บาลีวันละคำ

เวทมนตร์ (บาลีวันละคำ 1,873)

เวทมนตร์

จะขลังไปทำไม

อ่านว่า เวด-มน

แยกศัพท์เป็น เวท + มนตร์

(๑) “เวท

บาลีอ่านว่า เว-ทะ รากศัพท์มาจาก วิทฺ (ธาตุ = รู้) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แปลง อิ ที่ วิ-(ทฺ) เป็น เอ (วิทฺ > เวท)

: วิทฺ + = วิทณ > วิท > เวท แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องรู้ธรรมหรือการงาน” (คือ ต้องการรู้ธรรมก็ใช้สิ่งนี้ ต้องการรู้วิธีทำการงานก็ใช้สิ่งนี้)

เวท” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ความรู้สึก (ยินดี), ความรู้สึกศรัทธา, ศรัทธาอย่างแรงกล้า, ความเกรงขาม, จิตตารมณ์, ความตื่นเต้น ([joyful] feeling, religious feeling, enthusiasm, awe, emotion, excitement)

(2) ความรู้, ญาณ, การเปิดเผย, ปัญญา (knowledge, insight, revelation, wisdom)

(3) พระเวท (the Veda)

(๒) “มนตร์

บาลีเป็น “มนฺต” (มัน-ตะ) รากศัพท์มาจาก –

(1) มนฺ (ธาตุ = รู้) + ปัจจัย

: มนฺ + = มนฺต แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เป็นเหตุให้รู้

(2) มนฺต (ธาตุ = ปรึกษา) + ปัจจัย

: มนฺต + = มนฺต แปลตามศัพท์ว่า “การปรึกษา

มนฺต” (ปุงลิงค์) ในภาษาบาลีมีความหมายดังต่อไปนี้ –

1. ความหมายเดิม คือ คำพูดหรือคำตัดสินของเทพเจ้าบนสวรรค์ แล้วกลายมาเป็นประมวลคำสอนที่เร้นลับของศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ได้แก่คัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ของพราหมณ์ หรือคัมภีร์พระเวท (a divine saying or decision, hence a secret plan)

2. คัมภีร์ศาสนา, บทร้องสวด, การร่ายมนตร์ (holy scriptures in general, sacred text, secret doctrine)

3. ศาสตร์ลี้ลับ, วิทยาคม, เสน่ห์, คาถา (divine utterance, a word with supernatural power, a charm, spell, magic art, witchcraft)

4. คำแนะนำ, คำปรึกษา, แผนการ, แบบแผน (advice, counsel, plan, design)

5. เล่ห์เหลี่ยม, ชั้นเชิง (a charm, an effective charm, trick)

6. สูตรวิชาในศาสตร์สาขาต่างๆ (เช่น H2O = น้ำ หรือแม้แต่สูตรคูณ ก็อยู่ในความหมายนี้) (law)

7. ปัญญา, ความรู้ (wisdom, knowledge, insight, discernment)

มนฺต” ในภาษาไทยใช้ว่า “มนต์” ตามบาลี และ “มนตร์” ตามสันสกฤต

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

มนฺตฺร : (คำนาม) ‘มนตร์,’ ภาคพระเวท; คูฒกาพย์; สูตร์อันเปนบุณยะแด่เทพดาองค์ใดองค์หนึ่ง, ดุจ ‘โอม วิษณเว นมหฺ’; การหรือคำหารือลับ; a division of the Vedas; a mystical versa; a formula sacred to any individual deity, as, ‘Om Vishṇave namah’; sacred consultation.”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

มนต์, มนตร์ : (คำนาม) คําศักดิ์สิทธิ์, คําสําหรับสวดเพื่อเป็นสิริมงคล เช่น สวดมนต์, คำเสกเป่าที่ถือว่าศักดิ์สิทธิ์ เช่น ร่ายมนตร์ เวทมนตร์. (ป. มนฺต; ส. มนฺตฺร).”

เวท + มนฺต = เวทมนฺต ยังไม่พบรูปศัพท์เช่นนี้ในบาลี

เวทมนฺต > เวทมนฺตฺร > เวทมนตร์ ในภาษาไทย

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

เวทมนตร์ : (คำนาม) ถ้อยคําศักดิ์สิทธิ์ที่บริกรรมเพื่อให้สําเร็จความประสงค์ เช่น โบราณใช้เวทมนตร์ในการรักษาโรคบางอย่าง, บางทีก็ใช้เข้าคู่กับคำ คาถา เป็น เวทมนตร์คาถา เช่น เขาใช้เวทมนตร์คาถาล่องหนหายตัวได้.”

โปรดสังเกตว่า คำนี้พจนานุกรมฯ สะกดเป็น “เวทมนตร์” –มนตร์ ไม่ใช่ –มนต์

…………..

ในพระพุทธศาสนา ถ้าจะมี “เวทมนตร์” ก็คือหลักวิชาความรู้ เช่นหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า การสาธยายมนตร์ก็คือทบทวนหลักคำสอน เพื่อให้จำได้และปฏิบัติตามได้ถูกต้อง ไม่ได้มุ่งหมายจะให้เกิดความขลัง หรือศักดิ์สิทธิ์ หรือมีฤทธิ์ดลบันดาล

เวทมนตร์ในความหมายที่เข้าใจกัน ย่อมไม่ใช่เวทมนตร์ในพระพุทธศาสนา

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เจ้าของเวทมนตร์ที่ศักดิ์สิทธิ์

สิ้นชีวิตหมดแล้วทุกราย

: เจ้าของมนตร์ขลังที่ยังไม่ตาย

ก็หนีไม่พ้นสักคนเดียว

26-7-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย