าไปยืนที่หอนาฬิกาหรือที่เรียกกันว่า “สนามหญ้า” (ที่นี่เป็นอีกแห่งหนึ่งที่เด็กรุ่นใหม่กำลังตีรวนว่าไม่เห็นมีหญ้าสักต้น ไปเรียกว่า “สนามหญ้า” ได้ไง ชื่อบ้านนามเมืองของเรานี่ถ้าไม่เรียนรู้กันไว้ให้ดี จะถูกคนเขลาที่มีอำนาจทำลายหมด) หันหน้าไปทางแม่น้ำ กางแขนออกแล้วเดินไปทางแขนขวา สักพักหนึ่งจะลอดสะพานรถไฟ เลยไปไม่กี่ก้าวก็ถึงจวนผู้ว่าฯ
จวนผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรีนี้ ผู้ที่ค้นคว้าประวัติความเป็นมาบอกว่า ไม่ทราบปีสร้างที่แน่นอน แต่มีหลักฐานบันทึกไว้ว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เคยเสด็จมาประทับที่หน้าจวนหลังนี้ในคราวเสด็จประพาสมณฑลราชบุรีในปี พ.ศ.2452
นั่นแปลว่า จวนหลังนี้สร้างมาก่อนปี พ.ศ.2452
ผู้ที่ค้นคว้าประวัติสันนิษฐานว่าน่าจะสร้างระหว่างปี 2440-2450 นั่นคือก่อนที่รัชกาลที่ 5 จะเสด็จมาประทับที่หน้าจวน จวนหลังนี้ได้สร้างมาแล้วประมาณ ๑๐ ปี
สรุปสั้นๆ โดยไม่ต้องกลัวผิดว่า จวนผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรีหลังนี้มีอายุไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ ปี
ผู้ออกแบบและผู้สร้างต่างล่วงลับไปหมดสิ้นแล้ว
แต่ผลงานยังอยู่
ผมเป็นสามเณรมาอยู่วัดมหาธาตุ ราชบุรีตั้งแต่ปี ๒๕๐๖ ก็เห็นจวนผู้ว่าฯ อยู่ตรงนั้นในสภาพเดียวกับที่เห็นในปี ๒๕๖๐ นี้ เคยเดินผ่านจวนผู้ว่าฯ เป็นร้อยๆ ครั้ง แต่ไม่เคยมีวาสนาได้เข้าไป
จวนผู้ว่าฯ ในความคิดของผมเห็นจะพอเทียบได้กับพื้นที่ซึ่งภาษาทหารเรียกว่า “เขตหวงห้ามเด็ดขาด”
ผมเพิ่งมีโอกาสเข้าไปในบริเวณจวนผู้ว่าฯ ก็ตอนที่คุณธีรภาพ โลหิตกุล ท่านจัดทำหนังสือ “อัมพรธรรมอำไพ” ในวโรกาสทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ ๒๐ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เพื่อเผยแพร่เป็นธรรมบรรณาการ และท่านผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรีในขณะนั้น (นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม) เป็นเจ้าภาพจัดพิมพ์ในนามจังหวัดราชบุรี มีการจัดงานย่อยๆ ในบริเวณจวนผู้ว่าฯ เมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๖๐ เพื่อเปิดตัวหนังสือ คุณธีรภาพ โลหิตกุล เชิญผมไปร่วมงานด้วยในฐานะเป็นผู้เขียนส่วนหนึ่งในหนังสือเล่มนั้น
วันนั้นเห็นเฉพาะบริเวณรอบๆ
ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๖๐ มีการประชุมคณะทำงานคณะหนึ่งเพื่อพิจารณาปรับปรุงอาคารจวนผู้ว่าฯ ให้เป็นพิพิธภัณฑ์ หรือเพื่อกิจกรรมทางศิลปะ วัฒนธรรม ตามที่เห็นสมควร
การประชุมวันนั้นจัดขึ้นที่ศาลาริมน้ำในบริเวณจวนผู้ว่าฯ มีท่านผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี (นายชยาวุธ จันทร) เป็นประธาน สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดราชบุรีเชิญผมให้ไปร่วมประชุมด้วย
ผมฟังคำแถลงของท่านผู้ว่าฯ แล้ว เห็นว่าเรื่องนี้เป็นอย่างที่ภาษาทหารเรียกว่า “ความต้องการของผู้บังคับบัญชา” จึงได้แต่นั่งฟังอย่างเดียว
สรุปว่าที่ประชุมเห็นควรปรับปรุงอาคารจวนผู้ว่าฯ ให้เป็นพิพิธภัณฑ์ หรือเพื่อกิจกรรมทางศิลปะ วัฒนธรรม รายละเอียดต่างๆ จะได้ดำเนินการเป็นลำดับไป
วันนั้นเปิดโอกาสให้ผู้เข้าประชุมขึ้นไปชมภายในอาคารด้วย ผมจึงมีโอกาสได้ขึ้นไปเห็นห้องหับต่างๆ ในอาคารจวนผู้ว่าฯ เป็นครั้งแรก
เป็นอันว่า จวนผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรีจะสิ้นสภาพความเป็นจวนผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี และจะแปรสภาพเป็นสถานที่เพื่อทำกิจกรรมอื่น
ผมเชื่อว่าผมมีสิทธิ์ที่จะแสดงความคิดเห็นได้ว่า ผมไม่เห็นด้วย
ผมไม่ได้บอกว่าการทำเช่นนั้นผิดหรือถูกนะครับ
ผมถือหลักว่า เมื่อเป็นการกระทำในกรอบขอบเขตซึ่งผู้มีอำนาจสามารถทำได้ ก็กล่าวได้ว่าไม่ผิด
แต่จะดี มีประโยชน์แค่ไหนอย่างไร เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
——————-
ต่อไปนี้เป็นความเห็นของผม
จวนผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรีแห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่พักของหัวหน้าส่วนราชการสูงสุดในเขตเมืองราชบุรี ตั้งแต่ยังเป็นมณฑลราชบุรี (ประกอบด้วยเมืองราชบุรี สมุทรสงคราม กาญจนบุรี เพชรบุุรี ปราณบุรี ประจวบคีรีขันธ์) เรียกชื่อตำแหน่งว่า สมุหเทศาภิบาลมณฑลราชบุรี จนกระทั่งเปลี่ยนระบบการปกครอง เรียกชื่อตำแหน่งว่า ผู้ว่าราชการจังหวัด ตามที่ปรากฏในปัจจุบัน
ผมเข้าใจว่าอาคารที่เรียกว่า จวนผู้ว่าราชการจังหวัด ที่สร้างขึ้นในสมัยโน้นและยังคงมีสภาพใช้งานได้ในปัจจุบันนี้น่าจะเหลืออยู่ไม่กี่จังหวัด
ทราบว่าบางจังหวัดก็กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ไปแล้ว
ที่ยังคงสภาพเป็นบ้านพักของผู้ว่าราชการจังหวัดจริงๆ น่าจะเหลือน้อย หรืออาจจะไม่เหลือเลย-นอกจากที่จังหวัดราชบุรี
ผมได้รับคำยืนยันจากเพื่อนคนหนึ่งว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรีท่านที่แล้ว (นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม) ท่านก็พักที่อาคารจวนผู้ว่าราชการจังหวัด
แต่ที่ผมเห็นเมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๖๐ นั้นทุกห้องภายในอาคารว่างโล่ง ไม่มีร่องรอยใดๆ ว่า ณ เวลานั้นมีผู้พักอาศัยอยู่ในอาคาร
แต่สภาพของอาคารยืนยันว่า ยังสามารถใช้เป็นที่พักอาศัยได้เป็นอย่างดี
ความเห็นของผมก็คือ ควรดำรงสภาพความเป็นบ้านพักของผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งมีคำเรียกเฉพาะว่า “จวนผู้ว่าราชการจังหวัด” ไว้ต่อไป เพื่อประกาศยืนยันแก่ชาวโลกว่า ที่ประเทศไทย ในจังหวัดราชบุรี มีอาคารหลังหนึ่งอายุกว่า ๑๐๐ ปี สร้างขึ้นเพื่อเป็นบ้านพักของผู้ว่าราชการจังหวัด ทุกวันนี้ก็ยังคงใช้เป็นบ้านพักของผู้ว่าราชการจังหวัดเหมือนกับเมื่อแรกสร้าง และมีธรรมเนียมว่าใครมาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี จะมีบ้านของตัวเองหรูหราขนาดไหนก็ต้องเข้าไปอยู่ใน “จวนผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี” และต้องพักอาศัยอยู่จริงๆ ไม่ใช่อยู่พอเป็นพิธี ชาวราชบุรีจะรักษา “จวนผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี” แห่งนี้ให้ดำรงสภาพความเป็นบ้านพักของผู้ว่าราชการจังหวัดเช่นนี้ตลอดไปชั่วกาลนาน
ให้โลกทั้งหลายเขาลือ… ว่า อยากดู “จวนผู้ว่าราชการจังหวัด” ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ต้องมาที่ราชบุรีแห่งเดียวเท่านั้น
ปัญหาความเก่าแก่ ไม่สะดวกสบาย แก้ได้ด้วยภูมิปัญญา ใช้ไฮเทคเข้าช่วย ทำให้อยู่สบายเหมือนบ้านสมัยใหม่ เล่นไม่ยาก
ความเก่าแก่ และการที่ยังรักษาสถานภาพความเป็นจวนผู้ว่าราชการจังหวัดไว้ได้-นี่ต่างหากคือคุณค่าที่คุ้มค่า
การแปรสภาพไปเป็นพิพิธภัณฑ์หรืออะไรก็ตาม ก็คือการฆาตกรรมมรดกของบ้านเมืองอย่างเลือดเย็น
กรุณาอย่าเอาศาลากลางจังหวัดหลังเก่า-ที่กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ไปแล้ว-มาเป็นแนวเทียบผิดๆ
ศาลากลางนั่นเป็นอีกกรณีหนึ่ง นั่นเป็นที่ทำงาน ปริมาณงานและจำนวนคนที่เพิ่มขึ้นตามยุคสมัยเป็นตัวแปรที่จำเป็น
แต่จวนผู้ว่าฯ ไม่มีเงื่อนไขบังคับแบบนั้น
ผู้ว่าฯ มีครอบครัวเดียวยืนตัว
จวนผู้ว่าฯ จึงสามารถดำรงอยู่ในสภาพเดิมได้อย่างไร้ปัญหา
ในกรณีนี้ หลักของผมคือ อะไรเกิดมาเพื่ออะไร ก็ควรดำรงอยู่ในสถานะนั้น ไม่ใช่แค่ดำรงอยู่ แต่อยู่ในฐานะอื่น
ขอให้ลองคิดถึงเกวียน แอก ไถ อุปกรณ์ประกอบอาชีพของบรรพบุรุษ ที่คนสมัยใหม่แยกส่วนเอามาทำเป็นเครื่องประดับบ้าน ประดับสถานที่
เอาล้อเกวียนประดับรั้วร้านอาหาร
เอาแอกเป็นเครื่องประดับกรอบหน้าต่างบ้าน
เอาคันไถเป็นเครื่องประดับฝาบ้าน
เป็นความงามแบบมีระดับ
หรือเป็นการดูถูกบรรพบุรุษตัวเองกันแน่
เมื่อจะไม่ใช้อีกแล้ว
ทำไมไม่อนุรักษ์เกวียนให้ยังคงคุมรูปเป็นเกวียนที่สมบูรณ์
อนุรักษ์แอก-ไถ ให้คุมคู่ของมันอยู่อย่างเดิม
แล้วตั้งไว้ในที่อันเหมาะสม เป็นอุปกรณ์ให้ลูกหลานของเราเรียนรู้ภูมิหลังแห่งชนชาติของตนว่าบรรพบุรุษของเราทำมาหากินกันมาอย่างไร
เป็นการเชิญชวนให้โลกมาร่วมโค้งคารวะด้วย
——————-
มองสูงขึ้นมาอีกนิด
เวลาเห็นช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ คันทวย ของโบสถ์วิหารเก่า ที่ถูกถอดเอามาประดับไว้ตรงนั้นตรงนี้ภายในอาราม
ผมสะท้อนใจว่า สถานที่ที่สิ่งเหล่านี้ควรจะอยู่ก็คือหลังคาฝาผนังโบสถ์วิหารที่ยังเป็นโบสถ์วิหารจริงๆ
ทำขึ้นมาเพื่ออันใด ก็ควรไปอยู่กับอันนั้นจริงๆ
ถ้าหมดสภาพที่จะใช้งานจริง ก็ควรเก็บเข้าพิพิธภัณฑ์ให้เป็นเรื่องเป็นราว
เอาไว้ไปดู ไปเห็น เป็นอนุสรณ์ เป็นอนุสติ ตามที่ทางที่ควรจะอยู่จะเป็น
ไม่ใช่ถูกถอดแยกส่วนมาติดตั้งไว้ตรงนั้นตรงนี้-ราวกับเครื่องประดับ
——————-
คราวนี้มองให้สูงสุด คือ องค์พระพุทธปฏิมา
องค์พระพุทธปฏิมานั้นนักปราชญ์ท่านสร้างขึ้นเพื่อเป็นอุปกรณ์ในการเจริญพุทธานุสติ-ระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์
เป็นอุปกรณ์ในการเจริญพระกรรมฐานได้อย่างหนึ่ง-ซึ่งในที่สุดจะนำไปสู่การบรรลุมรรคผลนิพพานได้
เพราะมนุษย์ย่อมมีศักยภาพในการบรรลุธรรมแตกต่างกัน
คนที่มีอินทรีย์แก่กล้า อาจไม่จำเป็นต้องใช้อะไรมาก บางคนพูดให้ฟังไม่กี่คำก็บรรลุ
แต่คนที่มีอินทรีย์อ่อน จะช่วยได้มาก
อุปมาเหมือนแชมป์ว่ายน้ำ ไม่จำเป็นต้องใช้ห่วงยาง
แต่เด็กน้อยที่เพิ่งหัดว่ายน้ำ ยังจำเป็นต้องใช้อยู่
ฉันใดก็ฉันนั้น
และเป็นธรรมดา เมื่อมีองค์พระพุทธปฏิมาเกิดขึ้นมาแล้ว วัฒนธรรมที่เกี่ยวเนื่องกันก็ตามมา เช่นสถานที่อันควรหรือไม่ควรประดิษฐานเป็นต้น
แต่น่าเสียดายที่เวลานี้คนส่วนมากมององค์พระพุทธปฏิมาผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปไกล
บางคนที่ต่างศาสนาใช้คำเรียกว่า “รูปเคารพ” ซึ่งเป็นการเรียกอย่างดูถูก และดูหมิ่นผู้เคารพรูปนั้นอยู่ในตัว
แม้แต่คนในศาสนาของเราเอง ก็ยังมีมากที่กราบไหว้องค์พระพุทธปฏิมาด้วยความหวัง-คล้ายกับ-ว่าวันหนึ่งพระพุทธรูปจะโดดลงมาจากหิ้งพระแล้วช่วยบันดาลให้ประสบความสำเร็จโดยเจ้าตัวไม่ต้องทำอะไรนอกจากกราบไหว้สวดมนต์อ้อนวอน
ที่น่าสงสารก็คือ คนที่มององค์พระพุทธปฏิมาแล้วเห็นโบราณวัตถุ และตีราคาตามความเก่าและตามราคาของเนื้อวัตถุที่ใช้สร้าง
แต่ที่น่าสลดใจเป็นที่ยิ่งก็คือ ท่านจำพวกที่เห็นองค์พระพุทธปฏิมาเป็นเพียงเครื่องประดับชนิดหนึ่ง-ทั้งประดับสถานที่และประดับบารมีของตัวเอง
ผมเคยเห็นภาพภายในห้องรับแขกของท่านผู้มีอันจะกินผู้หนึ่ง ท่านตั้งพระพุทธรูปเป็นเครื่องประดับห้องรับแขกอย่างภาคภูมิ
องค์พระพุทธปฏิมาท่านสร้างขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ใด ก็ควรมีไว้เพื่อวัตถุประสงค์นั้นจริงๆ ไม่ควรเบี่ยงเบนไปเป็นอย่างอื่น
ฉันใดก็ฉันนั้น
——————-
ขอท่านผู้มีสติปัญญาได้โปรดตรึกตรองตามแนวแห่งอุปมาอุปไมยที่ผมเพียรบรรยายมานี้โดยถี่ถ้วนเทอญ
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๑๐ ธันวาคม ๒๕๖๐
๑๖:๕๕