พุทธันดร (บาลีวันละคำ 1,870)
พุทธันดร
อ่านว่า พุด-ทัน-ดอน
แยกศัพท์เป็น พุทธ + อันดร
(๑) “พุทธ”
บาลีเขียน “พุทฺธ” (มีจุดใต้ ทฺ) อ่านว่า พุด-ทะ รากศัพท์มาจาก พุธฺ (ธาตุ = รู้) + ต ปัจจัย, แปลง ธฺ ที่สุดธาตุเป็น ทฺ, แปลง ต เป็น ธฺ (นัยหนึ่งว่า แปลง ธฺ ที่สุดธาตุกับ ต เป็น ทฺธ)
: พุธฺ + ต = พุธฺต > พุทฺต > พุทฺธ (พุธฺ + ต = พุธฺต > พุทฺธ) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รู้ทุกอย่างที่ควรรู้”
“พุทฺธ” แปลตามศัพท์ได้เกือบ 20 ความหมาย แต่ที่เข้าใจกันทั่วไปมักแปลว่า –
(1) ผู้รู้ = รู้สรรพสิ่งตามความเป็นจริง
(2) ผู้ตื่น = ตื่นจากกิเลสนิทรา ความหลับไหลงมงาย
(3) ผู้เบิกบาน = บริสุทธิ์ผ่องใสเต็มที่
ความหมายที่เข้าใจกันเป็นสามัญ หมายถึง “พระพุทธเจ้า”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “พุทฺธ” ว่า –
one who has attained enlightenment; a man superior to all other beings, human & divine, by his knowledge of the truth, a Buddha (ผู้ตรัสรู้, ผู้ดีกว่าหรือเหนือกว่าคนอื่นๆ รวมทั้งมนุษย์และเทพยดาด้วยความรู้ในสัจธรรมของพระองค์, พระพุทธเจ้า)
“พุทฺธ” เขียนแบบไทยเป็น “พุทธ” (ไม่มีจุดใต้ ท)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“พุทธ, พุทธ-, พุทธะ : (คำนาม) ผู้ตรัสรู้, ผู้ตื่นแล้ว, ผู้เบิกบานแล้ว, ใช้เฉพาะเป็นพระนามของพระบรมศาสดาแห่งพระพุทธศาสนา เรียกเป็นสามัญว่า พระพุทธเจ้า. (ป.).”
…………..
สังเกตวิธีสะกดของพจนานุกรมฯ :
“พุทธ” คำเดียว แต่พจนานุกรมฯ ตั้งคำสะกดไว้ 3 แบบ หมายความว่าอย่างไร?
1- “พุทธ” สะกดแบบนี้ในกรณีที่ใช้คำเดียว หรืออยู่ท้ายคำ อ่านว่า พุด เช่น “คำว่าพุทธ” “ชาวพุทธ”
2- “พุทธ-” (มีขีดหลัง ธ-) สะกดแบบนี้หมายถึงกรณีมีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย อ่านว่า พุด-ทะ- ต่อด้วยคำที่มาสมาส เช่น “พุทธศาสนา” อ่านว่า พุด-ทะ-สาด-สะ-หฺนา (ไม่ใช่ พุด-สาด-สะ-หฺนา)
3-“พุทธะ” (มีสระ อะ หลัง ธ) สะกดแบบนี้ในกรณีที่ต้องการให้อ่านว่า พุด-ทะ และไม่มีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย (ถ้ามีคำอื่นมาสมาสข้างท้ายก็เป็นไปตามข้อ 2- คือต้องไม่มีสระ อะ เช่น “พุทธศาสนา” จะเขียนเป็น เช่น “พุทธะศาสนา” ไม่ได้)
(๒) “อันดร”
บาลีเป็น “อนฺตร” อ่านว่า อัน-ตะ-ระ รากศัพท์มาจาก อติ (ธาตุ = ผูก) + อร ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมต้นธาตุ (อติ > อํติ) แล้วแปลงนิคหิตเป็น นฺ (อํติ > อนฺติ), ลบสระที่สุดธาตุ (-ติ > ต)
: อติ > อํติ > อนฺติ > อนฺต + อร = อนฺตร (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “จุดที่ผูกสองข้างไว้” หมายถึง ภายใน, ระหว่าง (inside, in between)
“อนฺตร” ใช้ในภาษาไทยเป็น “อันดร” (อัน-ดอน)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อันดร : (คำนาม) ภายใน, ระหว่าง, มักใช้เข้าสนธิกับคําอื่น เป็นส่วนท้ายของคําสมาส เช่น พุทธ + อันดร = พุทธันดร นิร + อันดร = นิรันดร. (ป., ส. อนฺตร).”
ในบาลี พุทฺธ + อนฺตร = พุทฺธนฺตร (พุด-ทัน-ตะ-ระ) แปลตามศัพท์ว่า “ระหว่างแห่งพระพุทธเจ้า”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “พุทฺธนฺตร” ว่า a Buddha-interval, the period between the appearance of one Buddha & the next (ระยะว่างระหว่างพระพุทธเจ้า, ยุคในระหว่างความปรากฏขึ้นของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งกับองค์ถัดไป)
ในภาษาไทย พุทธ + อันดร เป็น “พุทธันดร”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“พุทธันดร : (คำนาม) ช่วงเวลาที่โลกว่างพระพุทธศาสนา คือ ช่วงเวลาที่ศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งสูญสิ้นแล้ว และพระพุทธเจ้าพระองค์ใหม่ยังไม่อุบัติ. (ป. พุทฺธนฺตร).”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต อธิบายไว้ว่า –
“พุทธันดร : ช่วงเวลาในระหว่างแห่งสองพุทธุปบาทกาล, ช่วงเวลาในระหว่าง นับจากที่ศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งสูญสิ้นแล้ว จนถึงพระพุทธเจ้าพระองค์ใหม่เสด็จอุบัติ คือช่วงเวลาที่โลกว่างพระพุทธศาสนา, คำนี้ บางทีใช้ในการนับเวลา เช่นว่า ‘บุรุษนั้น … เที่ยวเวียนว่ายอยู่ตลอด ๖ พุทธันดร …’ ”
…………..
อภิปราย :
ควรทราบว่า พระพุทธเจ้าที่เสด็จอุบัติแล้วในโลกมีหลายพระองค์ แต่จะเสด็จอุบัติขึ้นคราวละ 1 พระองค์เท่านั้น กล่าวคือ ศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งสูญสิ้นแล้วพระพุทธเจ้าพระองค์ใหม่จึงจะเสด็จอุบัติ = จะไม่มีพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน 2 พระองค์
เมื่อศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งสูญสิ้นแล้ว ก็มิใช่ว่าพระพุทธเจ้าพระองค์ใหม่จะเสด็จอุบัติทันทีแบบเชื่อมต่อกันไม่ขาดตอน หากแต่จะมีช่วงเวลาที่โลกว่างจากพระศาสนาคือไม่มีพระพุทธเจ้ามาตรัส
เทียบพอให้เข้าใจก็เหมือนที่เราพูดกันว่า “เว้นวรรคทางการเมือง” ช่วงเวลาที่ “เว้นวรรค” นี่แหละคือ “พุทธันดร”
“พุทธันดร” ระหว่างพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์จะยาวนานไม่เท่ากัน เช่น –
เมื่อศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์ที่แล้วคือพระกัสสปพุทธเจ้าเสื่อมสิ้นไป เป็นเวลานาน 1 อันตรกัป พระโคดมพุทธเจ้าของเราจึงมาตรัส
เมื่อศาสนาของพระโคดมพุทธเจ้าเสื่อมสิ้นไป (ซึ่งกำหนดกันว่าห้าพันปีนับจากเสด็จดับขันธปรินิพพาน) เป็นเวลานาน 1 อสงไขย พระศรีอริยเมตไตรยจึงจะมาตรัส
(ศึกษาเพิ่มเติมจากคัมภีร์ อนาคตวงศ์)
“พุทธันดร” มีความหมายโดยนัยถึงช่วงเวลาที่ยาวนานนักหนาจนเหลือที่จะกำหนดนับ ดังคำที่พูดกันว่า นานนับกัปกัลป์พุทธันดร ….
…………..
ดูก่อนภราดา!
มองโลกในแง่ดีกันเถอะ
: โลกว่างพระศาสนา น่ายินดีนี่กระไร
: จะได้มีเวลาเปลี่ยนใจ ไม่ต้องไปอเวจี
—————-
(ตามคำขอของ Tawee Thichai)
23-7-60