บาลีวันละคำ

บอกอนุศาสน์ (บาลีวันละคำ 1,861)

บอกอนุศาสน์

ชาววัดที่ชาวบ้านควรรู้จัก

อ่านว่า บอก-อะ-นุ-สาด

ประกอบด้วย บอก + อนุ + ศาสน์

(๑) “บอก” เป็นคำไทย

เพื่อเตือนความเข้าใจ ขอยกคำนิยามตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 มาบอกไว้ดังนี้ –

บอก : (คำกริยา) พูดให้รู้, เล่าให้ฟัง, เช่น บอกกันต่อ ๆ มา บอกอาการให้หมอฟัง; บ่งให้รู้ เช่น สัญญาณบอกเหตุร้าย อีกาบอกข่าว; แนะนํา เช่น บอกให้ทําอย่างนั้นอย่างนี้, สอน เช่น อย่าบอกหนังสือสังฆราช; รายงาน เช่น ใบบอก.”

(๒) “อนุ” เป็นคำอุปสรรค แปลว่า น้อย, ภายหลัง, ตาม, เนืองๆ

(๓) “ศาสน์

บาลีเป็น “สาสน” (สา-สะ-นะ) รากศัพท์มาจาก

(1) สาส (ธาตุ = สั่งสอน) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: สาสฺ + ยุ > อน = สาสน แปลตามศัพท์ว่า (1) “คำอันท่านสั่งสอน” (2) “คำเป็นเครื่องสั่งสอนชาวโลกพร้อมทั้งเทวโลก

(2) สสฺ (ธาตุ = เบียดเบียน) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), ทีฆะต้นธาตุ คือ อะ ที่ -(สฺ) เป็น อา (สสฺ > สาสฺ)

: สสฺ + ยุ > อน = สสน > สาสน แปลตามศัพท์ว่า “คำสั่งสอนที่เบียดเบียนกิเลส

สาสน” ในบาลีใช้ในความหมาย 3 อย่าง คือ –

(1) คำสอน = teaching หรือที่เรียกทับศัพท์ว่า “ศาสนา

(2) คำสั่ง (ในทางปกครองบังคับบัญชา) = order (to rule, govern)

(3) ข่าว = message คือที่เราคุ้นกันในคำว่า “สาส์น” (สาน)

ในที่นี้ “สาสน” หมายถึง คำสอน หรือ การสั่งสอน

อนุ + สาสน = อนุสาสน (อะ-นุ-สา-สะ-นะ) แปลตามศัพท์ว่า “การสอนตาม” “การสอนเนืองๆ” หมายถึง การแนะนำ, การสั่งสอน, การตักเตือน (advice, instruction, admonition)

บาลี “อนุสาสน” สันสกฤตเป็น “อนุศาสน

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

อนุศาสน : (คำนาม) บัญชา, คำสั่ง, วินัย; command, order, precept.”

อนุสาสน” ในภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “อนุศาสน์” (อะ-นุ-สาด)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อนุศาสน์ : (คำนาม) การสอน; คําชี้แจง. (ส.; ป. อนุสาสน).”

บอก + อนุศาสน์ = บอกอนุศาสน์ แปลว่า “บอกข้อที่ควรแนะนำสั่งสอน

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต อธิบายความหมายของ “บอกอนุศาสน์” ไว้ที่คำว่า “อนุศาสน์” ดังนี้ –

อนุศาสน์ : การสอน, คำชี้แจง; คำสอนที่อุปัชฌาย์หรือกรรมวาจาจารย์บอกแก่ภิกษุใหม่ในเวลาอุปสมบทเสร็จ ประกอบด้วย นิสสัย ๔ และ อกรณียกิจ ๔,

นิสสัย คือ ปัจจัยเครื่องอาศัยของบรรพชิต มี ๔ อย่างได้แก่

๑. เที่ยวบิณฑบาต

๒. นุ่งห่มผ้าบังสุกุล

๓. อยู่โคนไม้

๔. ฉันยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า (ท่านบอกไว้เป็นทางแสวงหาปัจจัย ๔ พร้อมทั้งอติเรกลาภของภิกษุ),

อกรณียกิจ กิจที่ไม่ควรทำ หมายถึงกิจที่บรรพชิตทำไม่ได้ มี ๔ อย่าง ได้แก่

๑. เสพเมถุน

๒. ลักของเขา

๓. ฆ่าสัตว์ (ที่ให้ขาดจากความเป็นภิกษุ หมายเอาฆ่ามนุษย์)

๔. พูดอวดคุณวิเศษที่ไม่มีในตน

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้า 227 ข้อมากเกินไป ก็จะขอไว้แค่ 2 ข้อ-งามๆ

: คือ 1 เว้นข้อที่ท่านห้าม และ 2 ทำตามข้อที่ท่านอนุญาต

: เพียงเท่านี้พระพุทธศาสน์ ก็แสนจะผุดผาดผ่องอำไพ

14-7-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย