บาลีวันละคำ

ไตรรัตน์ – รัตนตรัย (บาลีวันละคำ 1,887)

ไตรรัตน์รัตนตรัย

เหมือนกันโดยอรรถ ต่างกันโดยพยัญชนะ

ไตรรัตน์” อ่านว่า ไตฺร-รัด แยกศัพท์เป็น ไตร + รัตน์

รัตนตรัย” อ่านว่า รัด-ตะ-นะ-ไตฺร แยกศัพท์เป็น รัตน + ตรัย

บาลีว่าอย่างไร

(๑) “ไตร

บาลีเป็น “เต” และ เต นี้ก็แผลงมาจาก “ติ” อีกทีหนึ่ง

: ติ > เต > ไตร แปลว่า “สาม” (จำนวน 3)

ข้อควรสังเกต :

ติ” หรือ “เต” ที่เป็นศัพท์สังขยา ถ้าคงรูปเช่นนี้ ไม่ใช้เดี่ยวๆ จะต้องมีคำอื่นมาสมาสท้ายเสมอ เช่น

ติรตน (ติ-ระ-ตะ-นะ) = รัตนะสาม

เตมาส (เต-มา-สะ) = สามเดือน

คำที่มี ติ หรือ เต นำหน้า ในภาษาไทยมักแปลงรูปเป็น “ตรี” หรือ “ไตร” เช่น ตรีรัตน์ ไตรรัตน์ ตรีมาส ไตรมาส

ดูเพิ่มเติม : “ติ-,-เต-” บาลีวันละคำ (60) 2-7-55

คำว่า “ไตร” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –

ไตร ๓ : (คำวิเศษณ์) สาม, คําสําหรับนําหน้าสมาสอย่างเดียว (บางทีใช้ว่า ตรี ก็ได้) เช่น ไตรลักษณ์ ไตรทวาร, แม้จะพูดไว้ท้ายคําบ้าง เช่น ผ้าไตร หอไตร ก็เพราะละท้ายสมาสเสีย คือ ผ้าไตรจีวร หอไตรปิฎก. (ส.).”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับปรุงคำนิยามใหม่ เหลือเพียง –

ไตร ๓ : (คำวิเศษณ์) สาม, คำสำหรับนำหน้าสมาส เช่น ไตรลักษณ์ ไตรทวาร. (ส.).”

(๒) “รัตน์” หรือ “รัตน-”

บาลีเป็น “รตน” (ระ-ตะ-นะ) รากศัพท์มาจาก –

1) รติ (ความยินดี) + ตนฺ (ธาตุ = ขยาย, แผ่ไป) + ปัจจัย, ลบ , ลบ ติ ที่ รติ (รติ > )

: รติ + ตนฺ = รติตน + = รติตนณ > รติตน > รตน แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ขยายความยินดี” คือเพิ่มความยินดีให้

2) รมฺ (ธาตุ = ยินดี) + ตน ปัจจัย, ลบ มฺ ที่สุดธาตุ (รมฺ > )

: รมฺ + ตน = รมตน > รตน แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นที่ชื่นชอบแห่งผู้คน

3) รติ (ความยินดี) + นี (ธาตุ = นำไป) + ปัจจัย, ลบ อิ ที่ รติ (รติ > รต), ลบสระที่ธาตุ (นี > )

: รติ + นี = รตินี + = รตินี > รตนี > รตน แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่นำไปสู่ความยินดี

4) รติ (ความยินดี) + ชนฺ (ธาตุ = เกิด) + ปัจจัย, แปลง อิ ที่ รติ เป็น ะ (รติ > รต), ลบ ต้นธาตุ (ชนฺ > )

: รติ + ชนฺ = รติชนฺ + = รติชน > รตชน > รตน แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ยังความยินดีให้เกิดขึ้น

รตน > รัตน > รัตน์ ความหมายที่เข้าใจกันคือ แก้วที่ถือว่ามีค่ายิ่ง ถ้าใช้ประกอบคําอื่นหมายถึงยอดเยี่ยมในพวกนั้น ๆ เช่น บุรุษรัตน์ นารีรัตน์ รัตนกวี

(๓) “ตรัย

บาลีเป็น “ตย” (ตะ-ยะ) คำเดิมก็มาจาก “ติ” ที่แปลว่า “สาม” (จำนวน 3) นั่นเอง โดยการแปลง “ติ” เป็น “ตย” (หรือจะว่า แปลง อิ เป็น ก็ได้)

บาลี “ตย” สันสกฤตเป็น “ตฺรย” ใช้ในภาษาไทยเป็น “ตรัย

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ตรัย : (คำวิเศษณ์) สาม, หมวด ๓, ใช้ในคําสมาส เช่น ตรัยตรึงศ์ รัตนตรัย. (ส.).”

เพียงแต่เปลี่ยนรูปและเปลี่ยนตำแหน่งตามกระบวนการทางไวยากรณ์ กล่าวคือ

(1) “ไตรรัตน์” มาจาก –

ติ + รตน = ติรตน แปลตามศัพท์ว่า “รัตนะสาม

แปลง ติ เป็น เต = เตรตน

แปลง เต เป็น ไตร ตามสันสกฤต = ไตรรตน

เขียนแบบไทยเป็น “ไตรรัตน์

(2) “รัตนตรัย” มาจาก –

รตน + ติ = รตนติ

แปลง ติ เป็น ตย = รตนตย

รูปเต็มในบาลีซ้อน ตฺ ระหว่าง รตน + ตย : รตน + ตฺ + ตย = รตนตฺตย (ระ-ตะ-นัด-ตะ-ยะ) แปลตามศัพท์ว่า “หมวดสามแห่งรัตนะ

โปรดสังเกตคำแปล :

ติรตน แปลตามศัพท์ (จากหลังมาหน้า) ว่า “รัตนะสาม

รตนตฺตย แปลตามศัพท์ (จากหลังมาหน้า) ว่า “หมวดสามแห่งรัตนะ

“-ตย” (แปลงมาจาก –ติ) บาลีรูปนี้ต้องอยู่ท้ายสมาสเสมอ รูปสันสกฤตเป็น “ตฺรย” ในภาษาไทยใช้เป็น “ตรัย

สรุปว่า –

ที่เขียนเป็น “ไตรรัตน์” เพราะมาจากบาลีว่า “ติรตน

ที่เขียนเป็น “รัตนตรัย” เพราะมาจากบาลีว่า “รตนตฺตย

และโปรดจำไว้ว่า

ถ้าเขียนเป็น “ไตร” ต้องอยู่หน้า เป็น “ไตรรัตน์” ไม่ใช่ “ตรัยรัตน์

ถ้าเขียนเป็น “ตรัย” ต้องอยู่หลัง เป็น “รัตนตรัย” ไม่ใช่ “รัตนไตร

ไตรรัตน์รัตนตรัย ในพจนานุกรม :

คำว่า “ไตรรัตน์” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –

ไตรรัตน์ : (คำนาม) แก้ว ๓ ประการ หมายถึง พระพุทธเจ้า เรียกว่า พุทธรัตนะ พระธรรม เรียกว่า ธรรมรัตนะ พระสงฆ์ เรียกว่า สังฆรัตนะ.”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับปรุงคำนิยามใหม่เป็นดังนี้ –

ไตรรัตน์ : (คำนาม) แก้ว ๓ ประการอันประเสริฐสุดของพุทธศาสนิกชน หมายถึง พระพุทธเจ้า เรียกว่า พุทธรัตนะ พระธรรม เรียกว่า ธรรมรัตนะ พระสงฆ์ เรียกว่า สังฆรัตนะ, รัตนตรัย ก็เรียก. (ส.).”

คำว่า “รัตนตรัย” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –

รัตนตรัย : (คำนาม) แก้วอันประเสริฐสุดของพุทธศาสนิกชน คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์. (ส.).”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับปรุงคำนิยามใหม่เป็นดังนี้ –

รัตนตรัย : (คำนาม) แก้ว ๓ ประการอันประเสริฐสุดของพุทธศาสนิกชน หมายถึง พระพุทธเจ้า เรียกว่า พุทธรัตนะ พระธรรม เรียกว่า ธรรมรัตนะ พระสงฆ์ เรียกว่า สังฆรัตนะ, ไตรรัตน์ ก็เรียก.”

โปรดสังเกตด้วยว่า คำว่า “ไตรรัตน์” พจนานุกรมฯ 42 ไม่มีวงเล็บคำว่า (ส.) ที่บอกให้รู้ว่าเป็นรูปคำสันสกฤตหรือเขียนอิงสันสกฤต แต่พจนานุกรมฯ 54 เพิ่มคำว่า (ส.) เข้าไว้ข้างท้าย

ส่วนคำว่า “รัตนตรัย” พจนานุกรมฯ 42 มีวงเล็บคำว่า (ส.) ไว้ข้างท้าย แต่พจนานุกรมฯ 54 ตัดคำว่า (ส) ออก ดังจะให้เข้าใจว่า “รัตนตรัย” ไม่ใช่รูปคำสันสกฤตหรือเขียนอิงสันสกฤต

เป็นอันว่า “ไตรรัตน์” และ “รัตนตรัย” พจนานุกรมฯ 42 คำนิยามต่างกันเล็กน้อย พจนานุกรมฯ 54 ปรับแก้คำนิยามให้เหมือนกัน บอกไว้ข้างท้ายที่คำว่า “ไตรรัตน์” ว่า “รัตนตรัย ก็เรียก” และที่คำว่า “รัตนตรัย” ก็บอกว่า “ไตรรัตน์ ก็เรียก”

สรุปว่า “ไตรรัตน์” และ “รัตนตรัย” ในภาษาไทยใช้คำไหนความหมายก็เหมือนกัน

…………..

อภิปราย :

การสอนธรรมะในประเทศไทยในระยะประมาณ 50-60 ปีที่ผ่านมา เกิดมีคำว่า “ภาษาคน – ภาษาธรรม” ขึ้นมา ซึ่งถ้าไม่ทำความเข้าใจให้ดีก็จะชวนให้ขัดแย้งกันได้

“ภาษาคน” หมายถึง พูดตามที่คนทั่วไปเข้าใจกันหรือตามความเข้าใจของชาวบ้านทั่วไป

“ภาษาธรรม” หมายถึง พูดตรงไปถึงนามธรรมหรือสัจธรรมที่มีอยู่ในสิ่งนั้นๆ ไม่เอาวัตถุหรือรูปธรรมมาคิดคำนึง

เมื่อมองในแง่ภาษาธรรม แม้แต่พระรัตนตรัยตามความเข้าใจของภาษาคนก็กลายเป็นสาเหตุแห่งความขัดแย้งกันได้

ยกตัวอย่าง เมื่อเสร็จพิธีทำบุญ ปัจจุบันพิธีกรนิยมเชิญผู้ร่วมพิธีไหว้พระอีกครั้งหนึ่งโดยใช้คำว่า “ขอเชิญลาพระรัตนตรัย”

คำว่า “ขอเชิญลาพระรัตนตรัย” ความหมายของ “ภาษาคน” ก็มีเพียงแค่ต้องการจะลาพระก่อนจะแยกย้ายกันไปตามวัฒนธรรม “ไปลา-มาไหว้” เท่านั้น แต่ใช้คำพูดที่ฟังแล้วผิดความหมายของ “ภาษาธรรม” เพราะคำว่า “ลาพระรัตนตรัย” นักภาษาธรรมตีความว่าหมายถึงลาขาดจากพระรัตนตรัย คือไม่นับถือพระรัตนตรัยอีกต่อไป ซึ่งผู้พูดว่า “ขอเชิญลาพระรัตนตรัย” ไม่ได้มีเจตนาจะให้หมายถึงเช่นนั้นเลย

ถ้าเข้าใจเจตนาของกันและกัน —

ก็ไม่ต้องทุบพระพุทธรูปทิ้ง

จึงจะหมดเครื่องกีดขวางไม่ให้เข้าถึงความจริงแห่งพุทธคุณ

ไม่ต้องเผาพระไตรปิฎกให้หมดทุกตู้

จึงจะไม่มีอะไรมาปิดกั้นไม่ให้เรียนรู้เข้าถึงพระธรรมคุณ

ไม่ต้องฆ่าพระสงฆ์ให้หมดทั้งโลกหล้า

จึงจะไม่มีอะไรมาขวางหน้าไม่ให้เข้าถึงพระสังฆคุณ

ปล่อยพระรัตนตรัยชนิดที่เป็นวัตถุนั้นไว้เถิด เพื่อให้เพื่อนมนุษย์ที่อินทรีย์ยังอ่อนได้อาศัยยึดเหนี่ยวไปก่อน แล้วช่วยแนะนำสั่งสอนกันไปพลาง

เมื่อมีอินทรีย์แก่กล้าแล้ว เขาก็จะปล่อยวางแล้วก้าวข้ามขึ้นสู่ไตรรัตนคุณที่เป็นสัจธรรมอันประเสริฐแท้จริงต่อไป

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้ามีแต่แก่นล้วนๆ

: หมู่ไม้ทั้งมวลก็จะมีแต่ไม้ที่ยืนตาย

—————-

(ตามคำขอของพระคุณท่าน พระวิบูลย์โพธิวัตร ก.สุทฺธสทฺโธ)

9-8-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย