จริยวัตร หรือ จริยาวัตร (บาลีวันละคำ 1,874)
จริยวัตร หรือ จริยาวัตร
คำไหนถูก
“จริยวัตร” อ่านว่า จะ-ริ-ยะ-วัด
“จริยาวัตร” อ่านว่า จะ-ริ-ยา-วัด
แยกศัพท์เป็น จริย + วัตร, จริยา + วัตร
(๑) “จริย”
บาลีอ่านว่า จะ-ริ-ยะ มาจากรากศัพท์ว่า จรฺ (ธาตุ = ประพฤติ, ดำเนินไป) + อิย ปัจจัย
: จรฺ + อิย = จริย
อีกนัยหนึ่ง จรฺ ธาตุ + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณ, ลง อิ อาคมระหว่างธาตุกับปัจจัย
: จรฺ + อิ + ณฺย = จริณฺย > จริย
จริย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์ = จริยา
สรุปว่าศัพท์นี้มี 2 รูป คือเป็น “จริย” (นปุงสกลิงค์) ก็มี และเป็น “จริยา” (อิตถีลิงค์) ก็มี
จริย, จริยา แปลตามศัพท์ว่า “-ที่ควรประพฤติ” หมายถึง ความประพฤติ, กิริยาที่ควรประพฤติ, การดำเนินชีวิต (conduct, behaviour, state of life)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บไว้ทั้ง “จริย” และ “จริยา” บอกไว้ดังนี้ –
(1) จริย– : (คำนาม) ความประพฤติ, กิริยาที่ควรประพฤติ, ใช้ในคำสมาส เช่น จริยศึกษา. (ป.).
(2) จริยา : (คำนาม) ความประพฤติ, กิริยาที่ควรประพฤติ, ใช้ในคําสมาส เช่น ธรรมจริยา.
(๒) “วัตร”
(ก) บาลีเป็น “วตฺต” (วัด-ตะ) รากศัพท์มาจาก วตฺตฺ (ธาตุ = ถือเอา, ประพฤติ) + อ ปัจจัย
: วตฺต + อ = วตฺต แปลตามศัพท์ว่า “ข้อที่ควรถือประพฤติ”
(ข) บาลีเป็น “วต” (วะ-ตะ) รากศัพท์มาจาก –
1) วตฺ (ธาตุ = เป็นไป) + อ ปัจจัย
: วตฺ + อ = วต แปลตามศัพท์ว่า “การที่เป็นไปตามปกติ”
2) วชฺ (ธาตุ = ปรุงแต่ง, กระทำ) + อ ปัจจัย, แปลง ช เป็น ต
: วชฺ > วต + อ = วต แปลตามศัพท์ว่า “การอันเขาปรุงแต่ง”
“วตฺต” หรือ “วต” ใช้ในภาษาไทยเป็น “วัตร” หมายถึงกิจที่ควรถือประพฤติ, กิจพึงกระทำ, ข้อปฏิบัติ, ความประพฤติ, ธรรมเนียม, ประเพณี, สิ่งที่ทำ, หน้าที่, การบริการ, ประเพณี, งาน (observance, vow, virtue, that which is done, which goes on or is customary, duty, service, custom, function)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“วัตร, วัตร– : (คำนาม) กิจพึงกระทำ เช่น ทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น, หน้าที่ เช่น ข้อวัตรปฏิบัติ, ธรรมเนียม เช่น ศีลาจารวัตร; ความประพฤติ เช่น พระราชจริยวัตร, การปฏิบัติ เช่น ธุดงควัตร อุปัชฌายวัตร, การจำศีล. (ป. วตฺต; ส. วฺฤตฺต).”
จริย + วัตร = จริยวัตร
จริยา + วัตร = จริยาวัตร
แปลตามศัพท์ว่า “ข้อปฏิบัติที่ควรประพฤติ” “ข้อควรประพฤติและข้อปฏิบัติ”
ที่แสดงไว้ทั้ง 2 รูป เพราะพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บไว้ทั้ง 2 รูป ดังนี้ –
“จริยวัตร, จริยาวัตร : (คำนาม) หน้าที่ที่พึงประพฤติปฏิบัติ; ความประพฤติ ท่วงทีวาจา และกิริยามารยาท.”
…………..
อภิปราย :
โปรดสังเกตว่า “จริย” พจนานุกรมฯ เก็บไว้โดยใช้ขีด – ท้ายคำ (ดูข้างต้น) หมายความว่า ถ้าเขียน “จริย-” (ไม่มีสระ อะ แต่มีขีด – ) บอกให้รู้ว่า เป็นคำที่ใช้นำหน้าคำอื่นในคำสมาส ถ้าอยู่ท้ายคำ ต้องมีสระ อะ เป็น “–จริยะ” (มีคำอื่นนำหน้า) หรือ “จริยะ” (ใช้เดี่ยวๆ)
ส่วน “จริยา” พจนานุกรมฯ เก็บไว้โดยไม่ใช้ขีด – ท้ายคำ คือไม่ได้เขียนเป็น จริยา– เหมือน จริย– ดังจะให้เข้าใจว่า ถ้านำหน้าคำอื่นในคำสมาส จะไม่มีรูปคำเป็น จริยา– แต่จะต้องเป็น จริย–
แต่พจนานุกรมฯ ก็เก็บคำว่า “จริยาวัตร” ไว้ด้วย
ถ้ามี “จริยาวัตร” พจนานุกรมฯ ก็ควรจะเก็บเป็นรูป จริยา– ไว้อีกรูปหนึ่งด้วย เพื่อบอกให้รู้ว่า เมื่อสมาสหน้าคำอื่น คงเป็นรูป “จริยา-” ก็มี เช่น “จริยาวัตร” เป็นต้น
สรุปว่า ในภาษาไทยใช้ได้ทั้ง “จริยวัตร” และ “จริยาวัตร”
แต่ในคัมภีร์บาลี ตรวจดูแล้ว ขณะที่เขียนคำนี้ยังไม่พบรูปศัพท์ “จริยาวตฺต” พบแต่ “จริยวตฺต”
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ขออนุโมทนาในจริยาวัตรอันงามดี
: แต่-ขอโทษที อย่าแสร้งทำ
27-7-60