บาลีวันละคำ

ปิหกํ (บาลีวันละคำ 2,030)

ปิหกํ = ม้าม (เคยแปลกันว่า ไต)

ลำดับ 14 ในอาการสามสิบสอง

อ่านว่า ปิ-หะ-กัง

ปิหกํ” รูปคำเดิมเป็น “ปิหก” (ปิ-หะ-กะ) รากศัพท์มาจาก ปิหฺ (ธาตุ = ปรารถนา; ไป, ถึง, บรรลุ) + ปัจจัย + สกรรถ (กะ สะ-กัด)

: ปิหฺ + = ปิห + = ปิหก แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะอันเขาต้องการ” หรือ “อวัยวะที่เป็นไป

ปิหก” (นปุงสกลิงค์) แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกพจน์ ได้รูปเป็น “ปิหกํ

…………..

อภิปรายขยายความ :

ปิหกํ” คืออวัยวะส่วนไหนในร่างกาย?

คัมภีร์วิสุทธิมรรคบรรยายลักษณะ “ปิหกํ” ไว้ดังนี้ –

ปิหกนฺติ  อุทรชิวฺหามํสํ.

คำว่า ปิหกํ ได้แก่เนื้อลักษณะเป็นลิ้นอยู่ในท้อง

ตํ  วณฺณโต  นีลํ  นิคฺโคณฺฑิปุปฺผวณฺณํ.

ปิหกะนั้นมีสีครามอ่อนดุจสีดอกคนทิสอ

สณฺฐานโต  สตฺตงฺคุลปฺปมาณพนฺธนํ  กาฬวจฺฉชิวฺหาสณฺฐานํ.

ลักษณะดังลิ้นลูกโคดำ มีขั้วยาวประมาณ 7 นิ้ว

โอกาสโต  หทยสฺส  วามปสฺเส  อุทรปฏลสฺส  มตฺถกปสฺสํ  นิสฺสาย  ฐิตํ  ยสฺมึ  ปหรณปฺปหาเรน  พหิ  นิกฺขนฺเต  สตฺตานํ  ชีวิตกฺขโย  โหติ.

ตั้งอยู่ติดข้างบนของพื้นท้องทางซ้ายหัวใจ ซึ่งเมื่อมันออกมาข้างนอกเพราะถูกทำร้ายด้วยเครื่องประหาร สัตว์ทั้งหลายก็จะสิ้นชีวิต

(คัมภีร์วิสุทธิมรรค ภาค 2 อนุสสติกัมมัฏฐานนิทเทส หน้า 39)

……….

โปรดพิจารณาว่าอวัยวะตามที่บรรยายนี้ควรเป็นอะไร

โบราณแปล “ปิหกํ” ว่า ไต

ปัจจุบันแปล “ปิหกํ” ว่า ม้าม

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปิหกํ” ว่า the spleen

พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล spleen ว่า ม้าม

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล spleen ว่า pihaka ปิหก (ปิ-หะ-กะ)

ศัพท์ที่เป็นคู่กรณีกันคือ “วกฺกํ” (วัก-กัง)

โบราณแปล “วกฺกํ” ว่า ม้าม

ปัจจุบันแปล “วกฺกํ” ว่า ไต

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “วกฺกํ” ว่า the kidney

พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล kidney ว่า ไต, ไตแกะ

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล kidney ว่า vakka วกฺก (วัก-กะ)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

(1) ปิหกะ : (คำนาม)  ม้าม. (โบราณนิยมแปลว่า ไต).

(2) วักกะ ๑ : (คำนาม) ไต. (โบราณแปลว่า ม้าม). (ป.; ส. วฺฤกฺก).

ดูเพิ่มเติม: “วกฺกํ = ไต (เคยแปลกันว่า ม้าม)”

สรุปความตามพจนานุกรมต่างๆ แล้วควรยุติได้ว่า

ปิหกํ = ม้าม

วกฺกํ = ไต

………..

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้

ม้าม : (คำนาม) อวัยวะภายในร่างกายริมกระเพาะอาหารข้างซ้าย มีหน้าที่ทําลายเม็ดเลือดแดง สร้างเม็ดนํ้าเหลืองและสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย.”

…………

ในบทสวด “พระอาการสามสิบสอง” แปล “ปิหกํ” ว่า “ไต” กล่าวไว้ดังนี้ –

๏ ปิหะกังคือไต……….คู่หนึ่งข้างใน………อยู่ใกล้สันหลัง

กลั่นกรองของเน่า…….ขับเอาออกยัง…….ภายนอกพึงชัง

ใช่ตั้งอยู่นาน๚ะ๛

…………..

ดูก่อนภราดา!

ความตายร้ายกว่าความเจ็บป่วย แต่ทว่า …

: มนุษย์ทุ่มเทสร้างภูมิคุ้มกันแก้ปัญหาการเจ็บป่วย

: แต่ไม่ทุ่มเทเพื่อช่วยให้มนุษย์ดำเนินสู่หนทางไม่ตาย

—————-

(ตามคำอาราธนาของคุณครูอนันต์ นาควิจิตร)

ภาพประกอบ: จาก google

ควรตามไปดูคำว่า “อาการ 32” ที่ลิงก์ข้างล่างนี้ด้วย:

#บาลีวันละคำ (2,030)

2-1-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย