เกสา (บาลีวันละคำ 2,010)
เกสา = ผม
ลำดับ 1 ในอาการสามสิบสอง
อ่านว่า เก-สา
“เกสา” รูปคำเดิมเป็น “เกส” (เก-สะ) รากศัพท์มาจาก –
(1) เก (ศีรษะ, หัว) + สี (ธาตุ = อยู่, นอน) + อ ปัจจัย, “ลบสระหน้า” คือลบ อี ที่ สี (สี > ส)
: เก + สี = เกสี > เกส + อ = เกส แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่อยู่บนศีรษะ”
(2) เก (ศีรษะ, หัว) + ชนฺ (ธาตุ = เกิด) + อ ปัจจัย, ลบ นฺ ที่สุดธาตุแล้วแปลง ช เป็น ส (ชนฺ > ช > ส)
: เก + ชนฺ = เกชนฺ + อ = เกชน > เกช > เกส แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เกิดอยู่บนศีรษะ”
“เกส” (ปุงลิงค์) หมายถึง เส้นผม (the hair of the head)
“เกส” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) พหูพจน์ เปลี่ยนรูปเป็น “เกสา” แปลว่า เส้นผมทั้งหลาย
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บไว้ทั้ง เกส, เกสา, เกสี; เกศ, เกศา, เกศี
ในที่นี้ขอยกมาเฉพาะ “เกศ” พจนานุกรมฯ บอกไว้ดังนี้ –
“เกศ, เกศ– : (คำแบบ) (คำนาม) ผม, ในบทกลอนใช้หมายถึง หัว ก็มี เช่น ก้มเกศ.”
โปรดสังเกตว่า ในภาษาบาลี “เกส” (เกสา) หมายถึง เส้นผม (hair) เท่านั้น แต่ในภาษาไทย “เกศ” หมายถึง หัว (head) ด้วย
…………..
ขยายความ :
ในลักษณะงาม 5 ประการของสตรี ที่เรียกว่า “เบญจกัลยาณี” ท่านกำหนดให้ “เกสา” เป็นส่วนหนึ่งที่เป็นเครื่องวัดความงามของสตรี เรียกว่า “เกสกลฺยาณ” = ความงามของผม (beauty of hair) (ดูเพิ่มเติมที่ “เบญจกัลยาณี”)
ในบทสวด “พระอาการสามสิบสอง” กล่าวถึง “เกสา” ไว้ดังนี้ –
๏ เกศาคือผม……อย่าได้ชื่นชม…….ว่าผมโสภา
มีแปดแสนเส้น…..ล้วนเป็นอนิจจา….แก่เฒ่าชรา
หงอกขาวสาธารณ์๚ะ๛
……..
“เกสา” เป็น 1 ในกรรมฐานที่เรียกว่า “ตจปัญจกกรรมฐาน” (กรรมฐานมีหนังเป็นที่คำรบห้า) อันพระอุปัชฌาย์จะพึงบอกแก่กุลบุตรผู้เข้ามาอุปสมบทในพระธรรมวินัยเป็นเบื้องต้น ประกอบด้วย “เกสา โลมา นขา ทนฺตา ตโจ” (ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง)
การใช้ “เกสา” เป็นอุปกรณ์ปลงกรรมฐาน ท่านแนะให้น้อมนึกดังนี้ –
…..
ในชามข้าวชามแกงถ้ามีผมตกลงไปสักเส้น หรือแม้แต่เห็นอะไรคล้ายๆ เส้นผมอยู่ในนั้น แม้อาหารนั้นจะเป็นของอร่อยของชอบ ก็จะรู้สึกพะอืดพะอมขึ้นมาทันที บางคนถึงกับให้เอาไปเททิ้ง
บางทีเคี้ยวข้าวอยู่ในปาก รู้สึกว่าเส้นอะไรปนอยู่ เช่นอาจเป็นเส้นใยผักบางชนิด ทั้งๆ ที่ไม่รู้ว่าเป็นอะไรแน่ แต่พอนึกว่าอาจเป็นเส้นผม ก็ทำท่าจะอาเจียนเอาก็มี
ผมทั้งหลายเป็นของปฏิกูลดังนี้
อนึ่ง เส้นผมที่ไม่อบไม่ร่ำทำให้หอม ไม่ต้องสระต้องสาง ปล่อยตามธรรมชาติอยู่สักพัก จะเหม็นสาบน่าเกลียดยิ่งนัก ลองเอาเส้นผมไปลนไฟจะยิ่งเหม็นหนักกว่านั้น
ความจริงเส้นผมนั้นโดยสีและสัณฐานอาจจะไม่เห็นเป็นของปฏิกูลน่าเกลียดก็เป็นได้ แต่ว่าโดยกลิ่นแล้วปฏิกูลแท้ทีเดียว
อุปมาเหมือนก้อนอุจจาระของเด็กเล็ก สีก็เหมือนสีขมิ้น รูปทรงสัณฐานก็เหมือนแง่งขมิ้น มองแค่นี้บางทีจะไม่เห็นว่าอุจจาระเด็กปฏิกูลน่าเกลียดก็เป็นได้ แต่ถ้าลองดมดูละก็ ความปฏิกูลน่าเกลียดจะปรากฏทันที-ดังนี้ฉันใด
แม้เส้นผมก็ฉันนั้น โดยสีและสัณฐานอาจจะไม่เห็นว่าปฏิกูล แต่ว่าโดยกลิ่นเดิมแท้แล้วเป็นของปฏิกูลโดยแท้แล
ผมทั้งหลายเป็นของปฏิกูลดังนี้
อนึ่ง ผักสำหรับแกงอันเกิดในที่โสโครกด้วยน้ำครำที่ไหลออกไปแต่หมู่บ้าน ย่อมเป็นของน่าเกลียด ไม่น่าบริโภคสำหรับคนชาวเมือง ฉันใด
แม้เส้นผมก็ชื่อว่าน่าเกลียดเพราะเกิดด้วยน้ำที่ซึมออกมาแต่ส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น น้ำเหลือง เลือด มูตร คูถ น้ำดี และเสมหะเป็นอาทิ จึงเป็นของน่าเกลียดฉันนั้น
ผมทั้งหลายเป็นของปฏิกูลดังนี้
อนึ่ง ผักที่ขึ้นในกองคูถ 1 ผักที่เกิดในที่โสมมทั้งหลายมีที่ฝังศพและที่เทขยะเป็นต้น 1 และดอกไม้น้ำเช่นดอกบัวหลวงและดอกบัวสายเป็นอาทิที่เกิดในที่ไม่สะอาดทั้งหลายเช่นในคูเมืองเป็นต้นอีก 1 เหล่านี้เป็นของน่าเกลียดนักเพราะเกิดในที่ไม่สะอาด ฉันใด
อันว่าผมทั้งหลายที่เกิดอยู่ในกายอันโสโครกนี้ก็เป็นของน่าเกลียดนักฉันนั้นแล
ผมทั้งหลายเป็นของปฏิกูลดังว่ามานี้แล
(เก็บความจากคัมภีร์วิสุทธิมรรค ภาค 2 อนุสสติกัมมัฏฐานนิทเทส หน้า 28-29)
…………..
ดูก่อนภราดา!
: แสวงทรัพย์ เห็นเกสาเป็นกำไรขาดทุน
: แสวงบุญ เห็นเกสาเป็นบันไดสู่สวรรค์วิมาน
: แสวงพระนิพพาน เห็นเกสาเป็นพระไตรลักษณารมณ์
—————-
(ตามคำอาราธนาของคุณครูอนันต์ นาควิจิตร)
ภาพประกอบ: จาก google
ควรตามไปดูคำว่า “อาการ 32” ที่ลิงก์ข้างล่างนี้ด้วย:
#บาลีวันละคำ (2,010)
13-12-60