อฏฺฐิ (บาลีวันละคำ 2,019)
อฏฺฐิ = กระดูก
ลำดับ 8 ในอาการสามสิบสอง
อ่านว่า อัด-ถิ
“อฏฺฐิ” รากศัพท์มาจาก –
(1) อสฺ (ธาตุ = ทิ้ง, ขว้างไป; มี, เป็น) + อิ ปัจจัย, แปลง สฺ ที่สุดธาตุเป็น ฏฺฐ
: อสฺ > อฏฺฐ + อิ = อฏฺฐิ แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่ทิ้งอยู่ตลอดกาลนาน” (2) “สิ่งที่เป็นแกนอยู่ในร่างกาย”
(2) อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง) + ฐา (ธาตุ = ตั้งอยู่) + อิ ปัจจัย, รัสสะ อา ที่ อา อุปสรรคเป็น อะ (อา > อ), “ลบสระหน้า” คือ อา ที่ ฐา (ฐา > ฐ), ซ้อน ฏฺ ระหว่างอุปสรรคกับธาตุ (อา + ฏฺ + ฐา)
: อา > อ + ฏฺ + ฐา = อฏฺฐา > อฏฺฐ + อิ = อฏฺฐิ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเหตุให้ตั้งอยู่ได้อย่างดี”
“อฏฺฐิ” (นปุงสกลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) กระดูก (a bone)
(2) เมล็ดผลไม้ (the stone of a fruit)
“อฏฺฐิ” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกพจน์ คงรูปเป็น “อฏฺฐิ” แต่บางทีตรงนี้ท่านใช้ว่า “อฏฺฐี” (อัด-ถี, อิ เป็น อี) เป็นรูปพหูพจน์ แปลว่า กระดูกทั้งหลาย
“อฏฺฐิ” ในภาษาไทยตัดตัวสะกดออก ใช้เป็น “อัฐิ” ยังคงอ่านว่า อัด-ถิ
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อัฐิ : (คำนาม) กระดูกคนที่เผาแล้ว. (ป. อฏฺ; ส. อสฺถิ).”
โปรดสังเกตว่า ภาษาไทย “อัฐิ” หมายถึง กระดูกคนที่เผาแล้ว แต่ในภาษาบาลี “อฏฺฐิ” หมายถึงกระดูกทั่วไป ไม่จำเพาะว่าเผาแล้วหรือยังไม่ได้เผา
…………..
ขยายความ :
กระดูกในร่างกายมนุษย์ท่านว่ามีประมาณ 300 ชิ้น (ไม่นับฟัน 32 ซี่)
ในคัมภีร์ท่านแสดงรายการจำนวนกระดูกไว้ด้วย ขอนำมาเสนอไว้ในที่นี้เพื่อประกอบความรู้และเปรียบเทียบกับหลักวิชาการสมัยใหม่-โดยเฉพาะ “หมอกระดูก”- ดังนี้
จตุสฏฺฐิ หตฺถฏฺฐีนิ = กระดูกมือ 64 (หกสิบสี่)
จตุสฏฺฐี ปาทฏฺฐีนิ = กระดูกเท้า 64 (หกสิบสี่)
จตุสฏฺฐี มํสนิสฺสิตานิ มุทุอฏฺฐีนิ = กระดูกอ่อนที่ติดเนื้อ 64 (หกสิบสี่)
เทฺว ปณฺหิกฏฺฐีนิ = กระดูกส้นเท้า 2 (สอง)
เอเกกสฺมึ ปาเท เทฺว เทฺว โคปฺผกฏฺฐีนิ = กระดูกข้อเท้าข้างละ 2 (สอง) = 4 (สี่)
เทฺว ชงฺฆฏฺฐีนิ = กระดูกแข้ง 2 (สอง) [2 ข้าง = 4 (สี่)]
เอกํ ชนฺนุกฏฺฐิ = กระดูกเข่า 1 (หนึ่ง) [2 ข้าง = 2 (สอง)]
เอกํ อูรุฏฺฐิ = กระดูกขา (the thigh bone) 1 (หนึ่ง) [2 ข้าง = 2 (สอง)]
เทฺว กฏิฏฺฐีนิ = กระดูกสะเอว 2 (สอง)
อฏฺฐารส ปิฏฺฐิกณฺฏกฏฺฐีนิ = กระดูกสันหลัง 18 (สิบแปด)
จตุวีสติ ผาสุกฏฺฐีนิ = กระดูกซี่โครง 24 (ยี่สิบสี่)
จุทฺทส อุรฏฺฐีนิ = กระดูกหน้าอก 14 (สิบสี่)
เอกํ หทยฏฺฐิ = กระดูกบังหัวใจ (a bone of the heart) 1 (หนึ่ง)
เทฺว อกฺขกฏฺฐีนิ = กระดูกไหปลาร้า 2 (สอง)
เทฺว โกฏฺฏฏฺฐีนิ = กระดูกสะบัก (a stomach bone or bone of the abdomen) 2 (สอง)
เทฺว พาหุฏฺฐีนิ = กระดูกต้นแขน 2 (สอง)
เทฺว เทฺว อคฺคพาหุฏฺฐีนิ = กระดูกปลายแขนข้างละ 2 (สอง) = 4 (สี่)
สตฺต คีวฏฺฐีนิ = กระดูก้านคอ 7 (เจ็ด)
เทฺว หนุกฏฺฐีนิ = กระดูกคาง 2 (สอง)
เอกํ นาสิกฏฺฐิ = กระดูกจมูก 1 (หนึ่ง)
เทฺว อกฺขิฏฺฐีนิ = กระดูกเบ้าตา 2 (สอง
เทฺว กณฺณฏฺฐีนิ = กระดูกหู 2 (สอง)
เอกํ นลาฏฏฺฐิ = กระดูกหน้าผาก 1 (หนึ่ง)
เอกํ มุทฺธนฏฺฐิ = กระดูกกระหม่อม 1 (หนึ่ง)
นว สีสกปาลฏฺฐีนิ = กระดูกกะโหลกศีรษะ 9 (เก้า)
ที่มา: คัมภีร์วิสุทธิมรรค ภาค 2 อนุสสติกัมมัฏฐานนิทเทส หน้า 34-35
……….
ในบทสวด “พระอาการสามสิบสอง” กล่าวถึง “อฏฺฐิ” ไว้ดังนี้ –
๏ อัฏฐิกระดูก………เอ็นมาพันผูก…….กระดูกนานา
ได้สามร้อยท่อน……ทั่วตอนกายา…….อย่าได้สงกา
ไม่เป็นแก่นสาร๚ะ๛
…………..
ดูก่อนภราดา!
จงหมั่นถามตัวเองว่า
: เราเกิดมาเพื่อทำสิ่งที่ถูก
: หรือเกิดมาเพียงเพื่อเอากระดูกถมแผ่นดิน
—————-
(ตามคำอาราธนาของคุณครูอนันต์ นาควิจิตร)
ภาพประกอบ: จาก google
ควรตามไปดูคำว่า “อาการ 32” ที่ลิงก์ข้างล่างนี้ด้วย:
#บาลีวันละคำ (2,019)
22-12-60