บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

จับผิดกับชี้โทษต่างกันอย่างไร

จับผิดกับชี้โทษต่างกันอย่างไร

————————–

—————

ดูเทียบเคียงที่ –

อย่าไปเที่ยวว่าอะไรใครเขา

๓ กรกฎาคม ๒๕๕๘

—————

มักมีผู้อ้างว่า พระพุทธศาสนาสอนไม่ให้สนใจเรื่องของคนอื่น และไม่ให้มองหาความผิดของคนอื่น ให้สนใจเฉพาะเรื่องของตัวเอง

ผมเข้าใจว่าพวกเราส่วนมากยังไม่เข้าใจเรื่องนี้

ขอได้โปรดช่วยกันศึกษาพุทธภาษิตต่อไปนี้

—————

๑ เรื่องไม่ให้สนใจเรื่องของคนอื่น

มีที่มาจากพุทธภาษิตว่า –

น  ปเรสํ  วิโลมานิ

น  ปเรสํ  กตากตํ

อตฺตโน ว  อเวกฺเขยฺย

กตานิ  อกตานิ  จ.

ไม่ควรเก็บเอาคำด่าว่าของคนอื่นมาใส่ใจ

ไม่ควรสนใจกิจที่ทำแล้วและยังมิได้ทำของคนอื่น

พึงพิจารณากิจที่ทำแล้วและยังมิได้ทำของตนเท่านั้น

(ปุปผวรรค ธรรมบท พระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ ข้อ ๑๔

ปาฏิกาชีวกวัตถุ ธัมมปทัฏฐถกถา ภาค ๓)

เบื้องหลังของพุทธภาษิตบทนี้ก็คือ สตรีผู้หนึ่งนิมนต์พระพุทธเจ้ามาแสดงธรรมที่บ้าน ในขณะที่ฟังธรรม ถูกอาชีวก (นักบวชในศาสนาหนึ่ง) ที่ตนอุปถัมภ์บำรุงซึ่งมาที่บ้านในเวลานั้นด่าว่าอย่างรุนแรงจนฟังธรรมไม่รู้เรื่อง พระพุทธเจ้าจึงตรัสพุทธภาษิตนี้

ความมุ่งหมายในพุทธภาษิตนี้ก็คือ เมื่อจะทำกิจที่ถูกต้องดีงามก็ให้ตั้งใจแน่วแน่ มุ่งไปที่งานที่จะต้องทำเท่านั้น อย่าพะวงกับคำตำหนิติเตียนของใครอื่น พร้อมกันนั้นก็อย่าเสียเวลาไปกับเรื่องนอกตัว ใครจะทำหน้าที่ของเขาหรือไม่ได้ทำ ก็เป็นเรื่องของเขา เวลานี้เรามีหน้าที่จะต้องทำเรื่องนี้ก็ทุ่มเทกับเรื่องที่กำลังทำนี้ให้เต็มที่

จะเห็นได้ว่า หัวใจของเรื่องอยู่ที่ให้ตั้งใจทำหน้าที่ของตน

หัวใจของเรื่องไม่ได้อยู่ที่ห้ามสนใจเรื่องของคนอื่น

เรื่องของคนอื่น-ถ้าเป็นเรื่องที่ตนควรเกี่ยวข้องด้วย หรือเป็นหน้าที่ที่จะต้องเกี่ยวข้องด้วย ก็ต้องสนใจ 

จะไม่สนใจ-โดยอ้างว่าพระพุทธเจ้าตรัสสอนไม่ให้สนใจเรื่องของคนอื่น-อย่างนี้ไม่ถูก เพราะจะกลายเป็นความไม่รับผิดชอบ

เมื่อพระพุทธองค์ใกล้จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน พระภิกษุจากทิศทั้งหลายต่างก็มาเฝ้าและตามเสด็จไปในที่ต่างๆ 

แต่มีภิกษุรูปหนึ่งไม่ไปเฝ้า 

ภิกษุทั้งหลายไม่พอใจจึงนำตัวท่านไปฟ้องพระพุทธเจ้า 

ท่านกราบทูลให้เหตุผลว่าท่านตั้งใจไว้ว่าจะเร่งเจริญภาวนาเพื่อให้ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะปรินิพพานให้จงได้ ท่านจึงไม่มาเฝ้า 

พระพุทธเจ้าทรงประทานสาธุการว่าภิกษุรูปนั้นทำถูกแล้ว

(อัตตทัตถเถรวัตถุ ธัมมปทัฏฐถกถา ภาค ๖)

ถ้าจะไม่สนใจเรื่องของผู้อื่น จะต้องมีเหตุผลทำนองนี้-คือกำลังตั้งใจทำงานของตัวให้สำเร็จ

พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้ห้ามว่าตลอดชาตินี้ไม่ให้สนใจเรื่องของคนอื่นทั้งหมด

—————

๒ เรื่องการชี้โทษ

มีพุทธภาษิตว่า –

นิธีนํว  ปวตฺตารํ

ยํ  ปสฺเส  วชฺชทสฺสินํ

นิคฺคยฺหวาทึ  เมธาวึ

ตาทิสํ  ปณฺฑิตํ  ภเช

ตาทิสํ  ภชมานสฺส

เสยฺโย  โหติ  น  ปาปิโย.

พึงเห็นผู้มักชี้โทษเหมือนผู้บอกขุมทรัพย์ 

พึงคบหาท่านผู้กล่าวข่มขี่ มีปัญญา เป็นบัณฑิตเช่นนั้นเถิด 

เมื่อคบบัณฑิตเช่นนั้น ย่อมมีแต่คุณอันประเสริฐ 

หามีโทษที่เลวทรามไม่

(บัณฑิตวรรค ธรรมบท พระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ ข้อ ๑๖

ราธเถรวัตถุ ธัมมปทัฏฐถกถา ภาค ๔)

ในคัมภีร์เล่าเรื่องพราหมณ์คนหนึ่ง ชื่อราธะ เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาเมื่ออายุมากแล้ว พระสารีบุตรเป็นพระอุปัชฌาย์ 

พระสารีบุตรจะอบรมสั่งสอนดุด่าว่ากล่าวอะไร ท่านก็น้อมรับด้วยความเต็มใจ ไม่มีทิฐิมานะว่าตนมีวัยสูงกว่า ถูกเด็กคราวลูกคราวหลานมาสั่งสอน

ในที่สุดท่านก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ เป็นที่มาแห่งพุทธภาษิตบทนี้

ในคำอธิบายพุทธภาษิตบทนี้ท่านกล่าวถึงพระภิกษุที่เป็นพระอุปัชฌาย์ไม่อบรมสั่งสอนภิกษุที่เป็นศิษย์

ภิกษุที่เป็นศิษย์ประพฤติผิดพระธรรมวินัย หรือทำอะไรไม่ถูกไม่ควรอย่างไร ก็ไม่ว่าไม่กล่าว เพราะกลัวศิษย์จะโกรธบ้าง กลัวศิษย์จะไม่รักบ้าง และเพราะกลัวศิษย์จะไม่อำนวยประโยชน์ให้ตนบ้าง

ท่านบอกว่าพระอุปัชฌาย์ชนิดนี้เปรียบเหมือนผู้เอาขยะมาเทไว้ในพระศาสนา

ในการอยู่รวมกันเป็นสังคมก็มีคติอย่างเดียวกัน รู้เห็นว่าใครทำอะไรผิดแล้วปล่อยปละละเลย อ้างว่าไม่ใช่ธุระของเรา ซ้ำอ้างว่าพระพุทธศาสนาสอนไม่ใช่มองหาความผิดของคนอื่น ก็มีค่าเท่ากับทิ้งขยะให้รกสังคมนั่นเอง

พระพุทธเจ้าตรัสว่าคนชี้โทษเหมือนคนบอกขุมทรัพย์

การทำหน้าที่ชี้โทษจึงไม่ใช่เรื่องชั่วช้าเลวทราม

แต่ต้องทำด้วยกุศลจิต คือทำด้วยเจตนาจะให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องว่าผิดอย่างไร ที่ถูกเป็นอย่างไร เพื่อเป็นทางแก้ไขและป้องกันไม่ให้ทำเช่นนั้นอีก

