บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

พินิจพระคาถาชินบัญชร

พินิจพระคาถาชินบัญชา

———————–

มีญาติมิตรท่านหนึ่งส่งภาพเป็นข้อความบทหนึ่งในพระคาถาชินบัญชรมาให้ผมดู แสดงเจตนาจะให้ผมพิจารณาว่ามีคำถูกคำผิดอยู่ตรงไหนอย่างไรบ้างหรือไม่

ข้อความในพระคาถาชินบัญชรว่าดังนี้ (ดูภาพประกอบ) –

เกสะโต  ปิฏฐิภาคัสมิง 

สุริโยวะ  ปะภังกะโร

นิสินโน  สิริสัมปันโน 

โสภีโต  มุนิปุงคะโว

เขียนแบบบาลี :

เกสโต  ปิฏฺฐิภาคสฺมึ 

สุริโยว  ปภงฺกโร

นิสินฺโน  สิริสมฺปนฺโน 

โสภีโต  มุนิปุงฺคโว.

………..

ผมมีข้อพิจารณาดังต่อไปนี้

เกสะโต 

ศัพท์ว่า “เกสะโต” (เกสโต) แปลว่า “จากเส้นผม” 

บางฉบับเป็น “เกสันเต” (เกสนฺเต) แปลว่า “ที่สุดแห่งเส้นผม” 

เมื่อรวมกับ “ปิฏฐิภาคัสมิง” (ปิฏฺฐิภาคสฺมึ) ซึ่งแปลว่า “ที่ส่วนเบื้องหลัง” ก็จะได้ความว่า “ที่ส่วนเบื้องหลังจากเส้นผม” หรือ “ที่ส่วนเบื้องหลังที่สุดแห่งเส้นผม” ซึ่งหมายถึง ท้ายทอย ตรงกัน 

เพราะฉะนั้น จะเป็น เกสะโต หรือ เกสันเต ก็ได้ความหมายตรงกัน หลักภาษาก็ไม่ขัดข้องอันใด ใครคุ้นเคยกับคำไหนก็สวดคำนั้น นับว่าถูกต้องตามความหมายที่ต้องการทั้งนั้น 

โสภีโต 

คำนี้คลาดเคลื่อน คำที่ถูกต้องคือ “โสภิโต” 

ภิ– สระ อิ 

ไม่ใช่ –ภี– สระ อี

โสภิโต เป็นคำเดียวกับที่เราเอามาใช้ในภาษาไทยว่า “โสภิต” ที่แปลว่า งาม นั่นเอง 

คำว่า “โสภิต” มี 

แต่คำว่า “โสภีต” นั้นไม่มี 

เพราะฉะนั้น ศัพท์ที่ถูกต้องก็คือ “โสภิโต” ไม่ใช่ “โสภีโต” 

โสภิโต เป็นชื่อของพระอรหันต์องค์หนึ่ง 

อนึ่ง คำแปลข้อความในพระคาถาชินบัญชรบทนี้เท่าที่พบ จะแปล “โสภิโต” เป็นชื่อของพระพุทธเจ้าในอดีตพระองค์หนึ่ง (องค์ที่ ๙ ในจำนวนพระพุทธเจ้า ๒๘ พระองค์) 

หมายความว่าผู้แปลพระคาถาชินบัญชรบทนี้เข้าใจว่าเป็นการอัญเชิญพระโสภิตพุทธเจ้า ไม่ใช่เชิญพระโสภิตเถระผู้เป็นพระอรหันตสาวก

ทั้งนี้น่าจะเป็นเพราะศัพท์ภาษาบาลีที่ว่า โสภิโต  มุนิปุงคะโว ชวนให้เข้าใจเช่นนั้น 

คำว่า “มุนิปุงคะโว” เรามักเข้าใจว่าหมายถึงพระพุทธเจ้า นอกจากนี้ยังมีคำว่า สุริโย วะ   ปะภังกะโร ซึ่งแปลว่า “ผู้มีแสงสว่างเพียงดังดวงอาทิตย์” กำกับอยู่ด้วย คำนี้ก็น่าจะเป็นคำแสดงคุณสมบัติของพระพุทธเจ้ามากกว่าของพระสาวก ดังนั้นเมื่อพิจารณาเฉพาะถ้อยคำจึงชวนให้เข้าใจไปว่าเป็นการอัญเชิญพระโสภิตพุทธเจ้า 

มุนิปุงคะโว แปลว่าอะไร

มุนิปุงคะโว” (มุนิปุงฺคโว) แยกศัพท์เป็น มุนิ + ปุงคะโว 

ศัพท์ว่า “มุนิ” แปลว่า “ผู้มีความรู้” ไม่ได้เจาะจงว่าหมายถึงพระพุทธเจ้า ศัพท์ว่า มุนิ ที่หมายถึงพระพุทธเจ้า จะเป็น “มุนินฺท” (มุ-นิน-ทะ) แปลว่า ผู้เป็นใหญ่ในหมู่มุนี, ผู้เป็นใหญ่กว่ามุนีทั้งหลาย หรือที่แปลสั้นๆ ว่า “พระจอมมุนี” อย่างในบทพาหุงที่เราได้ยินกันคุ้นหูที่ว่า ชิตวา  มุนินฺโท  ตนฺเตชสา

ศัพท์ว่า “ปุงฺคว” (ปุง-คะ-วะ) แปลตามตัวว่า “โคตัวผู้” (male-cow) ศัพท์นี้ไม่ได้ใช้ในความหมายตรงตัว แต่มีความหมายโดยนัย คือหมายถึง ดีที่สุด, สำคัญที่สุด (best, chief) หรือ “บุคคลที่โดดเด่นที่สุดในหมู่พวกเดียวกัน

มุนิปุงคะโว” จึงหมายถึง มุนีผู้เลิศที่สุด หรือ ผู้เลิศที่สุดในหมู่มุนีด้วยกัน และ “มุนี” ในที่นี้ก็มิได้หมายถึงพระพุทธเจ้าโดยเฉพาะ แต่หมายถึงนักบวช บรรพชิต คือผู้ออกจากบ้านเรือนไปถือเพศนักบวชประพฤติธรรม 

สรุปว่า มุนิปุงคะโว ไม่จำเป็นจะต้องหมายถึงพระพุทธเจ้าเสมอไป พระอรหันตสาวกก็เป็น มุนิปุงคะโว ได้

แต่เหตุผลสำคัญอยู่ที่พระคาถาชินบัญชรมิได้อัญเชิญพระพุทธเจ้าเป็นรายพระองค์ หากแต่อัญเชิญเป็นคำรวม ดังในบทข้างต้นที่ว่า 

ตัณหังกะราทะโย  พุทธา ….. อัฏฐะวีสะติ  นายะกา 

คือระบุแต่เพียงว่า อัญเชิญพระพุทธเจ้า ๒๘ พระองค์ มีพระตัณหังกรเป็นต้น พระโสภิตพุทธเจ้าก็รวมอยู่ในคำนี้ด้วยแล้ว จึงไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องแยกอัญเชิญเป็นต่างหากอีกพระองค์หนึ่ง 

แล้วถ้าจะลองตั้งข้อสงสัยว่า ทำไมบทนี้จึงเจาะจงอัญเชิญพระโสภิตพุทธเจ้า 

จะตอบว่าอย่างไร

อีกประการหนึ่ง ข้อความในตอนนี้เป็นการเชิญพระอรหันตสาวก กล่าวคือ ก่อนหน้านี้ก็เชิญพระอานนท์และพระราหุลมาสถิตที่หูข้างขวา เชิญพระมหากัสสปะและพระมหานามมาสถิตที่หูข้างซ้าย 

แล้วจึงเชิญ “โสภิโต มุนิปุงคะโว” มาสถิตที่ท้ายทอย 

และหลังจากนี้ก็เชิญพระกุมารกัสสปะมาสถิตปาก 

ถ้า “โสภิโต” หมายถึงพระโสภิตพุทธเจ้า ทำไมจึงอัญเชิญพระพุทธเจ้ามาแทรกในระหว่างพระสาวก 

แล้วพระพุทธเจ้ามีตั้ง ๒๘ พระองค์ ทำไมจึงเจาะจงอัญเชิญพระโสภิตพุทธเจ้าองค์เดียว 

ถ้าตอบว่าที่ตรงนั้นสถิตได้องค์เดียว ก็ยังไม่พ้นที่จะต้องสงสัยต่อไปอีกว่า ทำไมจึงต้องเป็นพระโสภิตพุทธเจ้า พระโสภิตพุทธเจ้ามีคุณสมบัติเฉพาะกับที่ตรงนั้นอย่างไรหรือ 

และจุดที่อัญเชิญมาสถิตก็คือ ท้ายทอย อันเป็นจุดที่ไม่เด่นไปกว่าพระสาวกธรรมดาเลย ว่ากันตามตรงแล้วก็เป็นจุดที่ด้อยกว่าพระสาวกด้วยซ้ำไป อย่างเช่นพระอนุรุทธะเป็นเพียงพระสาวก เชิญให้สถิตที่หัวใจ แต่พระโสภิตพุทธเจ้ากลับอัญเชิญไปไว้ที่ท้ายทอย ดูไม่สมฐานะเอาเสียเลย

ด้วยเหตุผลดังกล่าวมา พระคาถาชินบัญชรบทนี้จึงไม่ใช่เป็นการอัญเชิญพระโสภิตพุทธเจ้า หากแต่เป็นการเชิญพระโสภิตเถระผู้เป็นพระอรหันตสาวกจึงจะถูกต้อง

สรุปว่า

ในแง่ภาษา 

– “เกสะโต  ปิฏฐิภาคัสมิง” หรือ “เกสันเต  ปิฏฐิภาคัสมิง” ในที่นี้ได้ความเท่ากัน คือหมายถึง ท้ายทอย

– “โสภีโต” (-ภี– สระ อี) คลาดเคลื่อน คำที่ถูกต้องคือ “โสภิโต” (-ภิ– สระ อิ) 

ในแง่ความหมาย “โสภิโต” ในที่นี้หมายถึงพระโสภิตเถระ ไม่ใช่พระโสภิตพุทธเจ้า

พระคาถาชินบัญชรบทนี้แปลได้ความว่า –

ขอเชิญพระโสภิตเถระผู้ล้ำเลิศในหมู่มุนี 

มีแสงสว่างเพียงดังดวงอาทิตย์ สมบูรณ์ด้วยสิริ 

มาสถิตอยู่ที่ส่วนเบื้องหลังจากเส้นผม (คือที่ท้ายทอยของข้าพเจ้า)

———

ที่ว่ามานี้เป็นความเห็นของผม แสดงไปตามหลักวิชา

ผมทราบดีว่า ความคิดเห็นของมนุษย์นั้นแก้ยากมาก โดยเฉพาะความคิดเห็นเรื่องพระคาถาชินบัญชรนั้นแฝงไว้ด้วยความเชื่อที่หยั่งรากลึก เช่นเชื่อว่า คำนี้ท่านสวดกันมาอย่างนี้ (เช่น ราหุโล หรือ ราหุลา ที่เคยพูดมาแล้ว) จะไปเปลี่ยนของท่านไม่ได้ (บางทีสำทับต่อไปอีกด้วยว่าเปลี่ยนแล้วจะไม่ขลัง!)

เพราะฉะนั้น ท่านผู้ใดเชื่ออย่างไร ก็เชิญเชื่อตามสบายเถิด

ผมเพียงแค่ทำหน้าที่บอกให้ฟังตามหลักวิชาที่เรียนมา

ไม่ได้บอกให้เชื่อผม

มีคำแนะนำเพิ่มเติมเพียงว่า-เชื่ออย่างไรควรมีเหตุผลที่เป็นเหตุผล (เหตุผลบางเรื่องเห็นได้ชัดว่าไม่เป็นเหตุผล) เข้าประกอบไว้ด้วย ตามหลักในพระพุทธศาสนา 

หนักศรัทธา ก็จะเชื่อดิ่งไปท่าเดียว 

หนักปัญญา ก็จะค้านตะบึงไป

เพราะฉะนั้น ศรัทธากับปัญญาจึงต้องสมดุลกัน

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๙ ธันวาคม ๒๕๖๐

๑๗:๔๔

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *