บาลีวันละคำ

เกจิอาจารย์ (บาลีวันละคำ 1,828)

เกจิอาจารย์

บางทีก็มีอาการใหญ่กว่าพระพุทธเจ้า

แยกศัพท์เป็น เกจิ + อาจารย์

(๑) “เกจิ” (เก-จิ)

ศัพท์เดิมเป็น “กึ” (กิง) ( = ใคร, อะไร) + “จิ” (ศัพท์นิบาต)

กึ + จิ ความหมายเปลี่ยนไปเป็น “ใครก็ตาม, บางคน” (whoever, some)

กฎเกณฑ์ทางไวยากรณ์คือ แปลง กึ เป็น (กะ) แล้วแจกด้วยปฐมาวิภัตติ (วิภัตตินามที่หนึ่ง) พหูพจน์ เป็น “เก

: กึ > > เก + จิ = เกจิ แปลว่า “บางพวก

(๒) “อาจารย์

เป็นรูปคำสันสกฤต บาลีเป็น “อาจริย” (อา-จะ-ริ-ยะ) รากศัพท์มาจาก –

(1) อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง) + จรฺ (ธาตุ = ประพฤติ) + อิย ปัจจัย

: อา + จรฺ = อาจรฺ + อิย = อาจริย แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ประพฤติเอื้อเฟื้อเกื้อกูลแก่ศิษย์

(2) อา (จากศัพท์ “อาทิ” = เบื้องต้น) + จรฺ (ธาตุ = ศึกษา) + อิย ปัจจัย

: อา + จรฺ = อาจรฺ + อิย = อาจริย แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ยังศิษย์ให้ศึกษามาแต่ต้น

(3) อา (จากศัพท์ “อาทร” = เอื้อเฟื้อ, เอาใจใส่) + จรฺ (ธาตุ = ประพฤติ) + อิย ปัจจัย

: อา + จรฺ = อาจรฺ + อิย = อาจริย แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อันศิษย์พึงประพฤติ คือปรนนิบัติด้วยความเอาใจใส่

(4) อา (แข็งแรง, จริงจัง, ยิ่งใหญ่) + จรฺ (ธาตุ = ประพฤติ) + อิย ปัจจัย

: อา + จรฺ = อาจรฺ + อิย = อาจริย แปลตามศัพท์ว่า “ผู้บำเพ็ญประโยชน์สุขแก่ศิษย์อย่างดียิ่ง

(5) อา (แทนศัพท์ “อภิมุขํ” = ข้างหน้า, ตรงหน้า) + จรฺ (ธาตุ = ประพฤติ) + อิย ปัจจัย

: อา + จรฺ = อาจรฺ + อิย = อาจริย แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อันศิษย์พึงประพฤติทำไว้ข้างหน้า” (คือศิษย์พึงดำเนินตาม)

(6) อา (แทนศัพท์ “อาปาณโกฏิกํ” = ตลอดชีวิต) + จรฺ (ธาตุ = ประพฤติ) + อิย ปัจจัย

: อา + จรฺ = อาจรฺ + อิย = อาจริย แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อันศิษย์พึงประพฤติ คือพึงปรนนิบัติตลอดชีวิต

อาจริย” แปลทับศัพท์เป็นรูปสันสกฤตว่า “อาจารย์” (a teacher)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อาจารย์ : (คำนาม) ผู้สั่งสอนวิชาความรู้; คําที่ใช้เรียกนําหน้าชื่อบุคคลเพื่อแสดงความยกย่องว่ามีความรู้ในทางใดทางหนึ่ง. (ส.; ป. อาจริย).”

เกจิ + อาจารย์ = เกจิอาจารย์ และมักเรียกสั้นๆ ว่า “เกจิ

…………..

ขยายความหลักภาษา :

เกจิ” แปลว่า “บางพวก” เป็นสรรพนาม คือต้องมีคำนามมาทำหน้าที่ชี้เฉพาะว่า “พวก” ในที่นี้คือใครหรือคืออะไร (ภาษาไวยากรณ์ว่า เกจิ “ขยาย” อะไร)

ในประโยคบาลี ถ้ามีคำว่า “เกจิ” คำเดียว เวลาแปลต้องใส่คำที่เป็นประธานเข้ามา (ภาษาไวยากรณ์ว่า “โยค”) เช่น –

เกจิ (ชนา)

คำว่า “ชนา” ในวงเล็บคือคำที่ “โยค” เข้ามา เพราะในประโยคไม่ได้เขียนไว้

แปล : (ชนา อันว่าชนทั้งหลาย) เกจิ บางพวก = คนบางพวก

ในคำว่า “เกจิอาจารย์” นี้ คำนามที่ทำหน้าที่ชี้เฉพาะคือ “อาจารย์” เขียนเป็นคำบาลีว่า “เกจิ อาจริยา” (แยกเป็นสองคำ)

แปล : อาจริยา อันว่าอาจารย์ทั้งหลาย เกจิ บางพวก = อาจารย์บางพวก

ความเป็นมา :

คำว่า “เกจิ อาจริยา” มีกำเนิดมาจากสำนักต่างๆ ที่อธิบายคำสอนของพระพุทธเจ้าแตกต่างกันออกไป เมื่ออ้างถึงความคิดเห็นของสำนักเหล่านั้น ก็จะพูดว่า “เกจิ อาจริยา” แล้วตามมาด้วยความเห็นหรือคำสอนของสำนักนั้นๆ หมายถึง อาจารย์บางพวกมีความเห็นว่าอย่างนี้ อาจารย์บางพวกมีคำสอนว่าอย่างนั้น

จากตีความคำสอนต่างกัน ความหมายก็ขยายออกไปถึงแนวปฏิบัติด้วย คือ อาจารย์บางพวกปฏิบัติแบบนี้ บางพวกปฏิบัติแบบโน้น

ใครเลื่อมใสอาจารย์รูปไหนหรือสำนักไหน ก็อ้างว่าอาจารย์ของตนเป็น “เกจิ” เพราะปฏิบัติเคร่ง หรือมีความขลังอย่างนั้นอย่างนี้

เกจิ” ซึ่งแปลธรรมดาๆ ว่า “บางพวก” จึงมีความหมายว่า อาจารย์ผู้ขลังในทางปฏิบัติ หรือผู้มีความสามารถโดดเด่นทางใดทางหนึ่ง ด้วยประการฉะนี้

ดูในพจนานุกรมจะยิ่งเห็นชัดว่าความหมายในภาษาไทยเคลื่อนที่ไปไกลมาก

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

เกจิอาจารย์ : (คำนาม) ‘อาจารย์บางพวก’, อาจารย์ที่เชื่อกันว่ามีความรู้ความสามารถในด้านคาถาอาคมและการปลุกเสกเครื่องรางของขลัง. (ป.).”

…………..

ดูก่อนภราดา!

: นับถือเกจิอาจารย์ลือชื่อ

: อย่าลืมนับถือพระพุทธเจ้า

10-6-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย