อานิสงส์ [2] (บาลีวันละคำ 1,829)
อานิสงส์ [2]
ยังเขียนผิดกันไม่เลิก
อ่านว่า อา-นิ-สง
“อานิสงส์” บาลีเป็น “อานิสํส” อ่านว่า อา-นิ-สัง-สะ รากศัพท์มาจาก –
(1) อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง) + นิ (คำอุปสรรค = เข้า, ลง) + สํสฺ (ธาตุ = สรรเสริญ) + อ ปัจจัย
: อา + นิ + สํสฺ = อานิสํสฺ + อ = อานิสํส แปลตามศัพท์ว่า “คุณที่นำออกมาสรรเสริญได้อย่างดียิ่ง”
(2) อานิ (ผลที่ได้รับ) + สนฺท (ธาตุ = ไหล, หลั่ง) + อ ปัจจัย, แปลง นฺ ที่ สนฺท เป็นนิคหิต (สนฺทฺ > สํท), แปล ท ที่ สนฺทฺ เป็น ส (สนฺทฺ > สนฺส)
: อานิ + สนฺทฺ = อานิสนฺทฺ + อ = อานิสนฺท > อานิสํท > อานิสํส แปลตามศัพท์ว่า “คุณที่หลั่งผลออก”
“อานิสํส” (ปุงลิงค์) หมายถึง การสรรเสริญ คือสิ่งซึ่งเป็นที่น่ายกย่อง, กำไร, ความดี, ประโยชน์, ผลดี (praise i. e. that which is commendable, profit, merit, advantage, good result)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อานิสงส์ : (คำนาม) ผลแห่งกุศลกรรม, ผลบุญ; ประโยชน์ เช่น อานิสงส์กฐิน. (ป. อานิสํส; ส. อานฺฤศํส, อานุศํส).”
ขยายความ :
ตัวอย่างความหมายของ “อานิสงส์” ในกรณีต่างๆ –
(1) ผลที่ได้จากการทำดี เช่น เจริญเมตตาเป็นนิตย์มีผล 11 อย่าง
“มีผล” นี่ก็คือความหมายของ “อานิสงส์”
(2) ผลดีของการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ออกกำลังมีประโยชน์อย่างไรบ้าง
“ประโยชน์” นี่ก็คือความหมายของ “อานิสงส์”
(3) ข้อดีของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น มะละกอมีสรรพคุณเป็นยาระบาย
“สรรพคุณ” นี่ก็คือความหมายของ “อานิสงส์”
ความหมายที่ละเอียดขึ้นไปอีก :
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต อธิบายความหมายของ “อานิสงส์” ไว้ดังนี้ –
อานิสงส์ : ผลดีหรือผลที่น่าปรารถนาน่าพอใจ อันสืบเนื่องหรือพลอยได้ จากกรรมดี, ผลงอกเงยแห่งบุญกุศล, คุณ, ข้อดี, ผลที่เป็นกำไร, ผลได้พิเศษ; “อานิสงส์” มีความหมายต่างจาก “ผล” ที่เรียกชื่ออย่างอื่น โดยขอบเขตที่กว้างหรือแคบกว่ากัน หรือโดยตรงโดยอ้อม เช่น ทำกรรมดีโดยคิดต่อคนอื่นด้วยเมตตาแล้วเกิดผลดี คือ มีจิตใจแช่มชื่นสบาย ผ่อนคลาย เลือดลมเดินดี มีสุขภาพ ตลอดถึงว่าถ้าตายด้วยจิตอย่างนั้น ก็ไปเกิดดี นี้เป็นวิบาก พร้อมกันนั้นก็มีผลพ่วงอื่นๆ เช่น หน้าตาผ่องใส เป็นที่รักใคร่ชอบใจของคนอื่น อย่างนี้เป็นอานิสงส์ แต่ถ้าทำกรรมไม่ดีโดยคิดต่อคนอื่นด้วยโทสะแล้วเกิดผลร้ายต่อตนเองที่ตรงข้ามกับข้างต้น จนถึงไปเกิดในทุคติ ก็เป็นวิบาก และในฝ่ายร้ายนี้ไม่มีอานิสงส์ (วิบาก เป็นผลโดยตรง และเป็นได้ทั้งข้างดีและข้างร้าย ส่วนอานิสงส์ หมายถึงผลพ่วงพลอยหรืองอกเงยในด้านดีอย่างเดียว ถ้าเป็นผลพลอยด้านร้าย ก็อยู่ในคำว่านิสสันท์), อนึ่ง วิบาก ใช้เฉพาะกับผลของกรรมเท่านั้น แต่อานิสงส์ หมายถึงคุณ ข้อดี หรือผลได้พิเศษในเรื่องราวทั่วไปด้วย เช่น อานิสงส์ของการบริโภคอาหาร อานิสงส์ของธรรมข้อนั้นๆ จีวรที่เป็นอานิสงส์ของกฐิน, โดยทั่วไป อานิสงส์มีความหมายตรงข้ามกับ อาทีนพ ซึ่งแปลว่า โทษ ข้อเสีย ข้อด้อย จุดอ่อน หรือผลร้าย เช่นในคำว่า กามาทีนพ (โทษของกาม) และเนกขัมมานิสงส์ (คุณหรือผลดีในเนกขัมมะ).
…………..
ช่วยกันสะกดให้ถูก :
เสียงท้ายคำว่า “สง” มักทำให้นึกถึง “-สงฆ์” หรือ “-สงค์” ที่คุ้นตา
อย่าเขียนเป็น “อานิสงฆ์” หรือ “อานิสงค์”
คำเดิม “อานิสํส” –สํ เราแปลงเป็น “สง” และยังคง “ส” ท้ายคำไว้ จึงต้องสะกดว่า “อานิสงส์”
โปรดสังเกต “อานิสงส์” ไม่ใช่ “อนิสงส์” หรือ “อนิสงค์” หรือ “อนิสงฆ์”
อา– ไม่ใช่ อ–
และ -สงส์ ต้อง ส เสือ การันต์ ไม่ใช่ –สงฆ์ หรือ –สงค์
“อนิสงส์” ผิด
“อนิสงค์” ผิด
“อานิสงค์” ผิด
“อนิสงฆ์” ผิด
“อานิสงฆ์” ผิด
—————-
“อานิสงส์” ถูก
—————-
…………..
ดูก่อนภราดา!
จงเร่งทำกรรม แต่อย่าเร่งผลกรรม เพราะ –
: ทำความดีเป็นหน้าที่ของคน
: การให้ผลเป็นหน้าที่ของกรรม
11-6-60