วันเกิด (บาลีวันละคำ 1,837)
วันเกิด
บาลีใช้ศัพท์ไหน
ศัพท์บาลีที่แปลว่า “การเกิด” มีหลายคำ ที่มีใช้มากคือ –
(๑) “ชาติ”
บาลีอ่านว่า ชา-ติ รากศัพท์มาจาก ชนฺ (ธาตุ = เกิด) + ติ ปัจจัย, แปลง ชนฺ เป็น ชา
: ชนฺ + ติ = ชนติ > ชาติ แปลตามศัพท์ว่า “การเกิด” ในภาษาบาลีเป็นคำนาม ใช้ในความหมายดังต่อไปนี้ –
1. การเกิด, การเกิดใหม่, กำเนิด (birth, rebirth, possibility of rebirth)
2. ชาติกำเนิด, เชื้อชาติ, ชั้น, วงศ์วาน (descent, race, rank, genealogy)
3. จำพวก, ชนิด (a sort of, kind of)
4. ตามธรรมชาติ (ตรงข้ามกับของที่ตกแต่งขึ้น); แท้จริง, บริสุทธิ์, วิเศษ (ตรงกันขามกับปนเจือ เลว) (by birth or nature, natural [opp. Artificial]; genuine, pure, excellent [opp. adulterated, inferior])
(๒) “อุปฺปตฺติ”
บาลีอ่านว่า อุบ-ปัด-ติ รากศัพท์มาจาก อุ (คำอุปสรรค = ขึ้น) + ปทฺ (ธาตุ = ไป, ถึง) + ติ ปัจจัย, ซ้อน ปฺ, ลบ ทฺ ที่สุดธาตุ (ปทฺ > ป)
: อุ + ปฺ + ปท = อุปฺปทฺ + ติ = อุปฺปทฺติ > อุปฺปตฺติ แปลตามศัพท์ว่า “การเกิดขึ้น” หมายถึง การเกิดขึ้น, การผลิตขึ้น, กำเนิด, ต้นกำเนิด, การเกิดใหม่, โอกาส (coming forth, product, genesis, origin, rebirth, occasion)
(๓) “นิพฺพตฺติ”
บาลีอ่านว่า นิบ-พัด-ติ รากศัพท์มาจาก นิ (คำอุปสรรค = เข้า, ลง) + วตฺ (ธาตุ = เป็นไป) + ติ ปัจจัย, ซ้อน พฺ, แปลง ว เป็น พ
: นิ + พฺ +วต > พตฺ = นิพฺพตฺ + ติ = นิพฺพตฺติ แปลตามศัพท์ว่า “การเกิดขึ้น” หมายถึง การประกอบขึ้น, การผลิตผล; การบังเกิด (constitution, product; rebirth)
(๔) “สมฺภูติ”
บาลีอ่านว่า สำ-พู-ติ รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + ภู (ธาตุ = มี, เป็น) + ติ ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น มฺ (สํ > สมฺ)
: สํ + ภู = สํภู + ติ = สํภูติ > สมฺภูติ แปลตามศัพท์ว่า “การเป็นพร้อมกัน” หมายถึง การเกิดมา, การสมภพ (coming into existence)
(๕) “ปสูติ”
บาลีอ่านว่า ปะ-สู-ติ รากศัพท์มาจาก ป (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ปกติ) + สู (ธาตุ = คลอดลูก) + ติ ปัจจัย
: ป + สู + ติ = ปสูติ แปลตามศัพท์ว่า “การคลอดลูก” หมายถึง การให้กำเนิด, การเกิด (bringing forth, birth)
ศัพท์ที่แสดงมานี้เป็นคำนาม เมื่อจะนำไปประกอบเป็นคำว่า “วันเกิด” ซึ่งหมายถึง “วัน-ที่-ได้เกิดมาแล้ว” ต้องแปลงเป็นคำกริยาอดีตกาล คือลง ต ปัจจัย
ในที่นี้ขอลัดไปแสดงคำที่สำเร็จรูปแล้ว ดังนี้
(๑) “ชาติ” เป็น “ชาต” (ชา-ตะ) แปลเป็นอดีตกาลว่า เกิด, งอก, บังเกิดขึ้น, ผลิตขึ้น (born, grown, arisen, produced)
(๒) “อุปฺปตฺติ” เป็น “อุปฺปนฺน” (อุบ-ปัน-นะ) แปลเป็นอดีตกาลว่า เกิด, เกิดใหม่, เกิดขึ้น, อุบัติ, ผลิต (born, reborn, arisen, produced)
(๓) “นิพฺพตฺติ” เป็น “นิพฺพตฺต” (นิบ-พัด-ตะ) แปลเป็นอดีตกาลว่า บังเกิดขึ้นหรือมีอยู่, เกิดขึ้นแล้ว, เกิดใหม่ (existing, having existed, being reborn)
(๔) “สมฺภูติ” เป็น “สมฺภูต” (สำ-พู-ตะ) แปลเป็นอดีตกาลว่า เกิด, ผลิตขึ้น (arisen from, produced)
(๕) “ปสูติ” เป็น “ปสูต” (ปะ-สู-ตะ) แปลเป็นอดีตกาลว่า ผลิต; เกิด, คลอด (produced; having born, delivered)
อนึ่ง เฉพาะคำว่า “ปสูติ” หรือ “ปสูต” นั้น ในภาษาบาลีหมายถึง ผู้เป็นมารดาคลอดลูก มิใช่หมายถึงการเกิดของลูก (โดยนิยมเป็นเช่นนั้น แต่อาจไม่เสมอไป)
คำว่า “วันเกิด” ภาษาอังกฤษว่า birthday
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล birthday เป็นบาลีว่า jātadivasa ชาตทิวส (ชา-ตะ-ทิ-วะ-สะ)
: ชาต (เกิดแล้ว) + ทิวส (วัน) = ชาตทิวส (ปุงลิงค์) แปลว่า “วันเป็นที่เกิดแล้ว (ของบุคคลนั้น)” (หมายถึงการเกิดนั้นมีมาเรียบร้อยแล้ว ไม่ใช่กำลังเกิด)
สรุปว่า “วันเกิด” ภาษาบาลีนิยมใช้ศัพท์ว่า “ชาตทิวส”
…………..
เนื่องในวันเกิดของผู้เขียนบาลีวันละคำ บาลีวันละคำวันนี้จึงตั้งใจจะให้เป็นประโยชน์โดยตรงแก่ญาติมิตรที่กำลังศึกษาภาษาบาลี โดยเฉพาะวิชาแปลไทยเป็นมคธ แต่ก็หวังว่าจะเป็นประโยชน์โดยอ้อมแก่ญาติมิตรทั่วไปด้วย
โปรดอนุโมทนาโดยทั่วกัน เทอญ
…………..
ดูก่อนภราดา!
: พึงระลึกไว้เถิด
: วันเกิดคือวันยื่นใบสมัครตาย
20-6-60