บาลีวันละคำ

พระยาธรรมมิคฆะราช (บาลีวันละคำ 1,860)

พระยาธรรมมิคฆะราช

ตัวอย่างคำเคลื่อนคลาดในการสื่อสาร

เบื้องต้น พึงทราบว่าคำที่สะกดเป็น “ธรรมมิคฆะราช” เช่นนี้ ไม่มี

มีแต่ “ธรรมิกราช” อ่านว่า ทำ-มิ-กะ-ราด

ประกอบด้วย ธรรมิก + ราช

(๑) “ธรรมิก

บาลีเป็น “ธมฺมิก” (ทำ-มิ-กะ) ประกอบด้วย ธมฺม + อิก ปัจจัย

(ก) “ธมฺม” (ทำ-มะ) รากศัพท์มาจาก ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + รมฺม (ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (ธรฺ > ) และ ต้นปัจจัย (รมฺม > มฺม)

: ธรฺ > + รมฺม > มฺม : + มฺม = ธมฺม แปลตามศัพท์ว่า “สภาพที่ทรงไว้

ธมฺม” สันสกฤตเป็น “ธรฺม” เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “ธรรม

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “ธรรม” ในภาษาไทยไว้ดังนี้ –

(1) คุณความดี เช่น เป็นคนมีธรรมะ เป็นคนมีศีลมีธรรม

(2) คําสั่งสอนในศาสนา เช่น แสดงธรรม ฟังธรรม ธรรมะของพระพุทธเจ้า

(3) หลักประพฤติปฏิบัติในศาสนา เช่น ปฏิบัติธรรม ประพฤติธรรม

(4) ความจริง เช่น ได้ดวงตาเห็นธรรม

(5) ความยุติธรรม, ความถูกต้อง, เช่น ความเป็นธรรมในสังคม

(6) กฎ, กฎเกณฑ์, เช่น ธรรมะแห่งหมู่คณะ

(7) กฎหมาย เช่น ธรรมะระหว่างประเทศ

(8) สิ่งของ เช่น เครื่องไทยธรรม

(ข) ธมฺม + อิก = ธมฺมิก แปลตามศัพท์ว่า “ประกอบด้วยธรรม” หรือ “ตั้งอยู่ในธรรม

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ธมฺมิก” ไว้ดังนี้ –

(1) lawful, according to the Dhamma or the rule (ชอบด้วยกฎหมาย, ถูกตามธรรมหรือกฎเกณฑ์)

(2) proper, fit, right (สมควร, เหมาะสม, ถูกต้อง)

(3) permitted, legitimate, justified (ได้รับอนุญาต, ถูกกฎหมาย, มีเหตุผลถูกต้อง)

(4) righteous, honourable, of good character, just (ชอบธรรม, มีเกียรติ, มีอุปนิสัยดี, ยุติธรรม)

ธมฺมิก” เขียนอิงสันสกฤตเป็น “ธรรมิก

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ธรรมิก, ธรรมิก– : (คำวิเศษณ์) ประกอบในธรรม, ประพฤติเป็นธรรม, ทรงธรรม, เช่น ธรรมิกราช สหธรรมิก. (ส.; ป. ธมฺมิก).”

(๒) “ราช

บาลีอ่านว่า รา-ชะ แปลตามรากศัพท์ว่า –

(1) “ผู้รุ่งเรืองโดยยิ่งเพราะมีเดชานุภาพมาก

ความหมายนี้ประกอบขึ้นจาก ราชฺ (ธาตุ = รุ่งเรือง) + ปัจจัย = ราช

หมายความว่า ผู้เป็นพระราชาย่อมมีเดชานุภาพมากกว่าคนทั้งหลาย

(2) “ผู้ยังคนทั้งหลายให้ยินดี

ความหมายนี้ประกอบขึ้นจาก รญฺชฺ (ธาตุ = ยินดี พอใจ) + ปัจจัย, ลบ ลบ ญฺ แผลง เป็น รา = ราช

หมายความว่า เป็นผู้อำนวยความสุขให้ทวยราษฎร์ จนคนทั้งหลายร้องออกมาว่า “ราชา ราชา” (พอใจ พอใจ)

ราช” หมายถึง พระราชา, พระเจ้าแผ่นดิน ใช้นำหน้าคำให้มีความหมายว่า เป็นของพระเจ้าแผ่นดิน, เกี่ยวกับพระเจ้าแผ่นดิน หรือเป็นของหลวง

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ราช ๑, ราช– : (คำนาม) พระเจ้าแผ่นดิน, พญา (ใช้แก่สัตว์) เช่น นาคราช คือ พญานาค สีหราช คือ พญาราชสีห์, คํานี้มักใช้ประกอบกับคําอื่น, ถ้าคําเดียวมักใช้ว่า ราชา.”

ธมฺมิก + ราช = ธมฺมิกราช > ธรรมิกราช แปลว่า “พระราชาผู้ประกอบด้วยธรรม

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ธมฺมิกราช” ว่า a righteous King (ราชาผู้เที่ยงธรรม)

ในคัมภีร์จะพบคำว่า ธมฺมิโก ราชา ซึ่งก็คือ “ธมฺมิกราช” ได้ทั่วไป

…………..

อภิปราย :

คำว่า “ธรรมิกราช” อ่านว่า ทํา-มิก-กะ-ราด ถ้าออกเสียงตามสะดวกปาก ไม่เน้นคำให้ชัด ตรงคำว่า มิก-กะ ย่อมเพี้ยนเป็น มิก-คะ ได้ง่ายมาก

เมื่อได้ยินเป็น ทำ-มิก-คะ เช่นนี้แล้ว พอจะถ่ายทอดเป็นตัวอักษรก็เกิดปัญหาว่าจะสะกดอย่างไร เสียง -มิก-คะ- แบบนี้รูปคำที่คุ้นตามากที่สุดก็คือ “มิค” (ศัพท์นี้แปลว่า เก้ง กวาง คือที่เรียกรวมๆ ว่า “เนื้อ”)

รูปคำ “มิค” ชวนให้อ่านสั้นๆ ว่า มิก

แต่ครั้นมีเสียง -คะ- (มิก-คะ) ตามมาอีกพยางค์หนึ่ง ก็เกิดปัญหาว่าจะเป็น คะ ตัวไหน เพราะภาษาไทยมีเสียง คะ 3 ตัว คือ ค ควาย ฅ คน (ฅ หัวหยัก) และ ฆ ระฆัง

ฅ คน เลิกใช้แล้ว ตัดออกไปได้

ค ควาย ก็เพิ่งสะกด มิค– มาหยกๆ

คงเหลือ ฆ ระฆัง เข้าทีมาก เพราะหน้าตาชวนให้เป็นบาลีสันสกฤตดี

คำว่า “ธรรมิกราช” ได้ยินเสียงเป็น ทํา-มิก-คะ-ราด จึงถูกสะกดออกมาเป็น “ธรรมมิคฆะราช” ด้วยประการฉะนี้

ที่ว่ามานี้เป็นความพยายามที่จะอ่านใจวิธีคิดของผู้เขียนคำนี้ ซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะไม่คุ้นกับคำวัดและไม่สันทัดบาลี

คำเทียบที่นึกออกในเวลานี้ก็อย่างเช่นคำว่า “เพชฉลูกรรม” (เพ็ด-ฉะ-หฺลู-กํา) ใครจะนึกบ้างว่าเพี้ยนมาจากคำว่า “พิษณุกรรม” คือ วิษณุกรรมหรือวิศวกรรม นี่ก็เกิดจากฟังไม่ชัดแล้วสะกดคำไปตามใจคิด

อนึ่ง ผู้รู้ท่านแนะนำว่า คำว่า “พระยา” นั้นเป็นบรรดาศักดิ์ข้าราชการผู้ใหญ่ที่ต้องได้รับพระราชทาน จึงไม่ควรใช้กับผู้ที่ไม่มีฐานะเป็นข้าราชการหรือไม่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์มาจากใคร หรือใช้กับสัตว์ก็ไม่ควร

ถ้าอยากใช้คำที่มีเสียงเช่นนั้น ท่านแนะให้ใช้คำว่า “พญา” อ่านว่า พะ-ยา เช่น พญานาค พญาหงส์ หรือพญาราชสีห์ ไม่ควรใช้ว่า พระยานาค พระยาหงส์ พระยาราชสีห์

แต่ผู้ที่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ เช่น พระยาศรีสุนทรโวหาร พระยาอนุมานราชธน จะเขียนเป็น พญาศรีสุนทรโวหาร หรือ พญาอนุมานราชธน ดังนี้ หาได้ไม่ ต้องสะกดเป็น “พระยา-” จึงจะถูกต้อง

ในที่นี้ “พระยาธรรมมิคฆะราช” ไม่ใช่ “พระยา-” ที่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ จึงควรเขียนเป็น “พญาธรรมมิคฆะราช” แต่ไม่ใช่คำที่ถูกต้อง

คำที่ถูกต้อง คือ “พญาธรรมมิกราช” อ่านว่า พะ-ยา-ทํา-มิก-กะ-ราด

…………..

ดูก่อนภราดา!

: จงคิดทุกคำที่เขียน

: แต่อย่าเขียนทุกคำที่คิด

13-7-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย