ถ้าผมเป็นเทวดา
ถ้าผมเป็นเทวดา
—————–
ผมชอบดูหนังลูกทุ่งตะวันตก ประเภท-ขี่ม้ายิงปืน หรือที่เรียกเป็นคำฝรั่งว่า คาวบอย
เหตุผลก็มีเพียงอย่างเดียวคือได้เห็นธรรมชาติเดิมๆ และชีวิตเดิมๆ ของผู้คน
นั่นอาจเป็นเพราะทุ่งนาป่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตวัยหนุ่มของผม
ถ้าผมไม่ได้บวช ป่านนี้ก็คงเป็นชาวนาอยู่ที่หนองกระทุ่ม อำเภอปากท่อนั่นแล้ว
…………
มีหนังชุดที่ภาษาฝรั่งเรียกว่า ซีรี่ (series) ชื่อ When call the heart เป็นหนังที่สร้างใหม่เมื่อไม่กี่ปีมานี้ แสดงถึงชีวิตของผู้คนในหมู่บ้านแห่งหนึ่งในยุคสมัยที่ผู้หญิงฝรั่งยังนุ่งกระโปรงยาว ผู้ชายยังขี่มา พกปืน รถโดยสารยังเป็นรถม้า รถยนต์มีแล้ว แต่เป็นแบบรถโบราณ
ตัวเอกของเรื่องเป็นหญิงสาว มีการศึกษาดี เป็นครู ครอบครัวมีฐานะดีอยู่ในเมืองใหญ่ แต่สมัครใจไปสอนโรงเรียนเล็กๆ ในหมู่บ้านชนบท
มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นและจบลงเป็นตอนๆ ตามแบบของภาพยนตร์ซีรี่
แต่ละตอนถ้าดูให้ดีก็มีแง่คิดทั้งในตัวเหตุการณ์และคำพูดของตัวละคร
มีอยู่ตอนหนึ่ง ครูสาวตัวเอกของเรื่องถูกผู้มีอิทธิพลกลั่นแกล้งกล่าวหาจนต้องออกจากตำแหน่งครู เธอพยายามต่อสู้พิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเอง ด้วยการขอร้องให้คนที่รู้เรื่องจริงออกมายืนยัน แต่ไม่มีใครกล้าเนื่องจากเกรงว่าตัวเองจะพลอยเดือดร้อนไปด้วย
ครูผู้หญิงคนหนึ่งที่รู้ความจริงและครูสาวตัวเอกของเรื่องไปขอร้องให้ช่วย ตอนแรกก็ปฏิเสธเพราะไม่อยากเดือดร้อน แต่ตอนหลังเปลี่ยนใจเพราะได้อ่านข้อความที่ชาวบ้านคนหนึ่งส่งไปให้ เธอจึงออกมาแสดงหลักฐานยืนยันจนความจริงปรากฏ ครูสาวตัวเอกของเรื่องก็พ้นผิดและได้คืนตำแหน่ง
ข้อความที่ทำให้ครูผู้หญิงคนนั้นเปลี่ยนใจก็คือ
Bad things happen if good people do nothing.
(ที่มา: When call the heart ซีซั่น 4: ตอน 8)
แปลเป็นไทยตามบทในหนังว่า –
“เรื่องเลวร้ายเกิดขึ้นเมื่อคนดีนิ่งดูดาย”
—————–
ผมอ่านโพสต์ของญาติมิตรท่านหนึ่ง ขออนุญาตเอ่ยนาม-Santi Issaraphan-ท่านได้โพสต์ไว้เมื่อวันที่ ๒ มกราคม ๒๕๖๑ ดังที่จะขอคัดมาให้อ่านกันดังนี้ –
…………………….
…………………….
ใช่จะบ้าแต่ออกกำลังกายเสียเมื่อไร เรื่องสิ่งแวดล้อมผมก็ไม่ละเลยนะครับ พูดกันอย่างรวบรัด สองสิ่งนี้เสมือนเป็นเรื่องเดียวกัน สิ่งแวดล้อมดีและสุขภาพดีมันต้องไปด้วยกันครับ
เมื่อวานวันที่ ๑ มกราคม เป็นวันแรกของศกใหม่ ผมก็ยังออกปั่นจักรยานตามปรกติในเส้นทางเดิม คือทางหลวงชนบทเลียบคลองชลประทาน ถนนเส้นนี้ไปออกกาญจนบุรีได้
ระหว่างนั้นคนข้างกายผมได้ชี้ไปที่ฝั่งคลองอีกด้าน เธอถามว่ารู้ไหมที่สีขาวๆ ตลอดแนวคลองนั่นคืออะไร ผมตอบว่าน่าจะเป็นเศษกระดาษนะ แต่ก็สงสัยว่าทำไมมันเยอะนัก เธอตอบว่าใช่ มันคือเยื่อกระดาษที่ปล่อยมาจากโรงงานนะ “ปกติช่วงนี้น้ำจะลด แต่นี่น้ำในคลองมันสูงขึ้น แสดงว่าน้ำนี้ส่วนหนึ่งคงจะมาจากโรงงาน” เธออธิบายต่อ
ผมฟังแล้วก็เกิดอาการเคียดแค้นขึ้นมาทันที เอาแล้วหรือ เปิดศักราชใหม่กับเรื่องบ้าๆ แบบนี้อีกแล้วหรือ ผมพยายามข่มอารมณ์ แต่ก็ไม่วายหยิบโทรศัพท์มาถ่ายรูปไว้ เรายังปั่นต่อไป ไอ้เจ้าเยื่อกระดาษที่ว่าก็ยังมีให้เห็นไปตลอดทาง ผมคิดว่ามันคงมีไปจนสุดคลองสายนี้
สิ่งที่เกิดขึ้นมันไม่ใช่รถบรรทุกกระดาษทิชชู่มาพลิกคว่ำแถวนี้ แล้วกระดาษกระเด็นลงในคลองนะครับ
คลองชลประทานสายนี้มีจุดเชื่อมต่อกับเขื่อนแม่กลองที่อำเภอท่าม่วง กาญจนบุรี และผ่านอำเภอบ้านโป่ง แน่นอนว่าในพื้นที่ดังกล่าวมีโรงงานกระดาษอยู่หลายโรง ผมเปิดกูเกิ้ลดูก็พบว่ามีโรงงานในเครือ SCG Paper ซึ่งเขาโปรว่าเป็นธุรกิจที่มีความมุ่งมั่น สรรค์สร้างนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดี เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตอบสนองผู้บริโภค ก้าวสู่สังคมสีเขียว (Green Society) และนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
เอาล่ะ เราก็ไม่อยากปรักปรำหรือฟันธงไป ในเมื่อเขากล้าประกาศมาเช่นนี้ แต่ประเด็นก็คือ ยังมีโรงงานกระดาษอื่นๆ อีกที่ไม่แยแสต่อสิ่งแวดล้อม ไม่สนใจว่าธุรกิจของตนจะกระทบต่อชุมชนหรือชีวิตผู้อื่นอย่างไร
…………………….
…………………….
ถามว่าเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ เขาทำอะไรอยู่ คลองสายนี้เจ้าของโดยตรงคือกรมชลประทาน สร้างขึ้นมาด้วยวัตถุประสงค์อะไร เป็นที่ปล่อยน้ำทิ้งให้กับโรงงานมักง่ายหรือ ในส่วนของท้องถิ่นเล่า ถามว่าตลอดเส้นทางนี่มันผ่านมากี่ อบต. พวกคุณนอนหลับกันหมดหรืออย่างไร
…………………….
ไม่รู้จะใช้คำอย่างไรดีสำหรับบ้านเมืองเรา และผู้ประกอบการในบ้านนี้เมืองนี้ ผมนึกถึงคำของ ‘ยอดธง ทับทิวไม้’ ขึ้นมาดื้อๆ ซึ่งท่านได้ให้คำจำกัดความนักเลือกตั้งในยุคนั้นว่า
“ชุ่ย เพียบพูนด้วยเล่ห์ หน้าด้าน และแสนทราม”
(ผมเอาคำว่า ‘หน้าด้าน’ ใส่แทนคำว่า ‘โง่’ นะครับ)
…………………….
…………………….
(จบเรื่องจากโพสต์)
———————-
Bad things happen if good people do nothing.
“เรื่องเลวร้ายเกิดขึ้นเมื่อคนดีนิ่งดูดาย”
ในบ้านเราก็เคยมีคนพูดว่า “สังคมเลวเพราะคนดีท้อแท้”
ในบ้านเมืองของเรามีคนจำพวกหนึ่งที่แสวงหาประโยชน์ส่วนตัวด้วยการเอาเปรียบคนอื่น เอาเปรียบสังคม ทำความเดือดร้อน ทำความเสียหายให้เกิดแก่สังคม
พวกหนึ่งคือพวกที่มีตำแหน่งหน้าที่
พวกหนึ่งคือพวกที่อาศัยอำนาจของพวกที่มีตำแหน่งหน้าที่
รู้เห็นอะไรที่เป็นการกระทำไม่ดี มีผลกระทบต่อประโยชน์ของส่วนรวม แล้วไม่นิ่งดูดาย แต่กล้าที่จะเอามาบอกให้สังคมรับรู้ เพื่อให้ช่วยกันท้วง ช่วยกันติง ช่วยกันประณาม-หรือจะถึงขั้นช่วยกันด่าก็ตาม
เป็นสิ่งที่ควรทำ
แต่คนส่วนมากมักจะทำตรงกันข้าม คือนิ่งดูดาย
แต่ที่เจ็บปวดยิ่งกว่านั้นก็คือ ผู้ที่เกี่ยวข้องและมีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงกับเรื่องนั้น ก็พากันดูดายไปด้วย
มีตำแหน่ง มีหน้าที่ แต่ไม่ทำหน้าที่ มีทุกวงการ
แม้แต่ในวงการคณะสงฆ์
อยากเป็น อยากมีตำแหน่ง แต่พอเป็นแล้ว ไม่ทำอะไร นอกจากอยู่เฉยๆ
เสวยความสุขที่เกิดจาก “การได้เป็น” ไปตามลำพัง
ตำแหน่งในทางบ้านเมือง-โดยเฉพาะตำแหน่งทางการเมือง-เป็นแล้วก็แสวงหาผลประโยชน์เพื่อตัวเองและพวกพ้อง
ความจริงเป็นเช่นที่ว่ามานี้
ทุกคนรู้
แม้คนที่ได้ตำแหน่งต่างๆ นั่นเองก็รู้ว่าทุกคนรู้
แต่ก็ยังประพฤติเช่นนั้นอยู่ต่อไป แบบว่า-กูจะทำอย่างนี้ ใครจะทำไม
———————
ปัญหาคือ เราจะทำอย่างไรกันดี?
บ่นไป ว่าไป หรือด่าไป-ตามวิสัยปุถุชน ก็ต้องมีบ้าง
แต่ก็อย่างที่เรารู้ บ่นไปก็เท่านั้น ยังเหมือนเดิม
เพราะฉะนั้นก็ต้องกลับมาที่คำถามเดิม คือ เราจะทำอย่างไรกันดี?
ผมเชื่อว่าคนที่คิดคำนึงถึงเรื่องนี้มีเยอะ แต่ส่วนมากได้แต่คิด แต่ไม่ได้ลงมือทำ
และส่วนมากจะลงท้ายความคิดว่า-ไม่ใช่หน้าที่ของเรา
เราทำอะไรไม่ได้
คนที่เขาใหญ่กว่าเราเก่งกว่าเราเขายังไม่ทำอะไรเลย
บ้านเมือง (และพระศาสนา) ไม่ใช่ของเราคนเดียว
นี่เป็นเรื่องจริง และข้อเท็จจริงเช่นนี้เองกลายเป็นช่องโหว่ ช่องว่าง หรือเป็นสุญญากาศ ที่หล่อเลี้ยงสภาพอันไม่พึงปรารถนาให้ดำรงอยู่ และดำเนินต่อไป พร้อมทั้งขยายตัวแผ่ผลที่ไม่พึงประสงค์ให้พอกพูนขึ้นไปตามกาลเวลา
เราจะรอให้มีมหาบุรุษเกิดมากู้แผ่นดินก็คงได้
แต่ไม่รู้ว่าเมื่อไรท่านจะมาเกิด
แต่ที่เราสามารถทำได้เดี๋ยวนี้ทันทีก็คือ
๑ ไม่เห็นด้วยทุกกรณีกับการทำไม่ถูก การทำผิด การทำชั่ว อย่าไปหลงชื่นชมไม่ว่ากรณีใดๆ กับบุคคลที่เป็นผู้กระทำการและกับผู้มีหน้าที่แต่ไม่ทำหน้าที่ให้ถูกต้อง-ดังพฤติการณ์ที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในทุกวันนี้
๒ ช่วยกันแนะนำปลูกฝังคนรุ่นใหม่ คนรอบตัว คนใกล้ตัว ให้มีอุดมคติรักความถูกต้อง รักความดี รักส่วนรวมในทางที่ถูกต้อง
พูดได้ พูด
บอกได้ บอก
สอนได้ สอน
๓ อย่าคิดเป็นอันขาดว่า เราทำ แต่คนอื่นเขาไม่ทำ เราทำคนเดียว คนที่ไม่ทำมีเป็นล้านๆ จะไปสู้อะไรได้ ทำไปก็เหนื่อยเปล่า สังคมมันเสื่อมไปตามยุคสมัย มันเป็นกฎธรรมดา ใครจะไปทำอะไรได้ ฯลฯ
เพราะการคิดเช่นนี้ก็เท่ากับคนป่วยที่นอนรอความตาย
ขอให้คิดถึงเรื่องพระมหาชนก
ถ้านึกไม่ออกว่ามหาชนกคืออะไร ก็แย่หน่อย
ให้ค่อยๆ ระลึกว่า-ก็เรื่องที่รัชกาลที่ ๙ ท่านเอามาแปลและพิมพ์ให้อ่านกันทั่วไปนั่นไง ลืมไปแล้วหรือ
ตอนนี้เลิกคิดถึงพระองค์ท่านกันแล้วหรือ
ไหนว่า ธ สถิตอยู่ในดวงใจตราบนิรันดร์ไงล่ะ
อย่าพูดแต่ปากตามๆ กันไปสิ
พระมหาชนกไปเรือแตกกลางทะเล-กลางทะเล ไม่ใช่ชายฝั่ง-ท่านว่ายน้ำเข้าหาฝั่งทั้งๆ ที่มองไม่เห็นฝั่ง
………………………
อณโน ญาตินํ โหติ
เทวานํ ปิตุนญฺจ โส
กรํ ปุริสกิจฺจานิ
น จ ปจฺฉานุตปฺปติ.
(มหาชนกชาดก พระไตรปิฎกเล่ม ๒๘ ข้อ ๔๔๕)
แม้จะตายเพราะทำหน้าที่
ก็ชื่อว่าไม่เป็นหนี้สังคม
ทำหน้าที่ให้สมกับที่เกิดมาเป็นคน
ย่อมไม่ถูกใครก่นตามหลัง.
………………………
เหตุผลของท่านก็คือ ทำแบบนี้ใครก็ตำหนิท่านไม่ได้ว่างอมืองอเท้าไม่ยอมทำอะไรเลย
ท่านทำแล้ว
การกระทำของท่านปิดปากคนที่จะหาช่องตำหนิ-นี่ถ้าพยายามสักหน่อยก็อาจจะรอด แต่เพราะไม่พยายามก็เลยไม่รอด-อะไรประมาณนี้
คนปากคันตำหนิไม่ได้ เพราะท่านพยายามแล้ว
พยายามเต็มทีด้วย
ไม่ใช่สักแต่ว่าทำ
เพราะฉะนั้น …..
ทำอะไรได้ ก็จงเร่งคิดอ่านทำกันเข้าเถิด
อย่าคิดแบบบั่นทอนกำลังใจตัวเอง
จงรู้เถิดว่าเพราะคนส่วนใหญ่ในบ้านเมืองคิดแบบนี้นี่แหละ-เราทำ แต่คนอื่นเขาไม่ทำ ….
เราก็เลยไม่ทำอะไร
คนส่วนใหญ่ก็เลยไม่ทำอะไร
นอกจาก…ปล่อยให้สังคมเป็นไปตามที่มันเป็น
———————
ถ้าผมเป็นเทวดา-ที่คอยรักษาประเทศไทยให้ปลอดภัยและเจริญรุ่งเรือง
แล้วมาเจอผู้คนในประเทศคิดกันแค่นี้
ผมก็คงไม่อยากอยู่ช่วยให้เสียเวลา
ปัญหาของมันแท้ๆ
บ้านเมืองก็ของมันแท้ๆ
มันยังไม่ช่วยกันคิดแก้ไข ไม่ช่วยกันทำ
แล้วกูเป็นใคร ถึงจะต้องไปคอยช่วยมัน
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๓ มกราคม ๒๕๖๑
๑๖:๒๖
…………………………….