เทววาจิกสรณคมน์ (บาลีวันละคำ 1,865)
เทววาจิกสรณคมน์
ถ้าไม่บอก จะอ่านถูกไหม?
อ่านว่า ทะ-เว-วา-จิ-กะ-สะ-ระ-นะ-คม
แยกศัพท์เป็น เทว + วาจิก + สรณ + คมน์
(๑) “เทว”
คำนี้บาลีเป็น “เทฺว” มีจุดใต้ ทฺ ซึ่งบังคับให้ ทฺ กับ ว ต้องออกเสียงควบกัน อ่านว่า ทะ-เว ออกเสียง ทะ แผ่วๆ หรือลองพูดคำไทยว่า “ทวย” นั่นคือเสียงที่ใกล้เคียงที่สุดของคำว่า “เทฺว”
และโปรดเข้าใจไว้ว่า คำนี้ ภาษาไทย “เทว” ไม่ได้อ่าน เท-วะ ที่แปลว่า เทวดา แต่อ่านว่า ทะ-เว
“เทฺว” เป็นศัพท์สังขยา คือคำนับจำนวน แปลว่า “สอง” (จำนวน 2)
(๒) “วาจิก”
บาลีอ่านว่า วา-จิ-กะ รูปคำเดิมคือ วาจา + อิก ปัจจัย
(ก) “วาจา” (วา-จา) รากศัพท์มาจาก วจฺ (ธาตุ = พูด) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, “ทีฆะต้นธาตุ” คือ อะ ที่ ว-(จฺ) เป็น อา (วจฺ > วาจ) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: วจฺ + ณ = วจณ > วจ > วาจ + อา = วาจา แปลตามศัพท์ว่า “คำอันเขาพูด” หมายถึง คำพูด การกล่าวการพูด, วาจา (word, saying, speech)
(ข) วาจา + อิก ปัจจัย, “ลบสระหน้า” คือ อา ที่ (วา)-จา (วาจา > วาจ)
: วาจา > วาจ + อิก = วาจิก แปลตามศัพท์ว่า “ผู้กล่าวถ้อยคำ” คือ ผู้เปล่งวาจาหรือประกาศตนให้ผู้อื่นทราบว่าตนเป็นใคร หรือทำอะไร
(๓) “สรณ”
บาลีอ่านว่า สะ-ระ-นะ รากศัพท์มาจาก สรฺ (ธาตุ = คิดถึง, ระลึกได้) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แปลง น เป็น ณ
: สรฺ + ยุ > อน = สรน > สรณ แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งเป็นเครื่องระลึก” (2) “การระลึก”
“สรณ” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) ที่กำบัง, บ้าน (shelter, house)
(2) ที่พึ่ง, สรณะ (refuge, protection)
(๔) “คมน์”
บาลีเป็น “คมน” อ่านว่า คะ-มะ-นะ รากศัพท์มาจาก คมฺ (ธาตุ = ถึง, ไป) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)
: คมฺ + ยุ > อน = คมน แปลตามศัพท์ว่า (1) “การไป” (2) “การถึง”
“คมน” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) การไป, การเคลื่อนไหว, การเดินทาง, การเดินไป; ความพยายาม, การนำไป, การติดตาม (the fact or the state of going, movement, journey, walk; striving for, the leading of, pursuit)
(2) ไปหรือนำไป, ดำเนินไป (going or leading to, conducive to)
การประสมคำ :
๑. เทฺว + วาจิก = เทฺววาจิก (ทะ-เว-วา-จิ-กะ) แปลว่า “ผู้กล่าววาจาถึงสิ่งทั้งสอง” คือเปล่งวาจาถึงพระพุทธรัตนะและพระธรรมรัตนะ ในภาษาไทยเขียน “เทววาจิก” (ไม่มีจุดใต้ ท)
(๒) สรณ + คมน = สรณคมน (สะ-ระ-นะ-คะ-มะ-นะ) แปลว่า “การถึง-ว่าเป็นสรณะ” (ถึงสิ่งใด สิ่งนั้นก็เป็นสรณะของผู้นั้น)
เทววาจิก + สรณคมน = เทววาจิกสรณคมน (ทะ-เว-วา-จิ-กะ-สะ-ระ-นะ-คะ-มะ-นะ) แปลว่า “การถึงสรณะของผู้เปล่งวาจาถึงสิ่งทั้งสอง” คือเปล่งวาจาถึงพระพุทธรัตนะและพระธรรมรัตนะว่าเป็นสรณะ
ในภาษาไทยใช้เป็น “เทววาจิกสรณคมน์” (การันต์ที่ น) อ่านว่า ทะ-เว-วา-จิ-กะ-สะ-ระ-นะ-คม
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“เทววาจิกสรณคมน์ : (คำนาม) การเปล่งวาจาถึงรัตนะ ๒ คือ พระพุทธเจ้าและพระธรรมว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึก เพราะเวลานั้นยังไม่มีพระสงฆ์ เป็นสรณคมน์ที่ตปุสสะและภัลลิกะกล่าวหลังจากที่ได้ถวายข้าวสัตตุก้อนสัตตุผงแด่พระพุทธเจ้าในสัปดาห์ที่ ๔ หลังจากตรัสรู้.”
…………..
อภิปราย :
คำนี้มีปัญหาที่คำว่า “เทว” (ไม่มีจุดใต้ ท ทั้งนี้ก็เป็นไปตามอักขรวิธีของไทย) ซึ่งทำเกิดปัญหาสำหรับผู้ที่ไม่รู้รากศัพท์ว่า จะต้องอ่านว่า เท-วะ หรือ ทะ-เว
ในพจนานุกรมฯ ก็แปลก เอารูปคำ “เทว” ที่อ่านต่างกันและความหมายต่างกันมาตั้งเป็น เทว– ๑ และ เทว– ๒ ขอยกมาให้ดูตามต้นฉบับดังนี้ –
เทว– ๑
[เทวะ-] (แบบ) น. เทวดา, มักใช้ประกอบหน้าศัพท์อื่น. (ป., ส.).
เทว– ๒
[ทะเว-] (แบบ) ว. สอง, มักใช้ประกอบหน้าศัพท์อื่น. (ป. เทฺว).
การที่เอาคนละคำคนละความหมายมาเข้าชุดกัน เป็น เทว- ๑ เทว- ๒ ชวนให้เข้าผิดอย่างยิ่ง คือทำให้เข้าใจว่าเป็นคำเดียวกัน แต่มีความหมาย 2 อย่าง
แต่ความจริงคือ เป็นคนละคำ คนละความหมาย อ่านก็ไม่เหมือนกันอยู่แล้ว คือคำหนึ่งอ่านว่า เท-วะ = เทวดา คำหนึ่งอ่านว่า ทะ-เว = สอง
ถ้าเขียนเป็นอักษรโรมันจะเห็นชัด
deva (เท-วะ) = เทวดา
dve (ทะ-เว) = สอง
ถ้าไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ผู้เขียนบาลีวันละคำขอเสนอให้เขียนคำนี้เป็น “ทเววาจิกสรณคมน์”
…………..
ดูก่อนภราดา!
คำเก่าท่านว่ากันมา-พึงสดับ
: พึ่งพระพุทธ อย่าสะดุดทองคำ
: พึ่งพระธรรม อย่านั่งคลำใบลาน
: พึ่งพระสงฆ์ อย่าหลงลูกหลานชาวบ้าน
…………
: เป็นปัจจัยแก่พระนิพพาน ในอนาคตกาลโน้นเทอญ
—————
(หยิบฉวยคำและภาพมาจากเฟซบุ๊กของ Pakorn Pukkahuta)
18-7-60