บาลีวันละคำ

กรีสํ (บาลีวันละคำ 2,039)

กรีสํ = อาหารเก่า

ลำดับ 19 ในอาการสามสิบสอง

อ่านว่า กะ-รี-สัง

กรีสํ” รูปคำเดิมเป็น “กรีส” (กะ-รี-สะ) รากศัพท์มาจาก –

(1) กิรฺ (ธาตุ = เรี่ยราด) + อีส ปัจจัย, แปลง อิ ที่ กิ-(รฺ) เป็น อะ (กิรฺ > กร)

: กิรฺ + อีส = กิรีส > กรีส แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เรี่ยราด

(2) กรฺ (ธาตุ = ทำ) + อีส ปัจจัย

: กรฺ + อีส = กรีส แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ถูกทำ

(3) กุ (ธาตุ = รังเกียจ) + อีส ปัจจัย, แปลง กุ เป็น กรฺ

: กุ > กร + อีส = กรีส แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่น่ารังเกียจ” “สิ่งเป็นที่รังเกียจ

กรีส” (นปุงสกลิงค์) หมายถึง ของที่ไม่ต้องการ, สิ่งโสโครก, สิ่งขับถ่าย, อุจจาระ (refuse, filth, excrement, dung)

บาลี “กรีส” สันสกฤตเป็น “กรีษ

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

กรีษ : (คำนาม) มูลโคแห้ง; dry cow-dung.”

กรีส” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกพจน์ เปลี่ยนรูปเป็น “กรีสํ

กรีสํ” ในภาษาไทยใช้เป็น “กรีส” ตามรูปบาลี อ่านว่า กะ-หฺรีด

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –

กรีส ๑ : (คำนาม) อาหารเก่า, อุจจาระ, เช่น หนึ่งน้ำมูตรกรีส ฤๅเกียจฤๅกีด คำคนติฉิน. (สรรพสิทธิ์). (ป.; ส. กรีษ).”

ในภาษาไทยยังใช้เป็น “กรีษ” ตามรูปสันสกฤตอีกคำหนึ่ง พจนานุกรมฯ บอกไว้ดังนี้ –

กรีษ : (คำแบบ) (คำนาม) อุจจาระ. (ส.; ป. กรีส).”

…………..

ขยายความ :

คัมภีร์วิสุทธิมรรคบรรยายเรื่อง “กรีสํ” ไว้ดังนี้ –

กรีสนฺติ  วจฺจํ.

คำว่า “กรีสํ” ได้แก่อุจจาระ

ตํ  วณฺณโต  เยภุยฺเยน  อชฺโฌหฏาหารวณฺณเมว  โหติ.

กรีสนั้นมีสีดังอาหารที่กลืนเข้าไปนั่นแหละโดยมาก

สณฺฐานโต  โอกาสสณฺฐานํ.

กรีสพักอยู่ตรงไหน มันก็มีรูปทรงตามที่ที่มันอยู่

โอกาสโต  ปกฺกาสเย  ฐิตํ.

ที่ที่กรีสพักอยู่เรียกว่า ปักกาสยะ (แปลว่า “ที่พักของสุก” [อาหารที่ย่อยแล้ว] คือกระเพาะอุจจาระ)

ปกฺกาสโย  นาม  เหฏฺฐานาภิปิฏฺฐิกณฺฏกมูลานํ  อนฺตเร  อนฺตาวสาเน  อุพฺเพเธน  อฏฺฐงฺคุลมตฺโต  เวฬุนาฬิกสทิโสว  ยตฺถ  เสยฺยถาปิ  นาม  อุปริ  ภูมิภาเค  ปติตํ  วสฺโสทกํ  โอคฬิตฺวา  เหฏฺฐา  ภูมิภาคํ ปูเรตฺวา ติฏฺฐติ  เอวเมว  ยงฺกิญฺจิ  อามาสเย  ปติตํ  ปานโภชนาทิกํ  อุทรคฺคินา  เผณุทฺเทหกํ  ปกฺกํ  ปกฺกํ  นิสทาย  ปึสิตมิว  สณฺหภาวํ  อาปชฺชิตฺวา  อนฺตวิเลน  โอคฬิตฺวา  โอมทฺทิตฺวา  เวฬุปพฺเพ  ปกฺขิปมานปณฺฑุมตฺติกา  วิย  สนฺนิจิตํ  หุตฺวา  ติฏฺฐติ.

อันว่าปักกาสยะนั้นมีลักษณะคล้ายกระบอกไม้ไผ่นี่แหละ สูงประมาณ 8 องคุลี อยู่ที่ปลายลำไส้ใหญ่ในระหว่างนาภีตอนล่างกับโคนกระดูกสันหลัง ของกินมีน้ำและข้าวเป็นต้นทุกชนิดเมื่อกลืนลงไปจะไปรวมอยู่ในอามาสยะ (แปลว่า “ที่พักของดิบ” [อาหารที่เพิ่งกินเข้าไป] คือกระเพาะอาหาร) แล้วเดือดเป็นฟองด้วยไฟธาตุในอุทร ค่อยย่อยไปๆ จนแหลกเหมือนกับเอาหินบด แล้วเลื่อนลงไปตามโพรงลำไส้ใหญ่ไปตกทับถมกันอยู่ คล้ายดินสีเหลืองที่คนขยี้บรรจุลงไปในกระบอกไม้ไผ่ อาการที่กากอาหารไหลเลื่อนลงมาก็คล้ายกับน้ำฝนอันตกลงในพื้นที่สูงพัดพาเอาสิ่งต่างๆ ลงมาทับถมเต็มอยู่ในพื้นที่ลุ่มกระนั้นแล

(คัมภีร์วิสุทธิมรรค ภาค 2 อนุสสติกัมมัฏฐานนิทเทส หน้า 42-43)

ในบทสวด “พระอาการสามสิบสอง” กล่าวถึง “กรีสํ” ไว้ดังนี้ –

๏ กะรีสังอาหารเก่า…ยับย่อยสูญเปล่า….เปื่อยเน่าบัดสี

มีอยู่ทุกตน…………..ฝูงชนย่อมมี………ลามกไม่ดี

มีอยู่ภายใน๚ะ๛

…………..

ผู้รู้ท่านให้แง่คิดไว้ว่า “กรีสํ” หรือ “ขี้” ที่ถ่ายออกมานั้นสามารถใช้ทำปุ๋ยได้ทันที แต่ร่างกายของคนเจ้าของ “ขี้” เมื่อตายแล้ว โดยปกติก็เอาไปใช้ทำประโยชน์อะไรไม่ได้

…………..

ดูก่อนภราดา!

: คนที่ไม่ทำความดี

: มีค่าน้อยกว่าขี้ของตัวเอง

—————-

(ตามคำอาราธนาของคุณครูอนันต์ นาควิจิตร)

ภาพประกอบ: จาก google

ควรตามไปดูคำว่า “อาการ 32” ที่ลิงก์ข้างล่างนี้ด้วย:

#บาลีวันละคำ (2,039)

11-1-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย