มํสํ (บาลีวันละคำ 2,016)
มํสํ = เนื้อ
ลำดับ 6 ในอาการสามสิบสอง
อ่านว่า มัง-สัง
“มํสํ” รูปคำเดิมเป็น “มํส” (มัง-สะ) รากศัพท์มาจาก มนฺ (ธาตุ = รู้) + ส ปัจจัย, แปลง นฺ ที่สุดธาตุเป็นนิคหิต (มนฺ > มํ)
: มนฺ + ส = มนส > มํส (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันคนรู้จัก” หมายถึง เนื้อคน, เนื้อสัตว์ (flesh, meat)
“มํส” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกพจน์ เปลี่ยนรูปเป็น “มํสํ” แปลว่า เนื้อ
“มํส” ในภาษาไทยใช้เป็น “มังส” และอิงสันสกฤตเป็น “มางสะ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –
“มังส-, มังสะ, มางสะ : (คำนาม) เนื้อของคนและสัตว์. (ป.).”
คำที่เราคุ้นกันดีคือ “มังสวิรัติ” (มัง-สะ-วิ-รัด) ก็มาจาก “มํส” คำนี้
…………..
ขยายความ :
คัมภีร์วิสุทธิมรรคบรรยายเรื่อง “มํสํ – เนื้อ” ประมวลความได้ดังนี้ –
เนื้อในร่างกายคนเรา ถ้าแยกส่วนเป็นชิ้นๆ นับได้ 900 ชิ้น (นว มํสเปสิสตานิ)
เนื้อทั้งปวงมีสีแดงดังดอกทองกวาว (ตํ สพฺพมฺปิ วณฺณโต รตฺตํ กึสุกปุปฺผสทิสํ.)
รูปทรงของเนื้อตามส่วนต่างๆ ในร่างกาย ท่านพรรณนาไว้โดยจินตนาการดังนี้ :
– เนื้อปลีแข้งรูปทรงเหมือนข้าวในห่อใบตาล (ชงฺฆปิณฺฑิกมํสํ ตาลปณฺณปูฏภตฺตสณฺฐานํ.)
– เนื้อขารูปทรงเหมือนลูกหินบด (อูรุมํสํ นิสทโปตกสณฺฐานํ.)
– เนื้อสะโพกรูปทรงเหมือนก้อนเส้า (อานิสทมํสํ อุทฺธนโกฏิสณฺฐานํ.)
– เนื้อหลังรูปทรงเหมือนแผ่นน้ำตาลงบ (ปิฏฺฐิมํสํ ตาลคุฬปฏลสณฺฐานํ.)
– เนื้อสีข้างทั้งสองรูปทรงเหมือนฉางข้าวที่เอาดินไล้บางๆ (ผาสุกทฺวยมํสํ โกฏฺฐลิกาย กุจฺฉิยํ ตนุมตฺติกาเลปนสณฺฐานํ.)
– เนื้อนมรูปทรงเหมือนก้อนดินที่เขาผูกแขวนไว้ (ถนมํสํ พนฺธิตฺวา อวกฺขิตฺตมตฺติกาปิณฺฑสณฺฐานํ.)
– เนื้อแขนทั้งสองข้างรูปทรงเหมือนหนูตัวใหญ่ถลกหนังวางไว้เป็น 2 ชั้น (พาหุทฺวยมํสํ ทฺวิคุณํ กตฺวา ฐปิตนิจฺจมฺมมหามูสิกสณฺฐานํ.)
(คัมภีร์วิสุทธิมรรค ภาค 2 อนุสสติกัมมัฏฐานนิทเทส หน้า 33)
ในบทสวด “พระอาการสามสิบสอง” กล่าวถึง “มํสํ” ไว้ดังนี้ –
๏ มังสังคือเนื้อ……อย่าได้เอื้อเฟื้อ…….เนื้อเก้าร้อยชิ้น
อย่าหลงนิยม……..เครื่องถมแผ่นดิน…..แร้งกาหมากิน
เมื่อสิ้นอาสัญ๚ะ๛
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ห่วงเนื้อหนังร่างกาย อยู่ได้ไม่เกินร้อยปี
: ห่วงคุณงามความดี อยู่ไปได้ชั่วกาลนาน
—————-
(ตามคำอาราธนาของคุณครูอนันต์ นาควิจิตร)
ภาพประกอบ: จาก google
ควรตามไปดูคำว่า “อาการ 32” ที่ลิงก์ข้างล่างนี้ด้วย:
#บาลีวันละคำ (2,016)
19-12-60