———–

ผมเข้าใจว่า พวกเราส่วนมากไม่ค่อยเข้าใจว่า “จับผิด” กับ “ชี้โทษ” ต่างกันอย่างไร

“จับผิด” หมายถึง จ้องจับความผิดพลาดบกพร่องของคนอื่นด้วยเจตนาที่จะยกขึ้นประจานให้เขาเสียหาย หรือเพื่อจะกดให้เขาต่ำทรามลง

“ชี้โทษ” หมายถึง มองเห็นข้อผิดพลาดบกพร่องของคนอื่นแล้วหยิบขึ้นมาชี้ให้ดูด้วยเจตนาจะให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องว่าผิดอย่างไร ที่ถูกเป็นอย่างไร เพื่อเป็นทางแก้ไขและป้องกันไม่ให้ทำเช่นนั้นอีก

จับผิด มีเจตนาจะดูถูกคนอื่น

ชี้โทษ มีเจตนาที่จะให้ความรู้ความเข้าใจ

เราส่วนมากเอา “จับผิด” กับ “ชี้โทษ” ไปปนกัน หรือเข้าใจว่าเป็นอย่างเดียวกัน

ที่ว่า-เข้าใจว่าเป็นอย่างเดียวกัน-หมายถึงเห็นการชี้โทษเป็นการจับผิดไปหมด

ในเฟซบุ๊กซึ่งเป็นเสมือน “หนังสือพิมพ์ส่วนตัว” ของแต่ละท่านนี่เองก็ปรากฏอยู่เนืองๆ ถึงข้อความที่กล่าวเป็นใจความว่า

-อย่ามัวแต่คอยมองความผิดพลาดบกพร่องของคนอื่น 

-ควรมองเฉพาะการกระทำของตนเอง

โดยที่ไม่ได้ชี้ชัดว่าเป็นการมองอย่าง “จับผิด” หรือมองอย่าง “ชี้โทษ”

การที่พูดคลุมไปเช่นนี้ทำให้ดูเป็นว่า การหยิบเอาความผิดพลาดบกพร่องของใครขึ้นมาพูด ถือว่าเป็นการไม่ดี เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ 

ใครทำอะไรไม่ถูก ก็เป็นเรื่องของเขา 

ไม่ใช่หน้าที่ของเราที่จะเข้าไปยุ่งด้วย 

ไม่ควรพูดถึง คือควรปล่อยไปตามเรื่องของเขา

ความคิดแบบนี้ก็เท่ากับเปิดโอกาสให้คนทำผิดคงทำผิดได้ต่อไป

สำหรับคนที่ทำผิดเพราะไม่รู้ เมื่อไม่มีใครทักท้วง ก็ย่อมจะเข้าใจว่าสิ่งที่เขาทำนั้นถูกต้องแล้ว คือเข้าใจว่าผิดนั้นเป็นถูก 

อาจอ้างต่อไปด้วยว่า ถ้าผิดก็จะต้องมีคนทักท้วงไปแล้วสิ นี่ไม่เห็นมีใครว่าอะไรนี่ 

ถ้าเป็นเช่นนี้มากเข้านานเข้า ผิดนั้นก็จะกลายเป็นถูกไป

สำหรับคนที่ทำผิดชนิดทำชั่ว (ผิด-ทุจริต) การไม่ทักท้วงมีค่าเท่ากับปล่อยให้คนผิดลอยนวลอยู่ได้อย่างสบาย 

เป็นการปกป้องคนทำผิดไปโดยปริยาย 

และเป็นการส่งเสริมให้คนทำผิดได้ใจ 

ต่อไปก็ทำผิดได้อีกโดยไม่ต้องกลัวว่าจะมีใครรู้ เพราะรู้ว่าไม่มีใครว่าอะไรหรือทำอะไรได้

ในที่สุดสังคมก็จะมากไปด้วยคนที่กล้าทำผิดโดยเปิดเผย แม้จะมีใครรู้ก็ไม่กลัวและไม่รู้สึกอายกันอีกต่อไป

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *