บาลีวันละคำ

ศรัทธาไทย (บาลีวันละคำ 1,872)

ศรัทธาไทย

อย่าทำตก

อ่านอ่าน สัด-ทา-ไท

แยกศัพท์เป็น ศรัทธา + ไทย

(๑) “ศรัทธา

บาลีเป็น “สทฺธา” (สัด-ทา) รากศัพท์มาจาก –

(1) สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + ธา (ธาตุ = เชื่อถือ, นับถือ) + ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น นฺ แล้วแปลง นฺ เป็น ทฺ (สํ > สนฺ > สทฺ)

: สํ > สนฺ > สทฺ + ธา = สทฺธา + = สทฺธา แปลตามศัพท์ว่า (1) “กิริยาที่เชื่อถือ” (2) “ธรรมชาติเป็นเหตุให้เชื่อถือ

(2) (ตัดมาจาก “สมฺมา” = ด้วยดี, ถูกต้อง) + นิ (คำอุปสรรค = เข้า, ลง) + ธา (ธาตุ = มอบไว้, ฝากไว้) + ปัจจัย, แปลง นิ เป็น ทฺ

: + นิ + ธา = สนิธา + = สนิธา > สทฺธา แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมชาติเป็นเหตุให้มอบจิตไว้ด้วยดี

สทฺธา” หมายถึง ความเชื่อ (faith)

บาลี “สทฺธา” สันสกฤตเป็น “ศฺรทฺธา

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

ศฺรทฺธา : (คำนาม) ‘ศรัทธา,’ ความเชื่อ; faith, belief.”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ศรัทธา : (คำนาม) ความเชื่อ, ความเลื่อมใส, เช่น สิ้นศรัทธา ฉันมีศรัทธาในความดีของเขา บางทีก็ใช้เข้าคู่กับคำ ประสาทะ เป็น ศรัทธาประสาทะ. (คำกริยา) เชื่อ, เลื่อมใส, เช่น เขาศรัทธาในการรักษาแบบแพทย์แผนโบราณ. (ส. ศฺรทฺธา; ป. สทฺธา).”

(๒) “ไทย

บาลีเป็น “เทยฺย” อ่านว่า เทย-ยะ (เสียง เอยฺย– บางสำนักให้อ่านว่า ไอ อ้างว่าเป็นการออกเสียงให้ตรงกับเสียงเดิม แต่พึงทราบว่า ในภาษาบาลีไม่มีรูปสระ ไอ) รากศัพท์มาจาก ทา (ธาตุ = ให้) + ณฺย ปัจจัย, แปลง ณฺย เป็น เอยฺย, ลบสระหน้า คือ อา ที่ ทา (ทา > ท)

: ทา > ท + ณฺย > เอยฺย : ท + เอยฺย = เทยฺย แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันพึงให้”  

เทยฺย” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) (นปุงสกลิงค์) ของควรให้, ของควรเซ่นสรวง (a gift, offering)

(2) (คุณศัพท์) ควรให้ (to be given); ควรได้รับการให้, ควรแก่การถวาย (deserving a gift, worthy of receiving alms)

เทยฺย” ในภาษาไทยใช้เป็น “ไทย” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ไทย– ๒ : (คำแบบ) (คำวิเศษณ์) ควรให้, ใช้ประกอบเป็นคำนำหน้าสมาส. (ป. เทยฺย).”

ในที่นี้ เทยฺย = ไทย ใช้เป็นส่วนหลังของคำสมาส

สทฺธา + เทยฺย = สทฺธาเทยฺย แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเขาพึงให้ด้วยศรัทธา

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สทฺธาเทยฺย” ว่า a gift in faith (ของที่ให้ด้วยศรัทธา)

สทฺธาเทยฺย” เขียนในภาษาไทยเป็น “ศรัทธาไทย

คำว่า “ศรัทธาไทย” ยังไม่มีเก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต อธิบายคำว่า “ศรัทธาไทย” ไว้ดังนี้ –

ศรัทธาไทย : ของที่เขาถวายด้วยศรัทธา; ‘ทำศรัทธาไทยให้ตกไป’ คือ ทำให้ของที่เขาถวายด้วยศรัทธาเสื่อมเสียคุณค่าหรือหมดความหมายไป หมายความว่า ปฏิบัติต่อสิ่งที่เขาถวายด้วยศรัทธา โดยไม่สมควรแก่ศรัทธาของเขา หรือโดยไม่เห็นความสำคัญแห่งศรัทธาของเขา เช่น ภิกษุเอาอาหารบิณฑบาตที่เขาถวายโดยตั้งใจทำบุญ ไปทิ้งเสีย หรือไปให้แก่คฤหัสถ์โดยยังมิได้ฉันด้วยตนเองก่อน.”

…………..

ขยายความ :

คำว่า “ศรัทธาไทย” มักใช้พูดในสำนวนว่า “ยังศรัทธาไทยให้ตกไป” หรือ “ไม่ยังศรัทธาไทยให้ตกไป” ใช้กับภิกษุ มีความหมายว่า ชาวบ้านหวังจะสงเคราะห์ให้ภิกษุสามเณรมีความสะดวกในการดำรงชีพเพื่อจะได้ศึกษาพระธรรมวินัยและปฏิบัติธรรมเพื่อบรรลุมรรคผลต่อไป จึงถวายปัจจัยสี่ให้ใช้สอย ถ้าภิกษุสามเณรรับปัจจัยสี่จากชาวบ้านแล้ว –

๑. ไม่ฉันไม่ใช้ ปล่อยทิ้งไว้ให้เปล่าประโยชน์ ถ้าเป็นของใช้ก็ปล่อยปละละเลยไม่ดูแลรักษาให้สมควร หรือ –

๒. ตนเองไม่ฉันไม่ใช้ แต่เอาไปให้คนที่ไม่ได้ใช้ชีวิตเพื่อศึกษาปฏิบัติธรรม (ยกเว้นบุคคลที่ทรงอนุญาตไว้ เช่นบิดามารดาเป็นต้น) คนชนิดนั้นกินใช้ปัจจัยสี่นั้นแล้วก็ไม่ได้ทำกิจสมกับเจตนาของผู้ถวายมา หรือ –

๓. ตนเองฉันแล้วใช้แล้วก็ไม่ได้สนใจศึกษาพระธรรมวินัยและปฏิบัติธรรมให้สมควรแก่ธรรม ยังเวลาให้ล่วงไปด้วยกิจอื่นที่นอกธรรมนอกวินัยหรือเกียจคร้านไม่ทำกิจตามหน้าที่

ถ้าภิกษุสามเณรปฏิบัติดังว่ามานี้ คือ “ยังศรัทธาไทยให้ตกไป” คือทำให้เสียความตั้งใจของชาวบ้าน

ถ้าปฏิบัติตรงกันข้ามกับที่กล่าวมา ก็เรียกว่า “ไม่ยังศรัทธาไทยให้ตกไป” ย่อมควรแก่การอนุโมทนา

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ผู้ทำศรัทธาไทยตก อาจมีนรกเป็นที่ไป

: แต่เจ้าของศรัทธาไทย สวรรค์อยู่ในหัวใจตลอดกาล

—————-

(ตามคำขอของ ลุงแดง ป้าอัจ)

25-7-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย