บาลีวันละคำ

ตโจ (บาลีวันละคำ 2,015)

ตโจ = หนัง

ลำดับ 5 ในอาการสามสิบสอง

อ่านว่า ตะ-โจ

ตโจ” รูปคำเดิมเป็น “ตจ” (ตะ-จะ) รากศัพท์มาจาก ตจฺ (ธาตุ = รักษา) + ปัจจัย

: ตจฺ + = ตจ แปลตามศัพท์ว่า “ส่วนที่รักษาตัวไว้

ตจ” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) เปลือกไม้ (bark)

(2) หนัง, หนังสัตว์ (skin, hide)

ตจ” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกพจน์ เปลี่ยนรูปเป็น “ตโจ” แปลว่า หนัง

โปรดสังเกตว่า “ตโจ” เป็นรูปเอกพจน์ ไม่เหมือน เกสา โลมา นขา ทนฺตา ที่เป็นรูปพหูพจน์ เหตุที่ท่านใช้รูปเอกพจน์ก็เพราะลักษณะของผิวหนังติดกันเป็นแผ่นเดียวทั้งร่าง ไม่สามารถแยกชิ้นนับเป็นส่วนๆ เหมือนผม ขน เล็บ ฟัน ดังนั้นจึงต้องใช้คำเป็นเอกพจน์ (ตโจ ไม่ใช่ ตจา)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –

ตจ– : (คำนาม) หนัง, เปลือกไม้. (ป.).”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 มีคำใหม่ที่มาจาก “ตจ” คำหนึ่งคือ “ตัจวิทยา” อ่านว่า ตัด-จะ-วิด-ทะ-ยา หมายถึง วิชาว่าด้วยผิวหนัง

…………..

ขยายความ :

รูปทรงของหนังตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ในคัมภีร์ท่านเปรียบกับสิ่งต่างๆ หลายอย่างตามลักษณะของหนังในที่นั้นๆ ขอนำมาเสนอไว้พร้อมทั้งคำบาลี ถึงหากจะยังไม่เข้าใจ ก็ฟังไว้เพื่อศึกษาจินตนาการของคนโบราณ นับเป็นอลังการแห่งความรู้ได้ส่วนหนึ่ง

ปาทงฺคุลีตโจ  โกสการกโกสสณฺฐาโน.

หนังนิ้วเท้ารูปทรงดังรังไหม

ปิฏฺฐิปาทตโจ  ปูฏพนฺธนอุปาหนสณฺฐาโน.

หนังหลังเท้ารูปทรงดังรองเท้าหุ้มหลังเท้า

ชงฺฆตโจ  ภตฺตปูฏกตาลปณฺณสณฺฐาโน.

หนังแข้งรูปทรงดังใบตาลห่อข้าว

อูรุตโจ  ตณฺฑุลภริตทีฆตฺถวิกสณฺฐาโน.

หนังขารูปทรงดังไถ้บรรจุข้าวสารเต็ม

อานิสทตโจ  อุทกปูริตปฏปริสฺสาวนสณฺฐาโน.

หนังตะโพกรูปทรงดังผืนผ้ากรองอุ้มน้ำ

ปิฏฺฐิตโจ  ผลโกนทฺธจมฺมสณฺฐาโน.

หนังหลังรูปทรงดังหนังหุ้มโล่

กุจฺฉิตโจ  วีณาโทณิโกนทฺธจมฺมสณฺฐาโน.

หนังท้องรูปทรงดังหนังหุ้มรางพิณ

อุรตโจ  เยภุยฺเยน  จตุรสฺสสณฺฐาโน.

หนังอกโดยมากมีรูปทรงสี่เหลี่ยม

อุภยพาหุตโจ  ตูณิโรนทฺธจมฺมสณฺฐาโน.

หนังแขนทั้งสองข้างรูปทรงดังหนังหุ้มแล่งธนู

ปิฏฺฐิหตฺถตโจ  ขุรโกสสณฺฐาโน  ผลกตฺถวิกสณฺฐาโน  วา.

หนังหลังมือรูปทรงดังฝักมีดหรือถุงโล่

หตฺถงฺคุลีตโจ  กุญฺจิกโกสสณฺฐาโน.

หนังนิ้วมือรูปทรงดังฝักกุญแจ

คีวตโจ  คลกญฺจุกสณฺฐาโน.

หนังคอรูปทรงดังเสื้อปิดคอ

มุขตโจ  ฉิทฺทาวฉิทฺโท  กีฏกุลาวกสณฺฐาโน.

หนังบริเวณใบหน้ามีช่องใหญ่น้อยรูปทรงดังรังตั๊กแตน

สีสตโจ  ปตฺตตฺถวิกสณฺฐาโน.

หนังศีรษะรูปทรงดังถลกบาตร

(จากคัมภีร์วิสุทธิมรรค ภาค 2 อนุสสติกัมมัฏฐานนิทเทส หน้า 31-32 )

……….

ตโจ” เป็นข้อสุดท้ายในกรรมฐานที่เรียกว่า “ตจปัญจกกรรมฐาน” (กรรมฐานมีหนังเป็นที่คำรบห้า) อันพระอุปัชฌาย์จะพึงบอกแก่กุลบุตรผู้เข้ามาอุปสมบทในพระธรรมวินัยเป็นเบื้องต้น ประกอบด้วย “เกสา โลมา นขา ทนฺตา ตโจ” (ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง)

ผิวหนังของแต่ละคนนั้นท่านว่าถ้าลอกออกให้หมดทั้งร่าง ปันเป็นก้อนจะได้ก้อนกลมประมาณเท่าเมล็ดในพุทรา

ในบทสวด “พระอาการสามสิบสอง” กล่าวถึง “ตโจ” ไว้ดังนี้ –

๏ ตะโจคือหนังเล่า…..หุ้มห่อตัวเจ้า……….เท่าเม็ดพุทรา

อย่าได้ยินดี…………..ว่าหนังนี้โสภา………ครั้นม้วยมรณา

แร้งกาแย่งกิน๚ะ๛

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เนื้อหนังเหี่ยว ไม่เกี่ยวกับคุณธรรม

: ใจดีหรือใจดำ มิใช่ดูที่ผิวพรรณ

—————-

(ตามคำอาราธนาของคุณครูอนันต์ นาควิจิตร)

ภาพประกอบ: จาก google

ควรตามไปดูคำว่า “อาการ 32” ที่ลิงก์ข้างล่างนี้ด้วย:

#บาลีวันละคำ (2,015)

18-12-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย