บาลีวันละคำ

คันถธุระ (บาลีวันละคำ 1,863)

คันถธุระ

ฤๅจะเป็น ‘ธุระไม่ใช่’?

อ่านว่า คัน-ถะ-ทุ-ระ

แยกศัพท์เป็น คันถ + ธุระ

(๑) “คันถ

บาลีเขียน “คนฺถ” อ่านว่า คัน-ถะ รากศัพท์มาจาก คนฺถฺ (ธาตุ = ผูก, แต่ง, ร้อยกรอง) + ปัจจัย

: คนฺถฺ + = คนฺถ แปลตามศัพท์ว่า (1) “การผูก” “สิ่งอันเขาใช้ผูก” (2) “คำอันท่านผูกไว้

คนฺถ” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) เครื่องผูกมัด, เครื่องร้อยรัด, เครื่องพันธนาการ (a bond, fetter, trammel)

(2) ความเรียง, ต้นฉบับ, หนังสือ (composition, text, book)

ในที่นี้ “คนฺถ” ใช้ตามความหมายในข้อ (2)

(๒) “ธุร

บาลีอ่านว่า ทุ-ระ รากศัพท์มาจาก –

(1) ธุพฺพิ (ธาตุ = เบียดเบียน) + อร ปัจจัย, ลบสระหน้า คือ อิ ที่ ธุพฺพิ และลบ พฺพ (ธุพฺพิ > ธุพฺพ > ธุ)

: ธุพฺพิ + อร = ธุพฺพิร > ธุพฺพร > ธุร แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เบียดเบียน

(2) ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + ปัจจัย, แปลง อะ ที่ -(รฺ) เป็น อุ (ธรฺ > ธุรฺ)

: ธรฺ + = ธร > ธุร แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเขาทรงไว้

ธุร” (ปุงลิงค์, นปุงสกลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) แอก, คานรถ (a yoke, a pole, the shaft of a carriage)

(2) สัมภาระ, น้ำหนักบรรทุก, ภาระ, หน้าที่, การรับผิดชอบ (a burden, load, charge, office, responsibility)

(3) ส่วนหน้า, ศีรษะ, ยอด, ข้างหน้า (the forepart of anything, head, top, front)

(4) หัวหน้า, ผู้นำ, บทบาทที่สำคัญ (chief, leader, leading part)

(5) ปลายสุด, ที่ตอนต้นหรือตอนปลาย (the far end, either as top or beginning)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ธุร-, ธุระ : (คำนาม) หน้าที่การงานที่พึงกระทำ, กิจในพระศาสนา มี ๒ อย่าง คือ การเล่าเรียน เรียกว่า คันถธุระ และ การปฏิบัติทางใจ เรียกว่า วิปัสสนาธุระ; (ปาก) เรื่อง, เรื่องส่วนตัว, เช่น นี่เป็นธุระของฉัน ไม่ใช่ธุระของคุณ. (ป., ส.).”

คนฺถ + ธุร = คนฺถธุร > คันถธุระ แปลตามศัพท์ว่า “ธุระเนื่องด้วยคันถะ

คันถธุระ” หมายถึง หน้าที่เกี่ยวกับตำรา, คือการศึกษาพระคัมภีร์ (the burden of the books, i. e. of studying the Scriptures)

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต แปล “คันถธุระ” ดังนี้ –

คันถธุระ (Ganthadhura) : the burden of studying the Scriptures; the burden of the books.”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

คันถธุระ : (คำนาม) การเรียนคัมภีร์ปริยัติ, คู่กับ วิปัสสนาธุระ การเรียนวิปัสสนา. (ป.; ส. คฺรนฺถ + ธุร).”

…………..

คำจำกัดความจากคัมภีร์ :

คัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถา ภาค 1 เรื่องพระจักขุบาลเถระ ให้ความหมายคำว่า “คันถธุระ” ไว้ดังนี้ –

อตฺตโน  ปญฺญานุรูเปน  เอกํ  วา  เทฺว  วา  นิกาเย 

สกลํ  วา  ปน  เตปิฏกํ  พุทฺธวจนํ  อุคฺคณฺหิตฺวา 

ตสฺส  ธารณํ  กถนํ  วาจนนฺติ  อิทํ  คนฺถธุรํ  นาม.

การเรียนนิกายหนึ่งก็ดี สองนิกายก็ดี

จบพุทธวจนะคือพระไตรปิฎกก็ดี

ตามสมควรแก่ปัญญาของตน

แล้วจำทรงไว้ บอกกล่าว สั่งสอนพุทธวจนะนั้น

ดังนี้ชื่อว่าคันถธุระ.

ดูเพิ่มเติม : “วิปัสสนาธุระ” บาลีวันละคำ (1,864) 17-7-60

…………..

ดูก่อนภราดา!

: การเรียนพระคัมภีร์คือหน้าที่ของพระ

: การศึกษาของพระจะเพี้ยน ถ้าพระไม่เรียนพระคัมภีร์

16-7-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย