บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

หมาเฝ้าบ้าน

หมาเฝ้าบ้าน

————-

มีญาติมิตรแชร์เรื่องพระฉันชาบูมาที่หน้าบ้านผม ตั้งเป็นประเด็นว่าการที่พระฉันอาหารที่เรียกกันว่า ชาบู หรือชาบูชิ แล้วมีผู้แสดงความคิดเห็นกันไปต่างๆ นั้น แปลว่าคนไทยส่วนใหญ่ยังความขาดเข้าใจในพระธรรมวินัยที่ถูกต้องอยู่มาก

ผมได้แสดงความคิดเห็นไว้ดังนี้ –

………….

ควรจะตั้งหลักกันตรงที่ว่า-ที่ว่าไม่เหมาะสมนั้นไม่เหมาะสมอย่างไร ชี้ประเด็นออกมาให้ชัดๆ เสมือนว่า-ตั้งข้อกล่าวหากันชัดๆ ก่อน

จากนั้น ไปศึกษาพระวินัยว่าด้วยการฉันอาหารของภิกษุว่ามีข้อกำหนดไว้อย่างไรบ้าง เสมือนว่า-เอาข้อกฎหมายเข้ามาจับว่าการกระทำเช่นนั้นๆ มีกฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ว่าเป็นความผิด

ถ้าไม่มีพระวินัยบัญญัติไว้ หรือมี แต่ไม่ชัด ก็ต้องหาหลักมาเทียบเคียง เช่นคำวินิจฉัยเกี่ยวกับเรื่องทำนองนี้ที่บูรพาจารย์คณะสงฆ์เคยแสดงไว้เป็นต้น

สรุปว่า อย่าเพิ่งเอาความรู้สึกส่วนตัวเข้าไปตัดสินว่าผิดหรือไม่ผิด ควรหาความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้กันก่อน เมื่อได้หลักความรู้มาแล้วจึงเอาหลักนั้นมาวินิจฉัยเรื่องที่เกิดขึ้น

แล้วก็-ขออภัย-ไม่ต้องรอผมนะครับ ในเมืองไทยนี้มีผู้เรียนจบประโยค ๙ เป็นจำนวนมาก อนุโมทนาชื่นชมกันทุกปี ขออาราธนา/นิมนต์/เรียนเชิญให้ช่วยกันแสวงหาคำตอบให้แก่สังคมกันบ้างนะครับ นี่เป็นหน้าที่โดยตรงของผู้ที่เรียนมาทางพระศาสนา ช่วยกันทำหน้าที่หน่อยนะครับ

คณะสงฆ์สมควรจะตั้ง “กองวิทยาการพระพุทธศาสนา” ขึ้นมาได้แล้วหรือยังเจ้าข้าเอ๊ย!

(จบความคิดเห็นของผม)

………….

มีญาติมิตรท่านหนึ่งแสดงความคิดเห็นตอบว่า

………….

ตั้งขึ้นมาทำไม กองวิทยาการพระพุทธศาสนา นี่ สิ้นเปลืองงบประมาณเปล่าๆ แม้จะตั้งขึ้นมาได้ก็ช่วยอะไรไม่ได้ มันเป็นเรื่องของพระที่ไม่เคารพ สำรวมระวังในพระปาติโมกข์ ไม่ใช่พระที่บวชเพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง เพื่อเป็นเนื้อนาบุญของโลก อย่าว่าแต่อาบัติทุกกฎเลยครับ แม้นิสสัคคียปาจิตตีย์ หรือ อนิยต ท่านก็ไม่สนหรอก

(จบความคิดเห็นของญาติมิตร)

………….

ตรงคำว่า “สิ้นเปลืองงบประมาณเปล่าๆ” นี่ทำให้ผมมีเรื่องพูดคุยได้อีกเรื่องหนึ่ง-คือที่จะได้อ่านต่อไปนี้

ผมเสนอความเห็นมานานแล้วว่า คณะสงฆ์ควรจะตั้งกองวิทยาการพระพุทธศาสนาขึ้นมา จะเรียกชื่อเป็นอย่างอื่นก็ได้ แล้วแต่จะเห็นสมควร

กองวิทยาการพระพุทธศาสนาในความฝันของผมนี่ไม่ต้องใช้งบประมาณของทางราชการ ค่าใช้จ่ายคงมีบ้าง แต่ไม่ต้องใช้งบประมาณของแผ่นดิน หรือที่นิยมพูดให้กระทบใจว่า-ไม่ต้องใช้ภาษีอากรที่มาจากหยาดเหงื่อแรงงานของประชาชน

กองวิทยาการพระพุทธศาสนาในความฝันของผมนั้นมีหน้าที่ดังนี้ – 

๑ รับฟัง แสวงหา (คือไม่ใช่นั่งรอปัญหาอยู่ในสำนักงาน รอให้มีแผ่นกระดาษวิ่งเข้ามาชน แต่เปิดหูเปิดตารับฟังและออกไปลาดตระเวนเพื่อให้รู้ว่าเวลานี้สังคมมีปัญหาอะไรเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาบ้าง) และรวบรวมข้อปัญหาทั้งปวงอันเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาไม่ว่าจะเป็นปัญหาโดยตรงหรือโดยอ้อม-อย่างเช่นปัญหาว่าพระฉันชาบูผิดหรือไม่/สมควรหรือไม่-นี่เป็นต้น มาเก็บไว้ จะเรียกว่าคลังปัญหา หรืออะไรก็ได้ อยากรู้ว่าเวลานี้มีปัญหาอะไรบ้าง มาดูได้ที่นี่

๒ เมื่อได้รับปัญหามาแล้ว ก็ไปสืบค้นหาคำตอบว่าปัญหานั้นๆ พระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา คือคัมภีร์ทั้งปวง ตลอดจนมติของโบราณาจารย์บูรพาจารย์ ท่านกล่าวไว้อย่างไร ข้อยุติควรเป็นอย่างไร คำตอบควรเป็นอย่างไร

๓ แล้วเสนอผลการศึกษาคือข้อยุตินั้นไปยังมหาเถรสมาคมเพื่อพิจารณาประกาศเป็นมติหรือเป็นคำสั่งให้ผู้เกี่ยวข้องตลอดจนประชาชนทั้งหลายได้รับทราบและถือปฏิบัติเป็นแบบแผนต่อไป

องค์กรที่ดูแลพระพุทธศาสนาในบ้านเราเวลานี้ คือมหาเถรสมาคม และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ไม่มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ดังว่านี้โดยตรงโดยเฉพาะ

ถ้าใครไปสืบค้นดูมติมหาเถรสมาคมที่ประชุมกันมาภายใน ๕๐ ปีนี้ รับรองว่าจะไม่พบว่ามีปัญหาคาใจที่เกิดขึ้นในวงการพระพุทธศาสนาบรรจุไว้ในระเบียบวาระการประชุมของมหาเถรสมาคมเลย ถ้าจะมีบ้างก็น้อยที่สุด

ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในวงการพระพุทธศาสนาจึงไม่เคยเข้าไปสู่การรับรู้รับพิจารณาของมหาเถรสมาคม

ตัวอย่าง-ปัญหาที่ผมถูกถามและผมเคยถามในสังคมโซเชียลมีเดียหลายครั้ง

๑ ผ้ากฐินที่เจ้าภาพได้รับพระราชทานหรือรับประทานจากเจ้านายนำไปทอดวัดราษฎร์ มีคำเรียกขานว่ากฐินอะไร

๒ วัดที่มีภิกษุจำพรรษาไม่ถึง ๕ รูป ไปนิมนต์จากวัดอื่นมาให้ครบ ๕ รูปเพื่อรับกฐิน ถูกต้องตามพระวินัยหรือไม่

คอยดูหลังจากออกพรรษา รับรองว่าปัญหานี้จะปรากฏสู่สายตาของสังคมอีก แล้วก็จะไม่มีคำตอบจากมหาเถรสมาคม (หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง) อยู่นั่นเอง คงปล่อยให้เรียกกันไปตามสะดวกปาก และปล่อยให้แต่ละวัดทำกันไปตามสะดวกสบาย ผิด-ถูกเป็นอันไม่ต้องพูดถึง

แต่ถ้ามีกองวิทยาการพระพุทธศาสนา ก็จะมีหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงขึ้นมาทันที เป็นอันหวังได้ว่าปัญหาต่างๆ จะถูกนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาอย่างเป็นระบบ และมีผลออกมาอย่างเป็นระเบียบ ไม่ต้องมานั่งเถียงกันอีก

ทีนี้ ที่ว่า-กองวิทยาการพระพุทธศาสนาไม่ต้องใช้งบประมาณแผ่นดิน คืออย่างไร

คืออย่างนี้

ผมเคยเสนอตัวเลขไปว่า ผู้จบเปรียญธรรม ๙ ประโยคในบ้านเรามีประมาณ ๑,๕๐๐ 

มรณภาพ/ตายไปแล้วประมาณ ๕๐๐

ลาสิกขา ประมาณ ๕๐๐

ยังดำรงสมณเพศ ประมาณ ๕๐๐

ที่ยังดำรงสมณเพศประมาณ ๕๐๐ เอาเฉพาะที่สามารถทำงานวิชาการพระพุทธศาสนาได้เต็มที่ ประมาณ ๒๕๐-ตัวเลขกลมๆ

นี่คือทรัพยากรบุคคลที่มีอยู่ในมือ 

ยังไม่รวมผู้ที่จบเปรียญเอก คือ ประโยค ๗ และประโยค ๘ ที่ยังดำรงสมณเพศอยู่ และเปรียญ ๙ ที่ลาสิกขา ซึ่งสามารถใช้เป็นกำลังพลสำรองได้ทันที-ถ้าจำเป็น

พระเปรียญ ๙ จำนวน ๒๕๐ นี่คือเจ้าหน้าที่ประจำกองวิทยาการพระพุทธศาสนา

สำนักงาน-หากจำเป็นต้องมี-ก็ใช้อาคารในวัดซึ่งมีอยู่เป็นอเนกอนันต์ ที่สร้างไว้แล้วก็ให้นกพิราบอาศัย ให้จิ้งจกตุ๊กแกเฝ้า เลือกเอาสักแห่งหนึ่งในวัดใดวัดหนึ่งที่เห็นสมควร

วัสดุ-ครุภัณฑ์ประจำสำนักงาน จัดหาโดยวิธีรับบริจาคหรือหาเจ้าภาพ (พูดอย่างนี้คงมีคนอยากหัวเราะแล้ว – เชิญเย้ยหยันได้ตามอัธยาศัย)

ถ้ายังงงอยู่ ก็ไปศึกษาเทคนิคของวัดพระธรรมกายดูว่า การบริหารจัดการเพื่อให้ได้มาซึ่งเจ้าภาพนั้นทำอย่างไร แต่ผมเชื่อว่าพระที่ท่านถนัดทางนี้มีอยู่เป็นอันมาก เรียกใช้ให้ถูกก็แล้วกัน

การบริหารจัดการภายในสำนักงานกองวิทยาการพระพุทธศาสนาต้องปลอดจากระบบราชการ นั่นคือไม่ต้องให้ข้าราชการเข้ามายุ่งเกี่ยวด้วย เพราะถ้าเป็น “หน่วยราชการ” เมื่อไร จะถูกระบบราชการครอบงำทันที ระบบราชการจะสร้างกำแพงนั่นนี่โน่นขึ้นมาปิดกั้นให้เกิดการตัดขัดขึ้นทั่วไปจนทำอะไรไม่ได้ ในที่สุดจะทำให้เจตนารมณ์ของกองวิทยาการพระพุทธศาสนาเบี้ยวบิดผิดเพี้ยนไปหมด

กองวิทยาการพระพุทธศาสนา พระเป็นตัวจักร ฆราวาสเป็นผู้สนับสนุน

งานหลักของเจ้าหน้าที่ประจำกองวิทยาการพระพุทธศาสนา คือ (๑) รับปัญหามา (๒) ค้นคว้าหาคำตอบ (๓) ส่งคำตอบให้เจ้าหน้าที่ธุรการเพื่อดำเนินการนำเข้าสู่ที่ประชุมมหาเถรสมาคมต่อไป

เจ้าหน้าที่ประจำกองวิทยาการพระพุทธศาสนาจะมานั่งปฏิบัติงานที่สำนักงานก็ได้ หรือจะปฏิบัติงานอยู่ที่วัดของตนเองก็ได้ แต่ต้องมีวาระการประชุมพบปะกันเพื่อปรึกษาหารือประเด็นต่างๆ ร่วมกัน และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ตามหลัก-หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์

โดยวิธีเช่นนี้ เจ้าหน้าที่ประจำกองวิทยาการพระพุทธศาสนาจึงไม่จำเป็นต้องมีค่าใช้จ่ายอะไรที่จะต้องเบิกจากงบประมาณ

อนึ่ง โปรดทราบทั่วกันว่า พระภิกษุสามเณรที่สอบเปรียญธรรม ๙ ประโยคได้ จะได้รับนิตยภัตซึ่งได้จากเงินงบประมาณแผ่นดินทุกเดือนตลอดเวลาที่ยังดำรงสมณเพศอยู่

สมัยผม (๒๕๑๕) ได้รับเดือนละ ๑๔๐.- บาท (หนึ่งร้อยสี่สิบบาทถ้วน)

ปัจจุบัน (ข้อมูลปี ๒๕๕๔) เดือนละ ๔,๑๐๐.- บาท (สี่พันหนึ่งร้อยบาทถ้วน)

พระเปรียญธรรม ๙ ประโยครูปไหนได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ (เป็นเจ้าคุณ) ชั้นสามัญ ก็จะได้รับนิตยภัตเดือนละ ๕,๕๐๐.- บาท (ห้าพันห้าร้อยบาทถ้วน) 

ถ้าได้เลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นไปเป็นชั้นราช ชั้นเทพ … นิตยภัตแต่ละเดือนก็จะสูงขึ้นไปอีก

จะเห็นได้ว่า พระเปรียญธรรม ๙ ประโยค-จะมีกองวิทยาการพระพุทธศาสนาหรือไม่มี จะปฏิบัติกิจของสงฆ์อยู่ที่ไหนหรือไม่ได้ทำอะไร อยู่กับวัดเฉยๆ-ก็ได้รับค่าตอบแทนอยู่แล้ว พูดเทียบกับภาษาชาวบ้านก็คือ-อยู่เฉยๆ ก็มีเงินเดือนกินอยู่แล้ว เมื่อทำหน้าที่เจ้าหน้าที่ประจำกองวิทยาการพระพุทธศาสนาจึงไม่จำเป็นต้องมีค่าใช้จ่ายอะไรที่จะต้องเบิกจากงบประมาณแผ่นดิน

พูดให้ตรงกับความเป็นจริงก็ต้องพูดว่า ทางราชการจ่ายนิตยภัตให้พระเปรียญธรรม ๙ ประโยคโดยไม่เคยใช้งานอะไรเลยมานานนักหนาแล้ว ต่อไปนี้ก็เป็นแต่เพียงขอให้ทำงานเพื่อพระศาสนาบ้างเท่านั้น

และการทำงานให้พระศาสนาเช่นว่านี้ก็ตรงสายที่สุดแล้ว-กับการเรียนมาทางบาลี

นี่ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ต้องปรับกระบวนคิดกันเสียใหม่ให้ถูกต้อง

คิดกันเสียใหม่ให้ถูกต้องก็คือ พระเณรเรียนบาลีไปทำไม

พระพุทธศาสนานั้น ท่านแบ่งเป็น ๓ ส่วน คือ 

พระปริยัติศาสนา = ศึกษาเล่าเรียน 

พระปฏิปัตติศาสนา = พากเพียรปฏิบัติ 

พระปฏิเวธศาสนา = สัมผัสมรรคผล

การเรียนบาลีนั้น ภาษาของคณะสงฆ์เรียกว่า “การศึกษาพระปริยัติธรรม” ซึ่งก็คือส่วนเบื้องต้นของพระศาสนา ก็นับว่าเริ่มต้นถูกทางแล้ว

ขั้นตอนต่อไปก็คือ พระปฏิปัตติศาสนา = พากเพียรปฏิบัติ ก็คือเอาความรู้ที่ได้จากการเรียนบาลีมาปฏิบัติให้ถูกต้อง-สำหรับตนเองเป็นเบื้องต้น นั่นคือตนเองรู้ถูก ปฏิบัติถูก ต่อจากนั้นก็เอื้อเฟื้อบอกกล่าวไปยังเพื่อนสหธรรมิก ตลอดจนชาวพุทธ-ชาวบ้านทั้งปวงให้รู้ถูกและปฏิบัติถูกด้วย

พระศาสนาจะดำรงอยู่ได้มั่นคงและดำเนินต่อไปได้กว้างขวางก็ด้วยอาการเช่นนี้

เวลานี้มีความคิดเบี่ยงเบนไปจนเรียกได้ว่า-ผิดเพี้ยน 

คือผู้เรียนบาลีไม่ได้เรียนเพื่อให้ได้ความรู้ แต่เรียนเพื่อให้สอบได้

สอนกันแต่เทคนิควิธีทำข้อสอบเพื่อให้สอบได้เป็นประมาณ ความรู้เป็นเพียงผลพลอยได้ 

ยังไม่ต้องเอ่ยถึงเอาความรู้ที่ถูกต้องไปปฏิบัติให้ถูกต้องสำหรับตนเอง

ส่วนการเอาความรู้ไปเผยแผ่ให้แพร่หลายนั้น ยิ่งไม่ต้องเอ่ยถึง

ตั้งเป้าหมายไว้ที่สอบได้ 

ตั้งเป้าหมายไว้ที่ประโยค ๙

ถ้าเป็นสามเณร ก็ตั้งเป้าหมายไว้ที่ได้เป็นนาคหลวง

พอสอบได้ก็จบแค่นั้น ถึงกับพูดกันว่า “ปารคู” แปลว่า บรรลุถึงเป้าหมายแล้ว สำเร็จกิจแล้ว

ญาติโยมก็พลอยถูกทำให้หลงเข้าใจ หลงชื่นชมไปด้วยเพียงแค่สอบได้-สอบได้ หาได้สนใจติดตามต่อไปถึงตัวความรู้ และต่อไปถึงการปฏิบัติที่ถูกต้องแต่ประการใดไม่

ทั้งๆ ที่สอบประโยค ๙ ได้เป็นแค่การเริ่มต้นเท่านั้น ไม่ใช่เป้าหมายอย่างที่เข้าใจและพยายามช่วยกันทำให้เข้าใจเช่นนั้น

สอบประโยค ๙ ได้ อุปมาเหมือนได้รับกุญแจไขเข้าสู่คลังมหาสมบัติ คือพระปริยัติศาสนา 

เป็นการเริ่มทำกิจ ไม่ใช่สำเร็จกิจแล้ว

หน้าที่ต่อไปนี้ก็คือ ใช้หลักวิชาที่ได้มาจากการเรียนบาลีจนถึงประโยค ๙ เข้าไปศึกษาพระคัมภีร์ให้เข้าใจว่าพระธรรมวินัยที่ถูกต้องคืออะไร 

แล้วเอามาปฏิบัติสำหรับตนเอง

แล้วบอกกล่าวสั่งสอนเผยแผ่ต่อไป

ด้วยอาการเช่นนี้ พระศาสนาจึงจะดำรงอยู่ได้มั่นคงและดำเนินต่อไปได้กว้างขวาง 

ถ้าจะปฏิรูปกิจการพระศาสนา ต้องปรับกระบวนความคิดในเรื่องการเรียนบาลีกันใหม่ทั้งหมดด้วย

เรียนบาลีเพื่อให้ได้ความรู้เอามาสนับสนุนการปฏิบัติที่ถูกต้อง

แค่ถามว่าพระฉันชาบู ผิดหรือไม่ผิด ไม่มีเสียงตอบที่ถูกต้อง

แล้วยังจะภาคภูมิใจกับการสอบประโยค ๙ ได้ไปทำไม

(หมายเหตุ: เวลาพูดถึงผู้สอบประโยค ๙ ได้ ญาติมิตรคงจะรู้สึกได้ว่าผมพูดแบบไม่ค่อยเกรงใจ ผมมีเหตุผล ซึ่งคงจะได้เล่าสู่กันฟังสักครั้ง)

——————-

กลับมาที่-กองวิทยาการพระพุทธศาสนาอีกที

ตามความฝันของผมนั้น บอกว่าไม่ต้องใช้งบประมาณแผ่นดิน ไม่ได้แปลว่าทุกคนทำงานเป็นการกุศล ควักกระเป๋าตัวเองเพื่อส่วนรวม 

ไม่ใช่เช่นนั้น

ผมเพียงแต่จะบอกว่า ถ้าห่วงว่าจะเปลืองงบประมาณแผ่นดิน ก็อย่าห่วงเลย มิวิธีที่ไม่ต้องใช้งบประมาณแผ่นดินอีกเยอะแยะไป

ทรัพย์สินเงินทองที่ไหลเข้ามาในพระพุทธศาสนาอันเกิดจากศรัทธาของผู้คนในแผ่นดินนี้มีอยู่เป็นอเนกอนันต์ เพียงแต่เราเปิดช่องให้คนผู้มีความโลภครอบงำเข้ามามีสิทธิ์จัดการ 

ทรัพย์สินอันเกิดจากศรัทธาจึงไหลเข้ากระเป๋าส่วนตัวไปมากต่อมาก

ประชาชนเขาศรัทธาบำรุงพระศาสนา

แต่คนโลภใช้วิธีจัดการเอาไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว

จองตั๋วไปนรกเรียบร้อยแล้ว-ไม่ว่าจะโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตามที

แค่วัด…. (เติมชื่อวัดเอาเองก็แล้วกัน) … วัดเดียว หากปฏิรูปการบริหารจัดการให้ดี ให้เด็ดขาด ค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่กองวิทยาการพระพุทธศาสนา รวมทั้งค่าใช้จ่ายทั้งปวงในการดำเนินงานของกองวิทยาการพระพุทธศาสนา-อันมีเป้าหมายเพื่อความรู้และการปฏิบัติที่ถูกต้อง-จะเอาสักเท่าไรก็ได้ 

ยังไม่ต้องพูดถึงวิธีหาเจ้าภาพเป็นการเฉพาะกิจอีกต่างหาก

ก็ต้องปฏิรูปตรงนี้อีกจุดหนึ่ง คือ ทำให้ทรัพย์สินอันเกิดจากศรัทธาของผู้คนได้ไหลไปเพื่อบำรุงพระศาสนาอย่างแท้จริง

พูดง่าย แต่ทำยาก-อภิมหายาก

ทำยาก แปลว่าทำยาก

ไม่ได้แปลว่าทำไม่ได้

——————-

ถามว่า เวลานี้เราก็มีผู้ทรงภูมิรู้สามารถตอบข้อสงสัยในปัญหาเกี่ยวกับพระศาสนาอยู่มาก มีปัญหาอะไรก็ให้สื่อเอาไมค์จ่อปาก เท่านี้ก็จะได้คำตอบสำเร็จตามประสงค์อยู่แล้ว จะต้องตั้งกองวิทยาการพระพุทธศาสนาขึ้นมาทำไมให้วุ่นวาย

คำตอบก็คือ ปัญหาเกี่ยวกับพระศาสนาต้องการความเด็ดขาดชัดเจนและ “เป็นทางการ” 

มิเช่นนั้นไม่จบ 

กองวิทยาการพระพุทธศาสนาจะทำหน้าที่ “นับหนึ่ง” ในการนำปัญหาเข้าสู่กระบวนการวินิจฉัยของมหาเถรสมาคม

ถ้าคิดเทียบกับกระบวนการยุติธรรม ก็พอเทียบได้กับพนักงานอัยการของทางบ้านเมืองที่ทำหน้าที่นำคดีความเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาล ซึ่งจะมีผลออกมาเป็นคำพิพากษาต่อไป

ยกตัวอย่าง มีการฆ่ากัน 

ทุกคนรู้ว่าคนฆ่าคือคนที่ทำความผิด ไม่มีใครหลงเข้าใจผิดไปว่าการฆ่ากันเป็นความดีงาม เป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่แม้กระนั้น คนฆ่าจะถูกตัดสินว่าผิดหรือไม่ ถ้าผิดจริงจะถูกลงโทษอย่างไร ก็ต้องขึ้นอยู่กับคำพิพากษาของศาล ตราบใดที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษา ตราบนั้นใครก็ยังทำอะไรคนฆ่าไม่ได้

ปัญหาเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาก็เป็นเช่นนั้น มีการกระทำอย่างนั้นอย่างนี้เกิดขึ้น (เช่นมีผู้ถวายชาบูให้พระฉัน ฯลฯ) มีผู้แสดงความคิดเห็นอย่างนั้นอย่างนี้ และมีผู้รู้เข้ามาบอกว่าผิด หรือบอกว่าไม่ผิดก็ตาม แต่ตราบใดที่ผู้ปกครองคณะสงฆ์-คือมหาเถรสมาคม-ยังไม่มีมติหรือมีคำสั่งอะไรออกมาให้เด็ดขาดชัดเจน ใครก็ยังไปตัดสินพระที่ฉันชาบู (ตลอดจนกรณีนั่นนี่โน่น) ว่าผิดหรือถูกไม่ได้อยู่นั่นเอง

แต่กรณีแบบนี้ต้องแยกให้ออก-กับกรณีที่มีพระวินัยบัญญัติไว้ชัดเจน

เช่น พระเสพเมถุน ชัดเจนว่าต้องอาบัติปาราชิก ขาดจากความเป็นพระ

แบบนี้ไม่ต้องรอให้มหาเถรสมาคมมีคำตัดสินออกมาเสียก่อนแต่ประการใดเลย เพราะพระธรรมวินัยตัดสินไว้เด็ดขาดชัดเจนอยู่แล้ว

แน่นอน ถ้าพระที่จะประพฤติอะไรที่มีปัญหาไปอยู่ในป่าหิมพานต์รูปเดียว ก็คงไม่ต้องมีใครไปวุ่นวายเดือดร้อนด้วย แต่เมื่อเราอยู่กันเป็นสังคม ก็ต้องมีความชัดเจนว่าอะไรทำได้ อะไรห้ามทำ อะไรที่ยังไม่ชัดเจนก็ควรมีวิธีการเพื่อนำไปสู่ความชัดเจน ไม่ใช่ปล่อยอิสระ

ทั้งหลายทั้งปวงที่ว่ามานี้ก็เพียงแต่พยายามหาวิธีการที่จะให้เกิดความชัดเจนเท่านั้น

——————-

ผมตระหนักดีว่า ความคิดเห็นทั้งปวงนี้ยากนักที่ไปถึงหูตาของผู้รับผิดชอบการพระศาสนา 

แม้ไปถึงหูตาของผู้รับผิดชอบการพระศาสนาแล้ว ก็ยากนักที่ท่านเหล่านั้นจะเห็นด้วย 

แม้ท่านเหล่านั้นจะเห็นด้วย ก็ยากนักที่จะมีการกระทำให้เป็นรูปธรรมเกิดขึ้นจริง

แม้มีการกระทำให้เป็นรูปธรรมเกิดขึ้นจริง ก็ยังยากนักที่จะมีผลสัมฤทธิ์จนถึงบั้นปลาย คือเกิดเป็นความบริสุทธิ์ดีงามถูกต้องในพระศาสนา

แต่ยาก แปลว่ายาก

ไม่ได้แปลว่าเป็นไปไม่ได้

——————-

ประเดี๋ยวเขียนเรื่องนี้จบแล้ว ผมจะตั้งหลักสืบค้นดูว่า พระฉันชาบูเข้าหลักพระธรรมวินัยข้อไหนบ้าง

ทำไปเท่าที่จะมีสติปัญญาทำได้

รู้อะไรมา ก็จะเอามาบอกเท่าที่พอจะบอกกันได้-ตามสติปัญญา

พยายามให้ความรู้ที่ถูกต้องกันต่อไป เมื่อลมหายใจยังมี

ผมจะไม่ขอให้ให้ใครมาช่วยกันทำงานแบบนี้ เพราะได้ข้อยุติแล้วว่า ขอให้ช่วยหรือไม่ขอให้ช่วย ก็ไม่มีใครช่วยอยู่นั่นเอง

หลับกันให้สบายนะครับ 

ผมจะเป็นหมาเฝ้าบ้านให้

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๑ กรกฎาคม ๒๕๖๐

๑๗:๒๗

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *