สุพรรณิการ์ (บาลีวันละคำ 2,037)
สุพรรณิการ์
เป็นภาษาอะไร
อ่านว่า สุ-พัน-นิ-กา
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สุพรรณิการ์ : (คำนาม) ชื่อไม้ต้นขนาดเล็ก ๒ ชนิดในสกุล Cochlospermum วงศ์ Cochlospermaceae คือ ชนิด C. regium (Mart. et Schrank) Pilger ผลมีขน ก้านชูอับเรณูสีเหลืองครึ่งหนึ่งสีแดงครึ่งหนึ่ง และชนิด C. religiosum (L.) Alston ผลเกลี้ยงไม่มีขน ก้านชูอับเรณูสีเหลืองตลอด, ฝ้ายคํา ก็เรียก.”
ตามไปดูที่คำว่า “ฝ้ายคำ” พจนานุกรมฯ บอกไว้ว่า –
“ฝ้ายคำ : ดู สุพรรณิการ์.”
เป็นอันว่าสุดทางเพียงแค่นี้ คือต้องย้อนกลับไปหาความรู้กันที่ “สุพรรณิการ์”
พจนานุกรมฯ ไม่ได้บอกว่า “สุพรรณิการ์” เป็นภาษาอะไรและแปลว่าอะไร ทั้งไม่ได้บอกว่าชื่อ “สุพรรณิการ์” ได้มาอย่างไร (อาจเป็นเพราะอยู่นอกขอบเขตของพจนานุกรมฯ ก็เป็นได้)
แต่ดูตามรูปศัพท์และตามความเข้าใจของคนทั่วไป คำนี้เดิมน่าจะมาจากคำว่า “สุพรรณ” ซึ่งแผลงมาจาก “สุวรรณ” อีกทีหนึ่ง
“สุวรรณ” ตรงกับ “สุวณฺณ” ในภาษาบาลี
“สุวณฺณ” อ่านว่า สุ-วัน-นะ ประสมกันขึ้นจาก สุ + วณฺณ
(๑) “วณฺณ” (วัน-นะ) รากศัพท์มาจาก วณฺณ (ธาตุ = ประกาศ, แสดง) + อ ปัจจัย
: วณฺณ + อ = วณฺณ (ปุงลิงค์, นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่แสดงออก”
“วณฺณ” ในภาษาบาลีมีความหมายหลายอย่าง ขอนำมาแสดงไว้ในที่นี้เป็นเครื่องประดับความรู้ ดังต่อไปนี้ :
(ภาษาอังกฤษจากพจนานุกรมบาลี-อังกฤษ)
(1) สี (colour)
(2) รูปร่าง (appearance)
(3) ความรุ่งโรจน์โชติช่วง, ความแพรวพราว (lustre, splendor)
(4) ความงาม (beauty)
(5) สีหน้า, ท่าทาง (expression, look)
(6) สีของผิวเนื้อ, รูปร่าง, ผิวพรรณ (colour of skin, appearance of body, complexion)
(7) ชนิด, ประเภท (kind, sort เช่น นานาวณฺณ = ต่างๆ ชนิดกัน)
(8) “ลักษณะของเสียง” (timbre of voice) = อักษร (the alphabet)
(9) องค์ประกอบ, ความเหมือนกัน, สมบัติ; เหมือน (constitution, likeness, property; like เช่น อคฺคิวณฺณํ = เหมือนไฟ = like fire)
(10) ความประทับใจที่ดี, การสรรเสริญ (good impression, praise)
(11) เหตุผล (reason, ความหมายนี้ ฝรั่งแปลตามศัพท์ว่า “outward appearance” = ท่าทางภายนอก)
“วณฺณ” สันสกฤตเป็น “วรฺณ”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“วรฺณ : (คำนาม) ‘วรรณ,’ ชาติ, วรรค, จำพวก, พวก; สี; เครื่องตกแต่งช้าง; ลักษณะ, คุณสมบัติ; เกียรติ, ประสิทธิ; สดุดี; สุวรรณ; พรต; การจัดเพลงหรือกาพย์; ราคินีหรือคีตวิธา; โศภา, ความงาม; เครื่องแต่งตัวลคร; สุคนธ์; อักษร; รูป, ทรง; เภท, ประเภท; a trible, a class, caste, an order; colour, tint; an elephant’s housings, quality, property; fame, celebrity; praise; gold; religious observance; the arrangement of a song or poem; a musical mode; beauty, luster; theatrical dress or embellishment; perfume; a letter of the alphabet; form; figure; sort, kind.”
ในภาษาไทยเขียนอิงสันสกฤตเป็น “วรรณ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –
(1) สี เช่น เบญจวรรณ แปลว่า ๕ สี, มักใช้เข้าคู่กับคำ สีสัน เป็น สีสันวรรณะ.
(2) ผิว เช่น ขอให้เจริญด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ, มักใช้เข้าคู่กับคำ ผิวพรรณ เป็น ผิวพรรณวรรณะ.
(3) ชั้นชน, ในสังคมฮินดูแบ่งคนออกเป็น ๔ วรรณะ คือ พราหมณ์ กษัตริย์ แพศย์ ศูทร.
(4) หนังสือ เช่น วรรณกรรม วรรณคดี.
(๒) สุ (คำอุปสรรค = ดี, งาม, ง่าย) + วณฺณ = สุวณฺณ แปลตามศัพท์ว่า “สีดี” หรือ “สีงาม” หมายถึง ทองคำ (gold)
“สุวณฺณ” สันสกฤตเป็น “สุวรฺณ” ภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “สุวรรณ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สุวรรณ, สุวรรณ– : (คำนาม) ทอง. (ส. สุวรฺณ; ป. สุวณฺณ).”
แล้วแผลงเป็น “สุพรรณ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สุพรรณ, สุพรรณ– : (คำนาม) ทองคํา. (ส. สุวรฺณ; ป. สุวณฺณ).”
ได้คำว่า “สุพรรณ” แล้ว ก็ยังมีปัญหาว่า “-ณิการ์” มาจากไหน
ดูตามรูปคำแล้ว “ณิ” คงติดมาจาก “สุวณฺณ” (ณ เณร 2 ตัว) เขียนแบบบาลีเป็น “สุวณฺณิ” แล้วแผลงเป็น “สุพณฺณิ” เขียนในภาษาไทย ตัดตัวสะกดออก จึงเป็น “สุพรรณิ”
ทำไม “สุวณฺณ” จึงกลายเป็น “สุวณฺณิ”
หรือ “สุพรรณ” กลายเป็น “สุพรรณิ” ด้วยกฎไวยากรณ์ข้อไหน
และ “การ์” มาจากไหน
เนื่องจากในภาษาบาลียังไม่พบว่ามีศัพท์ “สุวณฺณิการ” ซึ่งเอามาเขียนในภาษาไทยเป็น “สุพรรณิการ์” เพราะฉะนั้นก็ต้องเดาหรืออธิบายแบบ “ลากเข้าวัด” เท่าที่พอจะทำได้ นั่นคือ อาจจะมาจาก สุวณฺณ + การ
“การ” (กา-ระ) ในที่นี้แปลว่า ผู้ทำ (one who does, maker)
สุวณฺณ + การ ถ้าสมาสกันตรงๆ ได้รูปเป็น สุวณฺณการ (สุ-วัน-นะ-กา-ระ) แปลว่า “ผู้กระทำทอง” หมายถึง ช่างทอง (goldsmith) ศัพท์นี้มีใช้ในคัมภีร์บาลี แต่ไม่ใช่ความหมายที่ต้องการในที่นี้
ถ้าจะให้ได้รูปเป็น “สุวณฺณิการ” ต้องเปลี่ยนวิธีสมาสเป็น สุวณฺณ + การ ลง อิ อาคมท้ายบทหน้า (สุวณฺณ + อิ + การ)
: สุวณฺณ + อิ + การ = สุวณฺณิการ (สุ-วัน-นิ-กา-ระ) แปลว่า “ผู้ทำ (สิ่งใดสิ่งหนึ่ง) ให้เป็นทอง” จากนี้ก็ลากเข้าความต่อไปว่า หมายถึงต้นไม้ที่ทำดอกของตัวเองให้เป็นสีทอง
“สุวณฺณิการ” แผลงรูปเขียนเป็นไทยว่า “สุพรรณิการ์”
ที่ว่ามานี้พึงทราบเป็นการเดาทั้งสิ้น เนื่องจากเราไม่ทราบที่มาของชื่อ ดังนั้น ชื่อ “สุพรรณิการ์” จึงอยู่ในฐานะเป็นอสาธารณนาม (proper name) คือชื่อเฉพาะ จะมาจากภาษาอะไร สะกดอย่างไร อ่านอย่างไร แปลอย่างไร และมีความหมายอย่างไร ขึ้นอยู่กับเจ้าของชื่อหรือผู้ตั้งชื่อจะเป็นผู้กำหนด และในเวลาที่เขียนบาลีวันละคำวันนี้ยังสืบไม่ได้ว่าใครเป็นผู้กำหนด
หมายเหตุ : คำอธิบายคำว่า “สุพรรณิการ์” ลอกเค้าความมาจากคำว่า “หิรัญญิการ์” บาลีวันละคำ (2,036) 8-1-61
…………..
อภิปราย :
ดูตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ข้างต้น และความเข้าใจของคนทั่วไป “สุพรรณิการ์” ก็คือดอกไม้ที่เคยเรียกกันว่า “ฝ้ายคำ”
คำว่า “คำ” ในความหมายหนึ่งหมายถึง “ทอง” หรือที่เอามาเรียกเป็นคำซ้อนว่า “ทองคำ”
“สุวรรณ” หรือ “สุพรรณ” ก็แปลว่า ทอง
เห็นได้ชัดว่า ผู้คิดชื่อนี้เอาคำว่า “ฝ้ายคำ” นั่นเองมาแปลงเป็น “สุพรรณ” แล้วแต่งตัวให้เป็นบาลีสันสกฤตว่า “สุพรรณิการ์”
“-ณิการ์” ที่เติมเข้ามานี้ คาดเดาว่าผู้คิดชื่อนี้คงนึกเทียบคำว่า “กรรณิการ์” อันเป็นชื่อต้นไม้มีดอกหอมชนิดหนึ่ง
เอาคำ “กรร-” ออกไป
เอาคำว่า “สุพรร” ใส่เข้าไปแทน
เท่านี้ ก็ได้คำว่า “สุพรรณิการ์” ขึ้นมาใหม่
ง่ายๆ
แต่ถามว่าถูกหลักภาษาอย่างไรหรือไม่
คงไม่ง่ายที่จะอธิบายให้ตรงตามหลักไวยากรณ์
…………..
ดูก่อนภราดา!
: เครื่องแต่งตัว ไม่ทำให้คนชั่วกลายเป็นคนดี
: ตะกั่วย้อมสี ไม่เคยกลายเป็นทองคำได้จริง
—————-
(ขยายความตามแนวความคิดเห็นของ Santi Issaraphan)
ภาพประกอบ: จาก google
#บาลีวันละคำ (2,037)
9-1-61