ประเทศราช (บาลีวันละคำ 4,192)
ประเทศราช
ความหมายของไทยไม่เหมือนบาลี
อ่านว่า ปฺระ-เทด-สะ-ราด
ประกอบด้วยคำว่า ประเทศ + ราช
(๑) “ประเทศ”
บาลีเป็น “ปเทส” อ่านว่า ปะ-เท-สะ รากศัพท์มาจาก ป (คำอุปสรรค = ทั่ว, ข้างหน้า, ก่อน, ออก) + ทิส (ธาตุ = แสดง, ชี้แจง) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แผลง อิ ที่ ทิ-(สฺ) เป็น เอ (ทิสฺ > เทส)
: ป + ทิสฺ = ปทิสฺ + ณ = ปทิสณ > ปทิส > ปเทส แปลตามศัพท์ว่า “ส่วนเป็นเหตุปรากฏแห่งหมู่” หมายถึง เครื่องแสดง, ที่ตั้ง, ขอบเขต, แถบ; แดน, จุด, สถานที่ (indication, location, range, district; region, spot, place)
บาลี “ปเทส” สันสกฤตเป็น “ปฺรเทศ” ภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “ประเทศ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ประเทศ : (คำนาม) บ้านเมือง, แว่นแคว้น, ถิ่นที่อยู่; คำเพิ่มข้างหลังของคำเดิม เมื่อเพิ่มแล้วความหมายคงเดิม เช่น อุรประเทศ หทัยประเทศ. (ส. ปฺรเทศ; ป. ปเทส).”
(๒) “ราช”
บาลีอ่านว่า รา-ชะ แปลตามรากศัพท์ว่า –
(1) “ผู้รุ่งเรืองโดยยิ่งเพราะมีเดชานุภาพมาก”
ความหมายนี้ประกอบขึ้นจาก ราชฺ (ธาตุ = รุ่งเรือง) + อ (อะ) ปัจจัย) = ราช
หมายความว่า ผู้เป็นพระราชาย่อมมีเดชานุภาพมากกว่าคนทั้งหลาย
(2) “ผู้ยังคนทั้งหลายให้ยินดี”
ความหมายนี้ประกอบขึ้นจาก รญฺชฺ (ธาตุ = ยินดี พอใจ) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ ลบ ญฺ แผลง ร เป็น รา = ราช
หมายความว่า เป็นผู้อำนวยความสุขให้ทวยราษฎร์ จนคนทั้งหลายร้องออกมาว่า “ราชา ราชา” (พอใจ พอใจ)
“ราช” หมายถึง พระราชา, พระเจ้าแผ่นดิน ใช้นำหน้าคำให้มีความหมายว่า เป็นของพระเจ้าแผ่นดิน, เกี่ยวกับพระเจ้าแผ่นดิน หรือเป็นของหลวง
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ราช ๑, ราช– : (คำนาม) พระเจ้าแผ่นดิน, พญา (ใช้แก่สัตว์) เช่น นาคราช คือ พญานาค สีหราช คือ พญาราชสีห์, คํานี้มักใช้ประกอบกับคําอื่น, ถ้าคําเดียวมักใช้ว่า ราชา.”
ปเทส + ราชา = ปเทสราชา (ปะ-เท-สะ-รา-ชา) แปลว่า “พระราชาในประเทศ” หมายถึง พระราชาที่ครองดินแดนบางส่วนในแผ่นดินใหญ่ ไม่ได้ครองดินแดนทั้งหมด เช่นรัฐหรือแคว้นต่าง ๆ ในชมพูทวีปสมัยพุทธกาล แต่ละรัฐมีพระราชาปกครองเป็นอิสระ นั่นคือ “ปเทสราชา”
“ปเทสราชา” ใช้ในภาษาไทยเป็น “ประเทศราช” (ปฺระ-เทด-สะ-ราด)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ประเทศราช : (คำนาม) เมืองที่มีเจ้าผู้ครองเมืองของตนเอง แต่อยู่ภายใต้อำนาจควบคุมดูแลและคุ้มครองของพระมหากษัตริย์ของอีกประเทศหนึ่ง ซึ่งเจ้าเมืองประเทศราชนั้นมีหน้าที่ส่งเครื่องราชบรรณาการถวายเป็นประจำ และในเวลาเกิดศึกสงครามต้องเกณฑ์กำลังทหารเข้าร่วมกองทัพหลวงด้วย.”
ขยายความ :
“ประเทศราช” (ปเทสราชา) ในภาษาบาลีมีความหมายอย่างไร ขอยกคำอธิบายของคัมภีร์อรรถกถามาแสดงไว้ในที่นี้ ดังนี้ –
…………..
ปถพฺยาราชาติ สกลปฐวิยา ราชา ทีปจกฺกวตฺตี อโสกสทิโส
พระราชาแห่งปฐพีทั้งสิ้น คือเป็นจักรพรรดิในทวีป เช่นพระเจ้าอโศก ชื่อว่า “ปถัพยาราช” (ปฐพีราช) = พระราชาทั้งแผ่นดิน
โย วา ปนญฺโญปิ เอกทีเป ราชา สีหลราชสทีโส ฯ
หรือพระราชาอื่น ๆ ซึ่งเป็นพระราชาในทวีปหนึ่ง เช่นพระราชาสิงหลก็ชื่อว่า พระราชาทั้งแผ่นดิน
ปเทสราชาติ เอกทีปสฺส ปเทสิสฺสโร พิมฺพิสารปเสนทิอาทโย วิย ฯ
พระราชาผู้เป็นใหญ่เฉพาะดินแดนบางส่วนในทวีปหนึ่ง เช่นพระเจ้าพิมพิสารและพระเจ้าปเสนทิเป็นต้น ชื่อว่า “ประเทศราช” = พระราชาเฉพาะดินแดนบางส่วน
ที่มา: สมันตปาสาทิกา (อรรถกถาวินัยปิฎก) ภาค 1 หน้า 372
…………..
อธิบายเพิ่มเติมว่า ถ้าจะให้เห็นภาพชัดขอให้ดูชมพูทวีปเป็นตัวอย่าง ชมพูทวีป (คืออินเดียในปัจจุบัน) ทั้งหมดคือ “เอกทีป” (เอกทวีป) คือรวมแผ่นดินทั้งหมดเป็นทวีปหนึ่ง พระเจ้าอโศกมีอำนาจครองชมพูทวีปทั้งหมด
อย่างนี้คือ พระเจ้าอโศกเป็น “ปถัพยาราช” (ปฐพีราช) = พระราชาทั้งแผ่นดิน
พระเจ้าแผ่นดินแห่งเกาะลังกาก็นับว่าเป็น “ปถัพยาราช” (ปฐพีราช) = พระราชาทั้งแผ่นดิน ด้วยเช่นกัน เพราะครองดินแดนหมดทั้งเกาะ
ส่วนพระเจ้าพิมพิสารและพระเจ้าปเสนทิไม่ได้ครองชมพูทวีปทั้งหมด พระเจ้าพิมพิสารครองเฉพาะแคว้นมคธรัฐเดียว พระเจ้าปเสนทิครองเฉพาะแคว้นโกศลรัฐเดียว
อย่างนี้คือ พระราชาในแต่ละแคว้นเป็น “ประเทศราช” = พระราชาเฉพาะดินแดนบางส่วน
สรุปคือ “ประเทศราช” ตามความหมายเดิมในบาลี คือ พระมหากษัตริย์ที่เป็นอิสระ ไม่ได้อยู่ภายใต้อำนาจควบคุมดูแลและคุ้มครองของใคร เพียงแต่ครองดินแดนบางส่วนในแผ่นดินใหญ่ ไม่ได้ครองแผ่นดินใหญ่ทั้งหมด
แต่ “ประเทศราช” ตามความหมายในภาษาไทย คือ เมืองที่มีเจ้าผู้ครองเมืองของตนเอง แต่อยู่ภายใต้อำนาจควบคุมดูแลและคุ้มครองของพระมหากษัตริย์ของอีกประเทศหนึ่ง (ตามพจนานุกรมฯ)
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ครองใจตนได้
: ครองใจคนได้
#บาลีวันละคำ (4,192)
4-12-66
…………………………….