ทนฺตา (บาลีวันละคำ 2,014)
ทนฺตา = ฟัน
ลำดับ 4 ในอาการสามสิบสอง
อ่านว่า ทัน-ตา
“ทนฺตา” รูปคำเดิมเป็น “ทนฺต” (ทัน-ตะ) รากศัพท์มาจาก –
(1) ทา (ธาตุ = ตัด) + อนฺต ปัจจัย, “ลบสระหน้า” คือลบ อา ที่ ทา (ทา > ท)
: ทา + อนฺต = ทานฺต > ทนฺต แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะเป็นเครื่องตัดอาหาร”
(2) ทสฺ (ธาตุ = กิน) + อนฺต ปัจจัย, ลบ สฺ ที่สุดธาตุ (ทสฺ > ท)
: ทสฺ + อนฺต = ทสนฺต > ทนฺต แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะเป็นเครื่องกินอาหาร”
(3) ทมฺ (ธาตุ = ข่ม) + ต ปัจจัย, แปลง มฺ ที่สุดธาตุเป็น นฺ (ทมฺ > ทนฺ)
: ทมฺ + ต = ทมนฺต > ทนฺต แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะที่ข่ม” (คือขบกัด)
“ทนฺต” (ปุงลิงค์) หมายถึง ฟัน, งา, เขี้ยว, โดยเฉพาะอย่างยิ่งงาช้าง; งา (a tooth, a tusk, fang, esp. an elephant’s tusk; ivory)
“ทนฺต” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) พหูพจน์ เปลี่ยนรูปเป็น “ทนฺตา” แปลว่า ฟันทั้งหลาย
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –
“ทันต-, ทันต์ ๑ : (คำแบบ) (คำนาม) ฟัน, งาช้าง เช่น เอกทันต์. (ป., ส.).”
…………..
ขยายความ :
ฟันคนมีรูปลักษณะอย่างไรบ้าง ขอยกคำบาลีที่ท่านบรรยายไว้มาแสดงเป็นหลักฐานสำหรับท่านที่สนใจ-โดยเฉพาะบรรดาทันตแพทย์ทั้งหลาย-ดังนี้ –
ปริปุณฺณทนฺตสฺส ทฺวตฺตึส ทนฺตฏฺฐิกานิ. (ฟันที่ขึ้นครบแล้วมี 32 ซี่)
มชฺเฌ จตฺตาโร ทนฺตา มตฺติกาปิณฺเฑ ปฏิปาฏิยา ฐปิตอลาพุพีชสณฺฐานา.
(ฟันล่าง 4 ซี่ตรงกลางมีลักษณะคล้ายเมล็ดน้ำเต้าที่เขาปักเรียงกันไว้ที่ก้อนดินเหนียว : = 4 ซี่)
เตสํ อุโภสุ ปสฺเสสุ เอเกโก เอกมูลโก เอกโกฏิโก มลฺลิกมกุลสณฺฐาโน. (ถัดจาก 4 ซี่นั้นออกไปข้างละซี่ เป็นฟันมีรากเดียว ปลายก็แง่เดียว ลักษณะคล้ายดอกมะลิตูม : 4 + 2 = 6)
ตโต เอเกโก ทฺวิมูลโก ทฺวิโกฏิโก ยานกอุปตฺถมฺภนิสณฺฐาโน. (ถัดออกไปข้างละซี่ เป็นฟันมี 2 ราก ปลายก็มี 2 แง่ ลักษณะคล้ายไม้ค้ำเกวียน (ตรงที่เทียมวัว ปลดวัวออก เอาไม้สองขาค้ำไว้แทน) : 6 + 2 = 8)
ตโต เทฺว เทฺว ติมูลา ติโกฏิกา. (ถัดออกไปข้างละ 2 ซี่ เป็นฟันมี 3 ราก ปลายก็มี 3 แง่ : 8 + 4 = 12)
ตโต เทฺว เทฺว จตุมูลา จตุโกฏิกา. (ถัดออกไปข้างละ 2 ซี่ เป็นฟันมี 4 ราก ปลายก็ 4 แง่ : 12 + 4 = 16)
อุปริมปาฬิยาปิ เอเสว นโย. (ฟันบนก็เป็นแบบเดียวกับฟันล่าง : 16 + 16 = 32)
(บาลีจากคัมภีร์วิสุทธิมรรค ภาค 2 อนุสสติกัมมัฏฐานนิทเทส หน้า 30-31)
“ทนฺตา” เป็น 1 ในกรรมฐานที่เรียกว่า “ตจปัญจกกรรมฐาน” (กรรมฐานมีหนังเป็นที่คำรบห้า) อันพระอุปัชฌาย์จะพึงบอกแก่กุลบุตรผู้เข้ามาอุปสมบทในพระธรรมวินัยเป็นเบื้องต้น ประกอบด้วย “เกสา โลมา นขา ทนฺตา ตโจ” (ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง)
การใช้ “ทนฺตา” เป็นอุปกรณ์ปลงกรรมฐาน ท่านให้พิจารณาโดยนัยเดียวกับ “เกสา”
ในบทสวด “พระอาการสามสิบสอง” กล่าวถึง “ทนฺตา” ไว้ดังนี้ –
๏ ทันตาคือฟัน………สามสิบสองอัน……ข้างล่างข้างบน
งอกเมื่อภายหลัง……ยังต้องทุรพล……..คลอนหักลุ่ยหล่น
ทนทุกขเวทนา๚ะ๛
…………..
สำนวนไทย มีคำกล่าวถึง “ลิ้นกับฟัน” ในความหมายว่า คนอยู่ร่วมกัน-เช่นสามีกับภรรยา-ย่อมมีโอกาสที่จะกระทบกระทั่งกันได้เป็นธรรมดา-เหมือนลิ้นกับฟัน
นักคิดให้แง่คิดเรื่อง “ลิ้นกับฟัน” ไปอีกนัยหนึ่งว่า –
ฟันแข็ง แต่อยู่ได้ไม่นาน มักไปก่อนตาย
ลิ้นอ่อน อยู่ได้นาน อยู่กันไปจนตาย
…………..
ดูก่อนภราดา!
: อ่อน ไม่ได้แปลว่าหมดแรง
: แข็ง ก็ไม่ได้แปลว่าอยู่ได้นาน-เสมอไป
—————-
(ตามคำอาราธนาของคุณครูอนันต์ นาควิจิตร)
ภาพประกอบ: จาก google
ควรตามไปดูคำว่า “อาการ 32” ที่ลิงก์ข้างล่างนี้ด้วย:
#บาลีวันละคำ (2,014)
17-12-60