มหาบุรุษ (บาลีวันละคำ 1,849)
มหาบุรุษ
คุ้นๆ แต่อาจไม่รู้จัก
อ่านว่า มะ-หา-บุ-หฺรุด
แยกศัพท์เป็น มหา + บุรุษ
(๑) “มหา” (มะ-หา)
รูปคำเดิมในบาลีเป็น “มหนฺต” (มะ-หัน-ตะ) รากศัพท์มาจาก มหฺ (ธาตุ = เจริญ) + อนฺต ปัจจัย
: มหฺ + อนฺต = มหนฺต แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ขยายตัว” มีความหมายว่า ยิ่งใหญ่, กว้างขวาง, โต; มาก; สำคัญ, เป็นที่นับถือ (great, extensive, big; much; important, venerable)
“มหนฺต” เป็นคำเดียวกับที่ใช้ในภาษาไทยว่า “มหันต์”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“มหันต-, มหันต์ : (คำวิเศษณ์) ใหญ่, มาก, เช่น โทษมหันต์. (เมื่อเข้าสมาสกับศัพท์อื่น เป็น มห บ้าง มหา บ้าง เช่น มหัคฆภัณฑ์ คือ สิ่งของที่มีค่ามาก, มหาชน คือ ชนจำนวนมาก). (ป.).”
ในที่นี้ มหันต– เข้าสมาสกับ –บุรุษ เปลี่ยนรูปเป็น “มหา”
(๒) “บุรุษ”
บาลีเป็น “ปุริส” (ปุ-ริ-สะ) รากศัพท์มาจาก –
(1) ปุร (ธาตุ = เต็ม) + อิส ปัจจัย
: ปุร + อิส = ปุริส แปลว่า “ผู้ยังดวงใจของบิดามารดาให้เต็ม”
(2) ปุ ( = นรก) + ริส (ธาตุ = เบียดเบียน, กำจัด)
: ปุ + ริส = ปุริส แปลว่า “ผู้เบียดเบียนนรก” คือทำให้นรกว่าง เพราะเกิดมาทำให้บิดามารดาไม่ต้องตกนรกขุมที่ชื่อ “ปุตตะ”
(3) ปุริ ( = เบื้องบน) + สี (ธาตุ = อยู่)
: ปุริ + สี > ส = ปุริส แปลว่า “ผู้อยู่ในเบื้องสูง” หมายถึงเป็นหัวหน้า
(4) ปุร ( = เบื้องหน้า) + สี (ธาตุ = เป็นไป)
: ปุร + อิ = ปุริ + สี > ส = ปุริส แปลว่า “ผู้เป็นไปในเบื้องหน้า” หมายถึงผู้นำหน้า
(5) ป (= ปกติ) + อุร ( = อก) + สี (ธาตุ = นอน)
: ป + อุร = ปุร + อิ = ปุริ + สี > ส = ปุริส แปลว่า “ผู้นอน บน อก โดยปกติ”
“ปุริส” สันสกฤตเป็น “ปุรุษ” ไทยเขียนอิงสันสกฤตเป็น “บุรุษ”
ในภาษาไทย พจน.54 บอกไว้ว่า –
“บุรุษ : (คำนาม) ผู้ชาย, เพศชาย, คู่กับ สตรี, ใช้ในลักษณะที่สุภาพ.”
พึงทราบว่า “ปุริส” ในภาษาบาลีไม่ได้เล็งที่ “ผู้ชาย” เสมอไป ในที่หลายแห่งหมายถึง “คน” หรือมนุษย์ทั่วไป ไม่แยกว่าชายหรือหญิง เช่นเดียวกับคำว่า man ในภาษาอังกฤษ แปลว่า “ผู้ชาย” ก็ได้ แปลว่า “คน” หรือมนุษย์ทั่วไปก็ได้
มหนฺต + ปุริส = มหนฺตปุริส > มหาปุริส แปลตามศัพท์ว่า “คนผู้ยิ่งใหญ่”
“มหาปุริส” ใช้ในภาษาไทยเป็น “มหาบุรุษ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ไม่ได้เก็บคำว่า “มหาบุรุษ” ไว้
พจนานุกรมไทยฉบับอาจารย์เปลื้อง ณ นคร มีคำว่า “มหาบุรุษ” บอกไว้ว่า –
“มหาบุรุษ : (คำนาม) บุรุษผู้ยิ่งใหญ่ คนที่เกิดมาทำประโยชน์อันยิ่งใหญ่แก่มหาชน เช่น พระพุทธเจ้า พระเยซู พระมุฮัมมัด (มะหะหมัด) เป็นต้น.”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –
“มหาบุรุษ : บุรุษผู้ยิ่งใหญ่, คนที่ควรบูชา, ผู้มีมหาบุรุษลักษณะ เป็นคำใช้เรียกพระพุทธเจ้าเมื่อก่อนตรัสรู้.”
…………..
อภิปราย :
ในพระไตรปิฎก พระพุทธเจ้าตรัสว่า บุคคลที่จะได้ชื่อว่า “มหาบุรุษ” ก็คือผู้ที่ฝึกหัดขัดเกลาตนเองจนประลุถึงความบริสุทธิ์หมดจด สิ้นกิเลสาสวะโดยสิ้นเชิง
แต่นักคิดสมัยใหม่แบ่ง “บุรุษ”ออกเป็น 3 ระดับ คือ –
๑. คนดีของครอบครัว/ชุมชุน เรียกว่า “สุภาพบุรุษ” หาได้ทั่วไป
๒. คนผู้เป็นเสาเอกของแผ่นดิน เรียกว่า “รัฐบุรุษ” บ้านเมืองหนึ่งจะมีไม่กี่คน
๓. คนที่สละชีวิตเพื่อประโยชน์แห่งมวลมนุษยชาติ เรียกว่า “มหาบุรุษ” นานๆ จึงจะมีขึ้นในโลกสักคนหนึ่ง
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ลงมือทำประโยชน์ให้แก่เพื่อนมนุษย์
: ก็เป็นมหาบุรุษได้ทันที
2-7-60