เวไนยสัตว์ (บาลีวันละคำ 1,833)
เวไนยสัตว์
ไม่ใช่สัตว์อย่างที่คิด
อ่านว่า เว-ไน-ยะ-สัด
แยกศัพท์เป็น เวไนย + สัตว์
(๑) “เวไนย”
บาลีเป็น “เวเนยฺย” อ่านว่า เว-เนย-ยะ รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + นี (ธาตุ = แนะนำ) + ณฺย ปัจจัย, รัสสะ อี ที่ นี เป็น อิ แล้วแผลง อิ เป็น เอ (นี > นิ > เน), แปลง ณฺย เป็น ยฺย, แผลง อิ ที่ วิ เป็น เอ (แผลง วิ เป็น เว)
: วิ + นี = วินี > วินิ > วิเน + ณฺย = วิเนณฺย > วิเนยฺย > เวเนยฺย แปลตามศัพท์ว่า “ผู้พึงแนะนำได้โดยพิเศษ”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “เวเนยฺย” ว่า to be instructed, accessible to instruction, tractable, ready to receive the teaching (of the Buddha) (พึงสั่งสอน, พอสั่งสอนได้, ยอมตามหรือว่าง่าย, พร้อมที่จะรับเอาคำสอน [ของพระพุทธเจ้า])
“เวเนยฺย” ในภาษาไทยใช้เป็น “เวไนย”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“เวไนย : (คำนาม) ผู้ควรแนะนําสั่งสอน, ผู้พึงดัดได้สอนได้, ใช้ว่า เวนย ก็มี เช่น จะให้เวนยชาติทั้งปวงได้. (นันโท). (ป. เวเนยฺย).”
(๒) “สัตว์”
บาลีเป็น “สตฺต” อ่านว่า สัด-ตะ รากศัพท์มาจาก สญฺช (ธาตุ = ติด, ข้อง) + ต ปัจจัย, ลบ ญฺช, ซ้อน ต
: สญฺช > ส + ตฺ + ต = สตฺต แปลตามศัพทว่า (1) “ผู้ติดข้องอยู่ในรูปารมณ์เป็นต้น” (2) “ผู้ยังผู้อื่นให้ติดข้อง” (3) “ผู้ประกอบด้วยคุณลักษณะของผู้ติดข้อง”
ความหมายข้อ (3) หมายถึงว่าแม้ผู้ปราศจากกิเลสไม่ติดข้องอะไรอีกแล้ว ก็ยังเรียกว่า “สตฺต” ตามสำนวนนิยม
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สตฺต” ว่า a living being, creature, a sentient & rational being, a person (สัตว์โลก, สัตว์, สิ่งที่มีความรู้สึกและมีเหตุผล, คน)
บาลี “สตฺต” สันสกฤตเป็น “สตฺตฺว”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“สตฺตฺว, สตฺว : (คำนาม) ‘สัตว์,’ คุณหนึ่งในจำนวนสามของมนุษย์; คุณวัตตา, คุณความดี; พัสดุ; สฤษฏิ, ธรรมดา; ภูมณฑล; อากาศ, ไฟ, ฯลฯ; พลศักดิ์; ลมหายใจ; ภาวะหรือสมภพ; สาระ; ทรัพย์; ความเที่ยง; ชีวิต; เวตาล; ปราณิน, สัตว์หรือมนุษย์, สิ่งมีร่างและชีวิต; (คำใช้ในไวยากรณ์) นาม; one of the three Guṇas or properties of man; the quality of excellence, goodness; substance or thing; nature; the earth; air, fire, &c.; vigour or strength; breath; being or existence; essence; wealth; certainty; life; a goblin; an animal, a being; (In grammar) a noun.”
คำนี้โดยทั่วไปเราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “สัตว” หรือ “สัตว์”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สัตว-, สัตว์ : (คำนาม) สิ่งมีชีวิตซึ่งแตกต่างไปจากพรรณไม้ ส่วนมากมีความรู้สึกและเคลื่อนไหวย้ายที่ไปได้เอง, ความหมายที่ใช้กันเป็นสามัญหมายถึง สัตว์ที่ไม่ใช่คน, เดรัจฉาน. (ส. สตฺตฺว; ป. สตฺต).”
เวเนยฺย + สตฺต = เวเนยฺยสตฺต > เวไนยสัตว์ แปลตามศัพท์ว่า “สัตว์ที่จะพึงแนะนำได้โดยพิเศษ”
ในคำว่า “เวไนยสัตว์” นี้พึงเข้าใจว่า “สัตว์” หมายถึงคนโดยตรง ไม่ได้หมายถึงสัตว์เดรัจฉาน
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ไม่ได้เก็บคำว่า “เวไนยสัตว์” ไว้
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –
“เวไนยสัตว์ : สัตว์ผู้ควรแก่การแนะนำสั่งสอน, สัตว์ที่พึงแนะนำได้, สัตว์ที่พอดัดได้สอนได้.”
…………..
ไขความ :
คนปกติ แนะนำกันครั้งเดียวหรือสองครั้งก็ย่อมเข้าใจได้ แต่บางคนแนะนำครั้งเดียว สองครั้ง หรือแม้หลายครั้ง ก็ยังไม่เข้าใจทันที แต่ถ้าผู้แนะนำมีความอดทนและมีเมตตาเป็นที่ตั้ง ใช้วิธีพิเศษ คือแนะนำพร่ำสอนกันเรื่อยไป ก็จะค่อยๆ เข้าใจไปทีละน้อย จนในที่สุดก็สามารถเข้าใจแจ่มแจ้งได้ทั้งหมด
บุคคลเช่นนี้แหละเรียกว่า “เวไนยสัตว์”
คำว่า “เวไนยสัตว์” หรือ “เวเนยฺย” มีความหมายเหมือนคำว่า “เนยยะ” ในบุคคลที่ท่านเปรียบเหมือนบัว 4 เหล่า คือ –
1. อุคฆฏิตัญญู (อุก-คะ-ติ-ตัน-ยู) ผู้รู้เข้าใจได้ฉับพลันเพียงแต่ยกหัวข้อขึ้นแสดง เหมือนดอกบัวที่โผล่พ้นน้ำ พอสัมผัสแสงอาทิตย์ก็บานทันที
2. วิปจิตัญญู (วิ-ปะ-จิ-ตัน-ยู) ผู้รู้เข้าใจต่อเมื่อได้ฟังคำขยายความ เหมือนดอกบัวที่ปริ่มน้ำ จักบานในวันพรุ่งนี้
3. เนยยะ (เนย-ยะ) ผู้ที่พอจะแนะนำต่อไปได้ เหมือนดอกบัวที่ยังไม่โผล่พ้นน้ำ แต่จักโผล่ขึ้นและบานในวันต่อๆ ไป
4. ปทปรมะ (ปะ-ทะ-ปะ-ระ-มะ) ผู้ได้แค่ตัวบทคือถ้อยคำเป็นอย่างยิ่ง ไม่อาจเข้าใจความหมาย เหมือนดอกบัวจมอยู่ใต้น้ำที่จะกลายเป็นภักษาแห่งปลาและเต่า
บุคคลที่ตรงกันข้ามกับ “เวไนย” = พอแนะนำได้ ก็คือ บุคคลที่แนะนำไม่ได้ ซึ่งน่าจะมี 2 ลักษณะ คือ –
๑. “อันธะ” = ผู้มืดบอด เช่นคนบ้า คนวิกลจริต หรือคนปัญญาอ่อน นับว่าเป็นคนบกพร่องทางสมอง เป็นพวกที่น่าสงสาร
๒. “อันทัช” (untouchable) = ผู้แตะต้องไม่ได้ คือคนที่ไม่ยอมให้ใครแนะนำ แม้จะทำผิด ทำบกพร่อง ก็ไม่พอใจที่จะให้ใครมาวิพากษ์วิจารณ์หรือตำหนิชี้แนะ นับว่าเป็นคนบกพร่องทางความคิด เป็นพวกที่น่าสงสารที่สุด
…………..
ดูก่อนภราดา!
: “อันธะ” เป็นกรรมของสัตว์
: แต่ “อันทัช” เป็นกรรมของคน
16-6-60