บาลีวันละคำ

สมบูรณ์ – สัมบูรณ์ (บาลีวันละคำ 2,012)

สมบูรณ์ – สัมบูรณ์

ความเหมือนและความต่าง

อ่านว่า สม-บูน / สำ-บูน

ทั้ง 2 คำนี้ บาลีเป็น “สมฺปูรณ” (สำ-ปู-ระ-นะ) เหมือนกัน รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) แปลงนิคหิตเป็น มฺ (สํ > สมฺ) + ปูรฺ (หรือ ปุรฺ ธาตุ ทีฆะ อุ เป็น อู = เต็ม, ทำให้เต็ม) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน, แปลง อน เป็น อณ (หรือพูดว่าแปลง เป็น )

: สํ > สมฺ + ปูรฺ = สมฺปูร + ยุ > อน = สมฺปูรน > สมฺปูรณ แปลตามศัพท์ว่า “ความเต็มพร้อม” “การทำให้เต็มพร้อม” คือ เต็มหมดทุกอย่าง, มีพร้อมหมดทุกอย่าง

ตามรูปศัพท์โดยปกติ “สมฺปูรณ” เป็นกิริยานาม คือคำนามที่แสดงกิริยาอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง แปลว่า “ความ-” หรือ “การ-”

สมฺปูรณ” ใช้ในภาษาไทยว่า “สมบูรณ์” (สม-บูน)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สมบูรณ์ : (คำกริยา) บริบูรณ์ เช่น สมบูรณ์ด้วยโภคสมบัติ สมบูรณ์ด้วยข้าทาสบริวาร, ครบถ้วน เช่น หลักฐานยังไม่สมบูรณ์; อ้วนท้วน, แข็งแรง, เช่น เขาสมบูรณ์ขึ้น เดี๋ยวนี้สุขภาพเขาสมบูรณ์ดีแล้ว. (คำวิเศษณ์) มีคุณสมบัติหรือคุณลักษณะครบถ้วน เช่น มีคุณสมบัติสมบูรณ์ตามที่กำหนด; อ้วนท้วน, แข็งแรง, เช่น มีร่างกายสมบูรณ์ สุขภาพสมบูรณ์. (ส.).”

โปรดสังเกตว่า ในภาษาไทย “สมบูรณ์” ใช้เป็นคำกริยาและคำวิเศษณ์

ในภาษาบาลี คำกริยาที่ใช้เป็นคำวิเศษณ์ได้ด้วยนิยมลง ปัจจัย

สมฺปูรณ” ถ้าลง ปัจจัย รากศัพท์จะเป็น สํ > สมฺ + ปุรฺ = สมฺปุร + ปัจจัย, แปลง กับ รฺ ที่สุดธาตุเป็น ณฺณ (หรือแปลง กับ รฺ ที่สุดธาตุเป็น นฺน แล้วแปลง นฺน เป็น ณฺณ)

: สํ > สมฺ + ปุรฺ = สมฺปุรฺ + = สมฺปุรฺต > สมฺปุณฺณ แปลว่า บรรจุเต็ม, บริบูรณ์, สมบูรณ์ (filled, full)

ในกรณีเช่นนี้ “สมฺปุณฺณ” ใช้ในฐานะเป็นกริยา และเป็นคำวิเศษณ์ได้ด้วย ซึ่งต่างจาก “สมฺปูรณ” ที่ใช้เป็นคำนาม

แต่ในบางแห่ง “สมฺปูรณ” อาจให้เป็นคำวิเศษณ์ได้บ้าง ทำนองเดียงกับ “สมฺปูรณ” ในสันสกฤต

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

สมฺปูรฺณ (คำวิเศษณ์) ‘สัมปูรณะ, แผลงเป็น – สมบูรณ์,’ สกล, สรรพ; สัมปันนะ, สิทธ์หรือเสร็จ; whole, entire; complete, finished or completed; – (คำนาม) คีตวิธา อากาศ, นภัสพัสดุ; a mode of music; ether, ethereal matter, atmosphere.”

ส่วน “สัมบูรณ์” (สัม– มีไม้หันอากาศ) เป็นคำที่มีรากศัพท์เดียวกับ “สมบูรณ์” (สม– ไม่มีไม้หันอากาศ) นั่นเอง ในภาษาไทยสะกดต่างกันด้วยเหตุผลทางวิชาการ กล่าวคือ “สมบูรณ์” เป็นคำปกติธรรมดา ส่วน “สัมบูรณ์” เป็นศัพท์บัญญัติ ใช้เฉพาะในวิชาการบางสาขา

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สัมบูรณ์ : (คำวิเศษณ์) สมบูรณ์ยิ่ง เช่น ความชื้นสัมบูรณ์. (อ. absolute).”

พนานุกรมฯ บอกว่า “สัมบูรณ์” บัญญัติจากคำอังกฤษว่า absolute

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล absolute เป็นบาลีดังนี้ –

(1) paripuṇṇa ปริปุณฺณ (ปะ-ริ-ปุน-นะ) = ครบถ้วน

(2) kevala เกวล (เก-วะ-ละ) = พร้อมมูล, รวบยอด

(3) ekaṃsika เอกํสิก (เอ-กัง-สิ-กะ) = เป็นหนึ่งเดียว, แน่นอน

(4) asīmita อสีมิต (อะ-สี-มิ-ตะ) = ไม่มีขอบเขตขีดคั่น

(5) abādhita อพาธิต (อะ-พา-ทิ-ตะ) = ไม่มีอะไรมาขัดขวาง

(6) nicca นิจฺจ (นิด-จะ) = แน่นอน

(7) dhuva ธุว (ทุ-วะ) = ยั่งยืน, มั่นคง

(9) asaṅkhata อสงฺขต (อะ-สัง-ขะ-ตะ) = ไม่มีอะไรมาแทรกปน, ไม่มีตัวแปร

(10) paramattha ปรมตฺถ (ปะ-ระ-มัด-ถะ) = จริงแท้แน่นอน, สูงสุด

โปรดสังเกตว่า absolute ไม่มีคำแปลเป็นบาลีว่า “สมฺปูรณ” ทั้งนี้เพราะ absolute ในที่นี้ใช้เป็นคุณศัพท์ (คำบาลีที่พจนานุกรมอังกฤษ-บาลีแปลไว้เป็นคุณศัพท์ทุกคำ) มีที่ใกล้กับ “สมฺปุณฺณ” (ดูข้างต้น) คือ “ปริปุณฺณ” เพราะมีรากศัพท์เดียวกัน ต่างกันเฉพาะคำอุปสรรค คือ สํ + ปุณฺณ และ ปริ + ปุณฺณ แต่มีความหมายในทางเดียวกัน

สรุปว่า –

สมบูรณ์” เป็นภาษาธรรมดา ชาวประชาพูดกัน

สัมบูรณ์” เป็นภาษาวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญพูดกัน

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ชีวิตที่สมบูรณ์ไม่ใช่ชีวิตที่มีครบทุกอย่าง

: แต่คือชีวิตที่รู้จักปล่อยวางจนว่างจากสิ่งทั้งปวง

————-

(วิสัชนาตามปุจฉาของ Pramaul Daradas)

#บาลีวันละคำ (2,012)

15-12-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย