เอกภัตติกะ (บาลีวันละคำ 1,862)
เอกภัตติกะ
ฉันมื้อเดียวคืออย่างไร
อ่านว่า เอ-กะ-พัด-ติ-กะ
แยกศัพท์เป็น เอก + ภัตติกะ
(๑) “เอก”
บาลีอ่านว่า เอ-กะ รากศัพท์มาจาก อิ (ธาตุ = ไป, เป็นไป, ตั้งอยู่) + ณฺวุ ปัจจัย, แผลง อิ เป็น เอ, แปลง ณฺวุ เป็น อก
: อิ > เอ + ณฺวุ = เอณฺวุ > เอก แปลตามศัพท์ว่า (1) “ไปตามลำพัง” (คือไม่มีเพื่อนไปด้วย) (2) “ดำรงอยู่ในความเป็นหนึ่งเดียวเพราะไร้ผู้เหมือนกัน”
“เอก” ในบาลีใช้ใน 2 สถานะ คือ :
(1) เป็นสังขยา (คำบอกจำนวน) เช่น “ชายหนึ่งคน” เน้นที่จำนวน 1 คน = มุ่งจะกล่าวว่าชายที่เอ่ยถึงนี้มีเพียง “หนึ่งคน”
(2) เป็นคุณศัพท์ เช่น “ชายคนหนึ่ง” ไม่เน้นที่จำนวน = มุ่งจะกล่าวถึงชายคนใดคนหนึ่งเท่านั้น
“เอก” หมายถึง หนึ่ง, หนึ่งเดียว, ดีที่สุด
(๒) “ภัตติกะ”
บาลีเป็น “ภตฺติก” อ่านว่า พัด-ติ-กะ รูปศัพท์เดิมคือ ภตฺต + อิก ปัจจัย
(ก) “ภตฺต” (พัด-ตะ) รากศัพท์มาจาก –
(1) ภชฺ (ธาตุ = เสพ, คบหา) + ต ปัจจัย, แปลง ชฺ เป็น ตฺ
: ภชฺ + ต = ภชต > ภตฺต แปลตามศัพท์ว่า “ของเป็นเครื่องเสพ”
(2) ภุชฺ (ธาตุ = กลืนกิน, ใช้สอย) + ต ปัจจัย, แปลง อุ ที่ ภุ-(ชฺ) เป็น อ (ภุ > ภ), แปลง ชฺ เป็น ตฺ
: ภุชฺ + ต = ภุชต > ภชต > ภตฺต แปลตามศัพท์ว่า “ของที่จะพึงกลืนกิน”
“ภตฺต” (นปุงสกลิงค์) หมายถึง อาหาร, ของบำรุงเลี้ยงร่างกาย, อาหารที่เป็นมื้อ, การเลี้ยง (food, nourishment, meal, feeding)
ตามกฎการประสมคำ ท่านให้เอา เอก กับ ภตฺต สมาสกันก่อน
เอก + ภตฺต = เอกภตฺต แปลว่า “ภัตครั้งเดียว” หมายถึง อาหารมื้อเดียว
(ข) เอกภตฺต + อิก ปัจจัย = เอกภตฺติก แปลว่า “ผู้มีภัตครั้งเดียว” หมายถึง ผู้บริโภคอาหารวันละครั้ง (having one meal a day) เขียนแบบไทยเป็น “เอกภัตติกะ”
ขยายความ:
“เอกภัตติกะ = ผู้มีภัตครั้งเดียว” หรือ “ฉันมื้อเดียว” หมายถึงอย่างไร?
ตรงนี้ต้องเข้าใจธรรมเนียม “มื้ออาหาร” ของชาวชมพูทวีปก่อน
“มื้ออาหาร” ของชาวชมพูทวีปมี 2 เวลา คือ –
1. “ปาตราส” (ปา-ตะ-รา-สะ) รากศัพท์มาจาก ปาโต (ศัพท์นิบาต = เวลาเช้า) + อสฺ (ธาตุ = กิน) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ลง ร อาคมระหว่างบทหน้า คือ ปาโต กับธาตุ (ปาโต + ร + อสฺ), “ลบสระหน้า ทีฆะสระหลัง” คือลบ โอ ที่ ปาโต (ปาโต > ปาต) ทีฆะ อะ ที่ อ-(สฺ) เป็น อา (อสฺ > อาส)
: ปาโต > ปาต + ร + อสฺ = ปาตรสฺ + ณ = ปาตรสณ > ปาตรส > ปาตราส (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “อาหารที่พึงกินในตอนเช้า” หมายถึง อาหารในตอนเช้า, อาหารเช้า (morning meal, breakfast) เขียนแบบไทยเป็น “ปาตราสะ”
2. “สายมาส” (สา-ยะ-มา-สะ) รากศัพท์มาจาก สายํ (ศัพท์นิบาต = เวลาเย็น) + อสฺ (ธาตุ = กิน) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แปลงนิคหิตที่ สายํ เป็น ม (สายํ > สายม), “ทีฆะสระหลัง” คือ อะ ที่ อ-(สฺ) เป็น อา (อสฺ > อาส)
: สายํ > สายม + อสฺ = สายมสฺ + ณ = สายมสณ > สายมส > สายมาส (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “อาหารที่พึงกินในเวลาเย็น” หมายถึง อาหารมื้อสุดท้ายของวัน (supper อาจรวมทั้ง dinner) เขียนแบบไทยเป็น “สายมาสะ”
สรุปว่า การรับประทานอาหารของคนทั่วไปมี 2 มื้อ คือ –
๑. “ปาตราสะ” มื้อเช้า กำหนดตั้งแต่อรุณขึ้นจนถึงเที่ยงวัน
๒. “สายมาสะ” มื้อเย็น กำหนดตั้งแต่เที่ยงวันขึ้นจนถึงรุ่งอรุณวันใหม่
ภิกษุในพระพุทธศาสนาถือหลัก “เอกภัตติกะ” ฉันมื้อเดียว ในความหมายว่าฉันเฉพาะ “ปาตราสะ” มื้อเช้า คือตั้งแต่อรุณขึ้นจนถึงเที่ยงวัน
แต่ในระหว่างเช้าถึงเที่ยงวัน จะฉันกี่ครั้งก็ได้ นี่คือ “ฉันมื้อเดียว” ตามความหมายในคัมภีร์
แต่ในความเข้าใจของคนไทยทั่วไป “ฉันมื้อเดียว” หมายถึงระหว่างเช้าถึงเที่ยงวันฉันเพียงครั้งเดียว
เพราะฉะนั้น พระทั่วไปในเมืองไทยที่ฉันเช้าครั้งหนึ่ง และฉันเพลอีกครั้งหนึ่ง คนไทยจะพูดว่า “ฉันสองมื้อ” ซึ่งการฉันเช่นนี้ตามความหมายในคัมภีร์ก็คือ “เอกภัตติกะ” ฉันมื้อเดียว
…………..
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “ฉันมื้อเดียว” อธิบายไว้ดังนี้ –
ฉันมื้อเดียว : ข้อความภาษาไทยนี้ ในแง่ธรรมวินัย ยังมีความหมายกำกวม เมื่อจะทำความเข้าใจ พึงแยกเป็น ๒ นัย คือ
๑. ตามคำบรรยายวิถีชีวิตของพระภิกษุ เช่น ในจูฬศีล ว่า ภิกษุเป็นผู้ “ฉันมื้อเดียว” นี้คือคำแปลจากคำบาลีว่า “เอกภัตติกะ” ซึ่งแปลรักษาศัพท์ว่า “มีภัตเดียว” ตามวัฒนธรรมของชมพูทวีปสมัยนั้น ภัต หมายถึงอาหารที่จัดเป็นมื้อตามช่วงเวลาของวัน ซึ่งมีมื้อหลัก ๒ มื้อ คือ ปาตราสภัต (มื้อเช้า) ได้แก่อาหารที่กินในช่วงเช้าถึงก่อนเที่ยงวัน และสายมาสภัต (มื้อสาย, สายในภาษาบาลี คือคำเดียวกับสายัณห์) ได้แก่อาหารที่กินในช่วงหลังเที่ยงวันถึงก่อนอรุณวันใหม่ ตามความหมายนี้ ภิกษุฉันมื้อเดียว (มีภัตเดียว) จึงหมายถึง ฉันอาหารมื้อก่อนเที่ยงวันที่ว่ามานี้ ตรงกับข้อความบาลีที่นำมาให้ครบว่า (เช่น ที.สี.๙/๑๐๓/๘๔) “เอกภตฺติโก โหติ รตฺตูปรโต วิรโต วิกาลโภชนา” (แปลว่า: เป็นผู้ฉันมื้อเดียว/มีภัตเดียว งดอาหารค่ำคืน เว้นจากโภชนะนอกเวลา) นี่คือ เมื่อบอกว่าฉันมื้อเดียวแล้ว ก็อาจถามว่ามื้อไหน จึงพูดกันช่วงเวลาใหญ่คือกลางคืนที่ตรงข้ามกับกลางวันออกไปก่อน แล้วก็กำกับท้ายว่า ถึงแม้ในช่วงกลางวันนั้น ก็ไม่ฉันนอกเวลา คือไม่เลยเที่ยงวัน โดยนัยนี้ ภิกษุตามปกติจึงเป็นผู้ฉันภัตเดียวคืออาหารมื้อก่อนเที่ยงวันนี้ และอรรถกถาจึงอธิบายว่า ฉันมื้อเดียวนี้ ถึงจะฉัน ๑๐ ครั้ง เมื่อไม่เลยเที่ยง ก็เป็น เอกภัตติกะ (เช่น ที.อ.๑/๑๐/๗๔)
๒. ภิกษุตามปกติเป็นเอกภัตติกะฉันมื้อเดียวนี้แหละ เมื่อจะฝึกตนให้ยิ่งขึ้นไปอีก อาจปฏิบัติให้เคร่งครัด โดยเป็นเอกาสนิกะ แปลว่า “ผู้ฉันที่นั่งเดียว” หรือฉันที่อาสนะเดียว หมายความว่า ในวันหนึ่งๆ ก่อนเที่ยงนั้น เมื่อลงนั่งฉันจนเสร็จ ลุกจากที่นั่นแล้วจะไม่ฉันอีกเลย นี่คือฉันมื้อเดียวในความหมายว่าฉันวันละครั้งเดียว (เป็นทั้งเอกภัตติกะ และเอกาสนิกะ) และถ้าต้องการ จะถือปฏิบัติจริงจังเป็นวัตรเลยก็ได้ เรียกว่าถือธุดงค์ ข้อ “เอกาสนิกังคะ” โดยสมาทานว่า (เช่น วิสุทธิ.๑/๘๕) “นานาสนโภชนํ ปฏิกฺขิปามิ เอกาสนิกงฺคํ สมาทิยามิ” (แปลว่า: ข้าพเจ้างดการฉันที่อาสนะต่างๆ ข้าพเจ้าสมาทานองค์แห่งภิกษุผู้มีการฉันที่อาสนะเดียวเป็นวัตร) ผู้ที่เป็นเอกาสนิกะอย่างเคร่งที่สุด (เรียกว่าถืออย่างอุกฤษฏ์) เมื่อนั่งลงเข้าที่ ตนมีอาหารเท่าใดก็ตาม พอหย่อนมือลงที่โภชนะจะฉัน ก็ไม่รับอาหารเพิ่มเติมใดๆ อีก จนลุกจากที่ทีเดียว;
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ถ้าคิดจะอยู่กันเพียงมีลมหายใจ
ก็คิดแค่ทำอย่างไรจึงจะมีกิน
: ถ้าคิดจะฝากชื่อไว้ในแผ่นดิน
ต้องคิดว่าโอกาสทำดีมีทุกลมหายใจ
15-7-60