กรรณิการ์ (บาลีวันละคำ 2,038)
กรรณิการ์
ต้นแบบของ “หิรัญญิการ์” และ “สุพรรณิการ์”
อ่านว่า กัน-นิ-กา
“กรรณิการ์” บาลีเป็น “กณฺณิการ” อ่านว่า กัน-นิ-กา-ระ รากศัพท์มาจาก กนิฏฺฐ (สิ่งที่เล็กน้อยที่สุดในชุดเดียวกัน) + กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แปลง น ที่ กนิฏฺฐ เป็น ณ (กนิฏฺฐ > กณิฏฺฐ) ลบ ฏฺฐ (กณิฏฺฐ > กณิ) ซ้อน ณฺ (กณิ > กณฺณิ), ทีฆะ อะ ที่ ก-(รฺ) เป็น อา “ด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ณ” (กรฺ > การ)
: กนิฏฺฐ + กรฺ = กนิฏฺฐกรฺ + ณ = กนิฏฺฐกรฺณ> กนิฏฺฐกร > กณิฏฺฐกร > กณิกร > กณฺณิกร > กณฺณิการ แปลตามศัพท์ว่า “ไม้ที่ทำตนให้น้อยค่าเพราะมีดอกไม่หอม”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “กณฺณิการ” ว่า
(1) the tree Pterospermum acerifolium (ต้นกรรณิกา)
(2) its [yellow] flower (ดอกกรรณิกา [สีเหลือง])
หมายเหตุ: คำแปลภาษาไทยสะกดตามพจนานุกรมบาลี-ไทย ฉบับภูมิพโลภิกขุ
“กณฺณิการ” ในบาลีสะกดเป็น “กณิการ” (ณ เณร ตัวเดียว) ก็มี ในภาษาไทยใช้เป็น “กรรณิการ์”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“กรรณิการ์ : (คำนาม) ชื่อไม้ต้นขนาดเล็กชนิด Nyctanthes arbortristis L. ในวงศ์ Oleaceae ใบคาย ดอกหอม กลีบขาว หลอดดอกสีแสด ใช้ย้อมผ้า, เขียนเป็น กณิการ์ หรือ กรณิการ์ ก็มี.”
อภิปราย :
พจนานุกรมฯ บอกว่า “กรรณิการ์” สะกดเป็น “กณิการ์” ก็มี ซึ่งก็ตรงกับ “กณิการ” ในบาลี แต่บาลีไม่มีรูปคำ “กรณิการ”
“กรรณิการ์” คำนี้บางคนในบางเรื่องสะกดเป็น “กรรณิกา” (ไม่มี ร์)
พจนานุกรมฯ มีคำว่า “กรรณิกา” บอกไว้ดังนี้ –
“กรรณิกา : (คำแบบ) (คำนาม) ดอกไม้ เช่น ดุจบัวอันบานชู กชกรรณิกามาศ. (สมุทรโฆษ). (ส. กรฺณิกา ว่า ฝักบัว, ช่อฟ้า; ป. กณฺณิกา).”
ตามพจนานุกรมฯ “กรรณิการ์” เป็นชื่อดอกไม้ชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ดอกไม้ทั่วไป แต่ถ้าสะกดเป็น “กรรณิกา” (ไม่มี ร์) ความหมาย (ตามพจนานุกรมฯ) ก็เปลี่ยนไป คือ “กรรณิกา” (ไม่มี ร์) แปลว่า ดอกไม้ทั่วไป แต่ไม่ใช่ดอก “กรรณิการ์”
สรุปว่า ตามพจนานุกรมฯ –
ถ้าหมายถึงเฉพาะดอกไม้ชนิดหนึ่งที่ออกเสียงว่า ดอก กัน-นิ-กา ต้องสะกดเป็น “กรรณิการ์” (มี ร์)
ถ้าสะกดเป็น “กรรณิกา” (ไม่มี ร์) ต้องหมายถึงดอกไม้ทั่วไป ซึ่งไม่ใช่เจาะจงเฉพาะดอกกรรณิการ์
บาลีมีศัพท์ว่า “กณฺณิกา” (กัน-นิ-กา) แปลตามศัพท์ว่า –
(1) “สิ่งอันเขานำไปไว้บนยอด” หมายถึง ช่อฟ้า, ชั้นสุดยอดของบ้าน, ยอดตึก (the corner of the upper story of a palace or pagoda, house-top)
(2) “สิ่งอันเขาแต่งไว้ที่หู” หมายถึง เครื่องประดับหู (an ornament for the ear)
(3) “สิ่งที่มีรูปร่างคล้ายต่างหู” หมายถึง ฝักบัว (the pericarp of a lotus)
บางท่านบอกว่า “กรรณิการ์” (มี ร์) ที่เป็นชื่อดอกไม้ชนิดนี้แปลว่า ต่างหู หรือเครื่องประดับหู เพราะดอกไม้ชนิดนี้มีก้านดอกที่เหมาะสำหรับสอดใส่ในรูใบหูที่เจาะเพื่อใส่ต่างหู (คือใช้ดอกกรรณิการ์เสียบแทนต่างหู)
แต่ตามรูปศัพท์ “กรรณิการ์” (มี ร์) ไม่ได้แปลว่า ต่างหู ศัพท์ที่แปลว่า ต่างหู คือ “กรรณิกา” (ไม่มี ร์)
ตามที่สังเกตเห็น ชื่อดอกไม้ที่ออกเสียงว่า ดอก กัน-นิ-กา มีสะกดกันทั้ง “กรรณิการ์” (มี ร์) และ “กรรณิกา” (ไม่มี ร์) โดยผู้เขียนไม่ได้สนใจว่าศัพท์เดิมจะสะกดอย่างไรแปลว่าอะไร
อย่างไรก็ตาม ในหนังสือเก่าจะพบว่าคำที่หมายถึงดอกกรรณิการ์ สะกดเป็น “กรรณิกา” (ไม่มี ร์) ก็มี เช่นในเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนเป็นต้น
ผู้เขียนบาลีวันละคำเชื่อว่า ดอกไม้ 2 ชนิด คือ “หิรัญญิการ์” และ “สุพรรณิการ์” ผู้คิดชื่อคงเอาคำว่า “กรรณิการ์” นี่เองไปแปลงรูป อาจจะเพราะเข้าใจว่า “-อิการ์” ที่อยู่ท้ายคำหมายถึง “ดอกไม้” -หรืออะไรประมาณนั้น
พึงทราบว่าชื่อ “กรรณิการ์” มีที่มาในภาษาบาลี แต่ชื่อ “หิรัญญิการ์” และ “สุพรรณิการ์” ไม่มีศัพท์เช่นนี้ในบาลี
ส่วนดอก“กรรณิการ์” ในภาษาไทยจะเป็นดอกไม้ชนิดเดียวกับดอก “กณฺณิการ” ในภาษาบาลี หรือเป็นดอกไม้คนละชนิดกัน เป็นเรื่องที่ควรศึกษาต่อไป
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ดอกเอ๋ย เจ้าดอกกรรณิการ์
: ถึงชื่อเป็นแขกไม่แปลกหน้า
: เชิญฟังเสภาเพลินๆ เอย
………….
ฝูงลิงไต่กิ่งลางลิงไขว่
ลางลิงแล่นไล่กันวุ่นวิ่ง
ลางลิงชิงค่างขึ้นลางลิง
กาหลงลงกิ่งกาหลงลง
เพกากาเกาะทุกก้านกิ่ง
กรรณิกากาชิงกันชมหลง
มัดกากากวนล้วนกาดง
กาฝากกาลงทำรังกา
เสือมองย่องแอบต้นตาเสือ
ร่มหูกวางกวางเฝือฝูงกวางป่า
อ้อยช้างช้างน้าวเป็นราวมา
สาลิกาจับกิ่งพิกุลกิน
………….
ที่มา: เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน
ตอนที่ 18 ขุนแผนพานางวันทองหนี
(สันนิษฐานว่าเป็นพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2)
—————-
(ขยายความตามแนวความคิดเห็นของ Santi Issaraphan)
ภาพประกอบ: จาก google
#บาลีวันละคำ (2,038)
10-1-61