บาลีวันละคำ

สารสนเทศ (บาลีวันละคำ 1,838)

สารสนเทศ

ช่วยกันอ่านให้ภาษางดงาม

ประกอบด้วยคำว่า สาร + สนเทศ

(๑) “สาร

บาลีอ่านว่า สา-ระ รากศัพท์มาจาก –

(1) สรฺ (ธาตุ = ขยาย, พิสดาร) + ปัจจัย, ลบ , “ทีฆะต้นธาตุ” คือ อะ ที่ -(รฺ) เป็น อา (สรฺ > สาร)

: สรฺ + = สรณ > สร > สาร แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ขยายออก

(2) สา (ธาตุ = มีกำลัง, สามารถ) + ปัจจัย

: สา + = สาร แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่มีกำลัง

สาร” ในภาษาบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) สำคัญ, ประเสริฐยิ่ง, แข็งแรง (essential, most excellent, strong)

(2) ชั้นในที่สุด และส่วนที่แข็งที่สุดของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง, แก่นหรือแกนของไม้ (the innermost, hardest part of anything, the heart or pith of a tree)

(3) แก่นสาร, ส่วนสำคัญ, ส่วนที่ดีที่สุด (substance, essence, choicest part)

(4) คุณค่า (value)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “สาร” ไว้หลายคำ ขอยกมา 2 คำดังนี้ –

(1) สาร ๑, สาร– ๑ : (คำนาม) แก่น, เนื้อแท้, มักใช้เข้าคู่กับคำ แก่น เป็น แก่นสาร; ข้อความ, ถ้อยคำ, เรื่องราว, เช่น กล่าวสาร สื่อสาร, หนังสือ เช่น นิตยสาร วารสาร, จดหมาย เช่น เขียนสาร สารของนายกรัฐมนตรีถึงเยาวชน. (ป., ส.).

(2) สาร ๒ : (คำนาม) สิ่งที่มีองค์ประกอบเป็นอย่างเดียวกัน มีสมบัติเฉพาะของตนเอง และไม่สามารถใช้วิธีกลใด ๆ มาแบ่งแยกให้เป็นส่วนอื่นที่มีองค์ประกอบและสมบัติแตกต่างออกไปได้; (คำโบราณ) เรียกธาตุจําพวกหนึ่งและธาตุที่เข้าแทรกในต้นไม้ว่า สาร.

(๒) “สนเทศ

บาลีเป็น “สนฺเทส” อ่านว่า สัน-เท-สะ รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + ทิสฺ (ธาตุ = ปรากฏ) + ปัจจัย, ลบ , แปลงนิคหิตเป็น , แผลง อิ ที่ ทิ-(สฺ) เป็น เอ (ทิสฺ > เทส)

: สํ > สนฺ + ทิสฺ = สนฺทิสฺ + = สนฺทิสณ > สนฺทิส > สนฺเทส แปลตามศัพท์ว่า “เนื้อความที่ปรากฏชัดเจน” หมายถึง ข่าว, ข่าวสาร (news, message)

บาลี “สนฺเทส” สันสกฤตเป็น “สนฺเทศ

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

สนฺเทศ : (คำนาม) ‘สันเทศ,’ ข่าว; news, information.”

ในภาษาไทยใช้ตามรูปสันสกฤตว่า “สนเทศ” อ่านว่า สน-เทด พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –

สนเทศ : (คำนาม) คําสั่ง, ข่าวสาร, ใบบอก. (ส.; ป. สนฺเทส).”

สาร + สนฺเทส = สารสนฺเทส (สา-ระ-สัน-เท-สะ) > สารสนเทศ

คำว่า “สารสนเทศ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ดังนี้ –

สารสนเทศ : (คำนาม) ข่าวสาร; การแสดงหรือชี้แจงข่าวสารข้อมูลต่าง ๆ. (ส. สาร + สนฺเทศ; ป. สาร + สนฺเทส).”

…………..

อภิปราย :

คำว่า “สารสนเทศ” เป็นศัพท์บัญญัติจากคำอังกฤษว่า information

คำว่า “สารสนเทศ” เป็นคำที่เคยใช้เป็นชื่อกระทรวงของประเทศไทย คือ “กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร” คำภาษาอังกฤษใช้ว่า Ministry of information and communication technology (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม [Ministry of Digital Economy and Society])

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน แปล “สนฺเทศ” เป็นอังกฤษว่า information

แต่เราบัญญัติ information เป็นคำไทย “สารสนเทศ” คือเติม “สาร” เข้าข้างหน้าอีกคำหนึ่ง

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล information เป็นบาลีดังนี้ –

(1) nivedana นิเวทน (นิ-เว-ทะ-นะ) = การประกาศให้ทราบ

(2) ārocana อาโรจน (อา-โร-จะ-นะ) = การบอกกล่าว

(3) viññāpana วิญฺญาปน (วิน-ยา-ปะ-นะ) = การบอกแจ้ง, การแจ้งให้ทราบ

(4) vuttanta วุตฺตนฺต (วุด-ตัน-ตะ) = คำบอกกล่าว

จะเห็นได้ว่า แม้พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี จะไม่ได้แปล information เป็นบาลีว่า “สนฺเทส” แต่คำอื่นๆ (นิเวทน, อาโรจน, วิญฺญาปน, วุตฺตนฺต) ก็มีความหมายเท่าตัวเหมือน “สนฺเทส” คือหมายความเพียงแค่การประกาศบอกกล่าว ไม่ได้ระบุว่าบอกกล่าวอะไร ซึ่งต่างจาก “สารสนเทศ” ที่ระบุชัดลงไปว่า บอกกล่าว “สาร

อย่างไรก็ตาม พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล information เป็นไทยไว้ดังนี้ –

1. แจ้งให้ทราบ, บอก, เรื่องที่บอก

2. ข่าว

3. ความรู้, ให้ความรู้, ข้อความ

4. ฟ้อง

จะเห็นได้ว่าคำแปลในข้อ 1. ตรงตัวเท่ากับ “สนเทศ” แต่คำแปลในข้ออื่นๆ น่าจะตรงกับคำ “สารสนเทศ” คือระบุลงไปว่า สิ่งที่บอกกล่าวนั้นต้องเป็น “สาร” คือเรื่องราวที่มีสาระ

ช่วยกันอ่านให้ภาษาไทยงดงาม :

คำว่า “สารสนเทศ” พจนานุกรมฯ บอกคำอ่านไว้ 2 แบบ คืออ่านว่า สา-ระ-สน-เทด และ สาน-สน-เทด

ผู้เขียนบาลีวันละคำใคร่ขอร้องว่า แม้พจนานุกรมฯ จะบอกไว้อย่างนั้น แต่ขอช่วยกันอ่านว่า สา-ระ-สน-เทด อย่าอ่านว่า สาน-สน-เทด เลย เพราะอ่านอย่างหลังนั้นเป็นการอ่านแบบ “รัก” ง่าย ซึ่งเป็นอาการของผู้ที่ไม่รักที่จะพัฒนาความรู้ขึ้นไปหามาตรฐาน แต่ดึงมาตรฐานลงมาหาความไม่รู้

การอ่าน “สารสนเทศ” ว่า สาน-สน-เทด ไม่ได้แสดงถึงความจำเริญทางภาษาแต่อย่างใดเลย

ลองคิดเทียบกับคำว่า “ผู้พิพากษา” ซึ่งมีผู้คนจำนวนมากนิยมออกเสียงตามแบบสะดวกปากว่า พูก-สา

จะเป็นอย่างไรถ้าวันหนึ่งข้างหน้า พจนานุกรมฯ บอกว่า คำว่า “ผู้พิพากษา” อ่านว่า ผู้-พิ-พาก-สา ก็ได้ อ่านว่า พูก-สา ก็ได้!!

…………..

ดูก่อนภราดา!

: สาระไม่ได้แถมมากับชีวิต

: คนมีความคิดต้องสร้างมันขึ้นมาเอง

21-6-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย