นหารู (บาลีวันละคำ 2,018)
นหารู = เอ็น
ลำดับ 7 ในอาการสามสิบสอง
อ่านว่า นะ-หา-รู
“นหารู” รูปคำเดิมเป็น “นหารุ” (นะ-หา-รุ) รากศัพท์มาจาก นหฺ (ธาตุ = ผูก, มัด, พัน) + อารุ ปัจจัย
: นหฺ + อารุ = นหารุ แปลตามศัพท์ว่า “เส้นที่ผูกมัด”
“นหารุ” (ปุงลิงค์) หมายถึง เส้นเอ็น, เอ็น, กล้ามเนื้อ (sinew, tendon, muscle)
“นหารุ” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) พหูพจน์ เปลี่ยนรูปเป็น “นหารู” (อุ เป็น อู) แปลว่า เส้นเอ็นทั้งหลาย
ในบาลี ศัพท์นี้สะกดเป็น 2 แบบ คือ “นหารุ” (ไม่มีจุดใต้ น) และ “นฺหารุ” (มีจุดใต้ นฺ)
“นฺหารุ” สะกดแบบมีจุดใต้ นฺ บังคับให้ นฺ กับ ห ออกเสียงควบกันเป็น เนียะ-อ๋า-รุ หรือ หฺนา-รุ ไม่ใช่ นะ-หา-รุ
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“นหารุ : (คำแบบ) (คำนาม) เส้น, เอ็น, ราชาศัพท์ใช้ว่า พระนหารุ. (ป.; ส. สฺนายุ).”
…………..
ขยายความ :
คัมภีร์วิสุทธิมรรคบรรยายไว้ว่า เอ็นในร่างกายคนมีทั้งสิ้นประมาณ 900 เส้น (นฺหารูติ นว นฺหารุสตานิ)
เอ็นสำคัญๆ มีทั้งหมด 60 เส้น มีอยู่ตามที่ต่างๆ ดังนี้ –
จากคอไปด้านหน้า 5 เส้น
จากคอไปด้านหลัง 5 เส้น
จากคอไปซีกขวา 5 เส้น
จากคอไปซีกซ้าย 5 เส้น
จากข้อมือขวาไปหลังมือ 5 เส้น
จากข้อมือขวาไปหน้ามือ 5 เส้น
จากข้อมือซ้ายไปหลังมือ 5 เส้น
จากข้อมือซ้ายไปหน้ามือ 5 เส้น
จากข้อเท้าขวาไปหลังเท้า 5 เส้น
จากข้อเท้าขวาไปหน้าเท้า 5 เส้น
จากข้อเท้าซ้ายไปหลังเท้า 5 เส้น
จากข้อเท้าซ้ายไปหลังเท้า 5 เส้น
ส่วนเอ็นเล็กๆ แผ่ไปทั่วร่างกายเหมือนกับสวมตาข่ายร่างแหไว้กับตัว มีรูปพรรณสัณฐานต่างๆ กันไป
เฉพาะที่หลังมือหลังเท้าซึ่งผู้เป็นเจ้าของจะมองเห็นได้ถนัดตาอยู่ทุกเมื่อนั้น ท่านบอกลักษณะไว้สั้นๆ แต่เห็นภาพชัดเจน คือ –
“หตฺถปาทปิฏฺฐีสุ นฺหารู สกุณปาทสณฺฐานา”
แปลว่า-เอ็นที่หลังมือและหลังเท้าสัณฐานดังตีนนก
(เก็บความจากคัมภีร์วิสุทธิมรรค ภาค 2 อนุสสติกัมมัฏฐานนิทเทส หน้า 33-34)
………..
ในบทสวด “พระอาการสามสิบสอง” กล่าวถึง “นหารู” ไว้ดังนี้ –
๏ นหารูคือเอ็น……..เมื่อตนยังเป็น……..เอ็นชักไหวหวั่น
เอ็นใหญ่เก้าร้อย…….เอ็นน้อยเก้าพัน……รัดรึงตรึงมั่น
กระสันหวั่นไหว
๏ เอ็นใหญ่เอ็นน้อย….ระเบียบเรียบร้อย…..รัดพันกันไป
ดังหนึ่งเครือวัลย์……..ขึ้นพันต้นไม้………..เอ็นทั้งนี้ไซร้
ให้เห็นอนิจจา๚ะ๛
………..
ในภาษาไทยมีคำว่า “เส้นสาย” โดยตรงก็หมายถึง “นหารู” หรือระบบเส้นของร่างกายดังแสดงมา แต่โดยปริยายหมายถึงพวกพ้องหรือผู้ช่วยเหลือที่สามารถอำนวยประโยชน์ให้ได้ เหมือนเส้นสายที่ยึดโยงอยู่ในที่ต่างๆ ช่วยชักช่วยดึงให้บรรลุจุดประสงค์ที่ต้องการได้ฉะนั้น
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ผลประโยชน์อาจใช้ล่อคนเขลาให้ยอมเป็นพรรคพวกได้
: แต่จะใช้ลวงนรกสวรรค์ด้วยนั้นหามิได้เลย
—————-
(ตามคำอาราธนาของคุณครูอนันต์ นาควิจิตร)
ภาพประกอบ: จาก google
ควรตามไปดูคำว่า “อาการ 32” ที่ลิงก์ข้างล่างนี้ด้วย:
#บาลีวันละคำ (2,018)
21-12-60