บาลีวันละคำ

ปรามาส (บาลีวันละคำ 1,834)

ปรามาส

ความหมาย-ขึ้นอยู่กับการอ่าน

ปรามาส” เป็นรูปคำบาลี อ่านว่า ปะ-รา-มา-สะ รากศัพท์มาจาก ปร (อื่น, สิ่งอื่น, อย่างอื่น) + อา (คำอุปสรรค = ทั่ว, ยิ่ง) + มสฺ (ธาตุ = จับต้อง) + ปัจจัย, ลบ , “ทีฆะต้นธาตุ” คือ อะ ที่ ม-(สฺ) เป็น อา (มสฺ > มาส)

: ปร + อา + มสฺ = ปรามสฺ + = ปรามสณ > ปรามส > ปรามาส แปลตามศัพท์ว่า “การละเลยภาวะที่เป็นจริงเสียแล้วยึดถือโดยประการอื่น

ปรามาส” (ปุงลิงค์) ในบาลีหมายถึง การจับต้อง, การติดต่อ, ความรักชอบ, การเกาะติด, การอยู่ในอิทธิพลของ-, การติดต่อโดยทางสัมผัส (touching, contact, being attached to, hanging on, being under the influence of, contagion)

ในบาลีมีคำว่า “ปรามสน” (ปะ-รา-มะ-สะ-นะ) อีกคำหนึ่งที่มาจากรากศัพท์เดียวกัน คือ ปร + อา + มสฺ + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: ปร + อา + มสฺ = ปรามสฺ + ยุ > อน = ปรามสน แปลเหมือน “ปรามาส

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปรามสน” ว่า touching, seizing, taking up (การจับต้อง, การจับ, การยึด, การยกขึ้น)

ในภาษาไทยพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “ปรามาส” ไว้ 2 คำ บอกไว้ดังนี้ –

(1) ปรามาส ๑ [ปฺรา-มาด] : (คำกริยา) ดูถูก.

(2) ปรามาส ๒ [ปะ-รา-มาด] : (คำนาม) การจับต้อง, การลูบคลํา. (ป.).

ในที่นี้ได้แสดงคำอ่านตามพจนานุกรมฯ ไว้ให้ด้วย โปรดสังเกตว่า แม้จะเขียนเหมือนกัน แต่อ่านไม่เหมือนกัน และความหมายก็ไม่เหมือนกัน

สรุปก็คือ –

๑. ถ้าอ่านว่า ปฺรา-มาด (ปฺรา– แบบเดียวกับ ปราการ ปรากฏ) เป็นคำกริยา หมายถึง ดูถูก

๒. ถ้าอ่านว่า ปะ-รา-มาด เป็นคำนาม หมายถึง การจับต้อง

ปรามาส” ที่อ่านว่า ปะ-รา-มาด พจนานุกรมฯ บอกว่าเป็นคำบาลี ความหมายที่ใช้ภาษาไทยก็ตรงกับความหมายในบาลี

แต่ “ปรามาส” ที่อ่านว่า ปฺรา-มาด ซึ่งหมายถึง ดูถูก พจนานุกรมฯ ไม่ได้บอกว่ามาจากภาษาอะไร

อย่างไรก็ตาม “ปรามาส” (ปะ-รา-มาด) ในบาลีเทียบตามรูปสันสกฤตเป็น “ปรามรฺศ” (สะกดด้วยอักษรโรมันว่า parāmarśa)

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “ปรามรฺศ” บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ปรามรฺศ : (คำนาม) ‘ปรามรรศ,’ วิจารณ์, พิจารณา; (คำใช้ในตรรกวิทยา) ลงเอยจากสัมพันธ์หรืออนุภพ; discrimination, judgment or distinguishing; (In Logic) drawing conclusion from analogy or experience.”

เป็นไปได้ว่า “ปรามาส” (ปฺรา-มาด) ที่หมายถึง ดูถูก นั้น เราจะเอาความหมายโดยนัยมาจาก “ปรามรฺศ” ในสันสกฤตนั่นเอง คำว่า วิจารณ์, พิจารณา (discrimination, judgment, distinguishing) ตีความให้กลายเป็น “ดูถูก” ได้ เช่น ตัดสินว่าใครคนนั้นคนนี้เป็นคนไม่ดี เป็นคนโง่ นี่ก็เท่ากับดูถูกนั่นเอง

…………..

อภิปราย :

ปรามาส” ในทางธรรม หมายถึงการยึดมั่นถือมั่นในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ทั้งยึดว่าดี ยึดว่าไม่ดี

แต่โดยนัยแห่งภาษา หมายถึงสิ่งใดๆ ก็ตามที่คนทั่วไปสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ ทักท้วงหรือเสนอแนะได้

ลักษณะของเพื่อนแท้ข้อหนึ่งคือ “ป้องกันเพื่อนผู้ประมาทแล้ว” หมายความว่า เมื่อเห็นเพื่อนทำอะไรที่ไม่ดี หรือมีทีท่าว่าจะพลาดพลั้งในเรื่องใดๆ ก็ช่วยเป็นสติให้เพื่อน ด้วยการทักท้วงเตือนติง ตลอดจนเข้าปฏิบัติการเพื่อไม่ให้เพื่อนเป็นอันตราย

ในลักษณะนี้เพื่อนที่ดีก็ต้องยอมให้เพื่อน “ปรามาส” ได้ทุกประการ

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เพื่อนแท้ ย่อมไม่ปล่อยให้ท่านลืมรูดซิปกางเกง

: แล้วเดินเป็นนักเลงไปทั่วบ้านทั่วเมือง

17-6-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย