บาลีวันละคำ

สกทาคามี กับ สกิทาคามี (บาลีวันละคำ 2,017)

สกทาคามี กับ สกิทาคามี

ดับขันธ์แล้วไปเกิดที่ไหน

อ่านว่า สะ-กะ-ทา-คา-มี / สะ-กิ-ทา-คา-มี

สกทาคามี” ประกอบด้วย สกิ + อาคามี

(๑) “สกิ

อ่านว่า สะ-กิ เป็นคำนิบาต แปลว่า ครั้งเดียว (once) อีกครั้ง (once more) หรือ คราวเดียวกัน (at once)

ลักษณะของคำชนิดนี้คือคงรูปเดิม ไม่แจกด้วยวิภัตติ (ไม่ลงวิภัตติปัจจัย)

(๒) “อาคามี

รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง, กลับความ) + คมฺ (ธาตุ = ไป) + ณี ปัจจัย, ลบ , “ทีฆะต้นธาตุด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ” คือ อะ ที่ -(มฺ) เป็น อา (คมฺ > คาม)

: อา + คมฺ = อาคมฺ + ณี > อี = อาคมี > อาคามี แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มา” “ผู้หวนกลับมา” (ในที่นี้คำอุปสรรค “อา” ใช้ในความหมาย “กลับความ” คือ คามี = ผู้ไป อาคามี = ผู้มา)

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อาคามี” ว่า returning, one who returns, esp. one who returns to another form of life in saŋsāra, one who is liable to rebirth (ผู้มาถึง, ผู้กลับมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้กลับมาถือปฏิสนธิอีกในสังสารวัฏ, ผู้ซึ่งมีกรรมที่จะต้องกลับมาเกิดอีก)

สกิ + อาคามี ลง อาคมระหว่าง สกิ + อา– (สกิ + + อา-), แผลง อิ ที่ (ส)-กิ เป็น (สกิ > สก)

: สกิ + + อาคามี = สกิทาคามี > สกทาคามี แปลตามศัพท์ว่า “ผู้จะหวนมาอีกครั้งเดียว” ความหมายเต็มๆ ว่า “ผู้จะมาสู่กามธาตุนี้อีกครั้งเดียว” หรือ “ผู้จะมาสู่มนุษยโลกนี้อีกครั้งเดียว

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สกทาคามี” ว่า “returning once”, one who will not be reborn on earth more than once; one who has attained the second grade of saving wisdom (“กลับมาครั้งเดียว”, ผู้จะไม่เกิดในโลกนี้เกินกว่าหนึ่งครั้ง; ผู้บรรลุปัญญาชั้นที่สองซึ่งเรียกว่า สกทาคามี)

ตามกฎไวยากรณ์ท่านว่า ในบางกรณีคง อิ ที่ สกิ ไว้ตามเดิมได้ ดังนั้น “สกทาคามี” จึงเป็น “สกิทาคามี” ได้ด้วย

เป็นอันว่า คำนี้มีใช้ทั้ง “สกทาคามี” และ “สกิทาคามี” ความหมายเหมือนกันทั้ง 2 คำ ใช้คำไหนก็ถูกทั้งคู่

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สกทาคามี, สกิทาคามี : (คำนาม) “ผู้มาสู่กามภพอีกครั้งหนึ่ง” เป็นชื่อพระอริยบุคคลชั้นที่ ๒ ใน ๔ ชั้น คือ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์, บางทีก็เรียกสั้น ๆ ว่า พระสกทาคา หรือ พระสกิทาคา. (ป.; ส. สกฺฤทาคามินฺ).”

ดูเพิ่มเติม: “สกทาคามี” บาลีวันละคำ (772) 29-6-57

…………..

ปัญหา :

มีคำถามว่า พระอริยบุคคลชั้นสกทาคามีหรือสกิทาคามี เมื่อดับขันธ์ไปแล้วท่านจะไปเกิดที่ใด?

คัมภีร์ปปัญจสูทนี ตอนอธิบายอากังเขยยสูตร กล่าวถึงการไปเกิด-มาเกิดของพระอริยบุคคลชั้นสกทาคามีหรือสกิทาคามีไว้ดังนี้ –

สกทาคามีติ  สกึ  อาคมนธมฺโม  ฯ  สกิเทว  อิมํ  โลกํ  อาคนฺตฺวาติ  เอกวารํเยว  อิมํ  มนุสฺสโลกํ  ปฏิสนฺธิวเสน  อาคนฺตฺวา  ฯ  โยปิ  หิ  อิธ  สกทาคามิมคฺคํ  ภาเวตฺวา  อิเธว  ปรินิพฺพาติ  ฯ  โสปิ  อิธ  น  คหิโต  ฯ  โยปิ  อิธ  มคฺคํ  ภาเวตฺวา  เทเวสุ  อุปฺปชฺชิตฺวา  ตตฺเถว  ปรินิพฺพาติ  ฯ  โยปิ  เทวโลเก  มคฺคํ  ภาเวตฺวา  ตตฺเถว  ปรินิพฺพาติ  ฯ  โยปิ  เทวโลเก  มคฺคํ  ภาเวตฺวา  อิเธว  มนุสฺสโลเก  นิพฺพตฺติตฺวา  ปรินิพฺพาติฯ  โย  ปน  อิธ  มคฺคํ  ภาเวตฺวา  เทวโลเก  นิพฺพตฺโต  ฯ  ตตฺถ  ยาวตายุกํ  ฐตฺวา  ปุน  อิเธว  อุปฺปชฺชิตฺวา  ปรินิพฺพาติ  ฯ  อยมิธ  คหิโตติ  เวทิตพฺโพ  ฯ

ที่มา: คัมภีร์ปปัญจสูทนี ภาค 1 หน้า 278-279

ถอดความได้ดังนี้ –

คำว่า “สกทาคามี” มีความหมายว่า ผู้มีการกลับมาสู่มนุษยโลกนี้เพียงครั้งเดียวเท่านั้นด้วยการปฏิสนธิ

ผู้เจริญสกทาคามิมรรคในโลกนี้แล้วปรินิพพานในโลกนี้ ท่านไม่เรียกว่า “สกทาคามี” ตามความหมายนี้

ผู้เจริญสกทาคามิมรรคในโลกนี้ไปเกิดในเทวโลก แล้วปรินิพพานในเทวโลกนั้น ท่านก็ไม่เรียกว่า “สกทาคามี” ตามความหมายนี้

ผู้เจริญสกทาคามิมรรคในเทวโลกแล้วกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ แล้วปรินิพพานในมนุษยโลกนี้ ท่านก็ไม่เรียกว่า “สกทาคามี” ตามความหมายนี้

แต่ผู้เจริญสกทาคามิมรรคในโลกนี้ไปเกิดในเทวโลก ดำรงอยู่ในเทวโลกนั้นจนสิ้นอายุ แล้วมาเกิดเป็นมนุษย์อีก ปฏิบัติธรรมจนได้บรรลุปรินิพพานในโลกนี้ ท่านจึงเรียกว่า “สกทาคามี” ตามความหมายนี้

…………..

ดูก่อนภราดา!

: สร้างบุญบารมี ร้อยทีพันทีก็ยังน้อยนี่กระไร

: สร้างบาปเวรภัย ครั้งเดียวทำไปก็มากเกินพอ

—————

(ตามคำขอของ ประสบ ชุมสงฆ์)

#บาลีวันละคำ (2,017)

20-12-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย