ฤๅจะนั่งท่องคาถา “ทุกอย่างเป็นอนิจจัง” 
ฤๅจะนั่งท่องคาถา “ทุกอย่างเป็นอนิจจัง”
———————————–
พ่อแม่สมัยผมเป็นเด็ก เวลาเจอพระจะสอนลูกว่า “ธุซะลูก”
“ธุ” ตัดมาจากคำว่า “สาธุ”
คำว่า “สาธุ” ก็เข้าใจกันเองว่าหมายถึงไหว้
“ธุซะลูก” แปลว่า ไหว้พระเสียเถิดลูก หรือไหว้พระนะลูกนะ
เป็นการสอนลูกให้รู้จักทำความดีงามตั้งแต่ยังไม่รู้เดียงสา
เด็กสมัยผม เจอคนแก่ รู้จักหรือไม่รู้จักเราจะยกมือไหว้-เหมือนไหว้พระ
หนุ่มสาวสมัยผม เจอพระที่ไหน นอกจากจะยกมือไหว้แล้วก็จะแสดงอาการเคารพนบนอบเป็นพิเศษ
อาจไม่ถึงนั่งลงประนมมือเหมือนสมัยอยู่โรงเรียนและได้เห็นผู้ใหญ่ท่านประพฤติกันเป็นปกติ แต่ก็แสดงอาการเคารพยำเกรงเสมอ โดยเฉพาะสาวๆ ด้วยแล้วระวังตัวมากเป็นพิเศษ
เพราะได้รับการอบรมสั่งสอนถ่ายทอดกันมาอย่างนั้น
พ่อแม่สมัยนี้ สอนลูกว่าอย่างไรเมื่อเจอพระ ผมไม่ทราบ
แต่หนุ่มสาวสมัยนี้ เจอพระนอกจากจะไม่ยกมือไหว้แล้ว ยังจะเดินชนพระเอาด้วยซ้ำ
บอกให้รู้ว่า การอบรมสั่งสอนถ่ายทอดหลายสิ่งหลายอย่างได้ขาดหายไป หรือเปลี่ยนแปลงไป
………………
สมัยผมเรียนชั้นประถม (อันที่จริงการศึกษาภาคบังคับ คนรุ่นผมส่วนมากก็เรียนแค่ชั้นประถมเท่านั้น) เรารู้จักอักษรสามหมู่ รู้จักวิธีผันเสียง-อักษรสูงผันได้ ๓ เสียง อักษรกลางผันได้ ๕ เสียงอักษรต่ำผันได้ ๓ เสียง รู้จักคำบอกวิธีประสมคำ
ความรู้เหล่านี้เรารับถ่ายทอดมาจากครู
เด็กรุ่นผม คำบอกวิธีประสมคำ ครูจะบอกว่า
กอ อา = กา
ปอ ไอ = ไป
แต่ครูสมัยนี้บอกคำบอกวิธีประสมคำว่า ไอ ปอ = ไป
ได้ยินทีแรกผมนึกว่าครูบอกผิด แต่ดูแบบเรียนแล้ว ไม่ผิด บอกอย่างนี้จริงๆ
สมัยผม ปอ ไอ = ไป
สมัยนี้ ไอ ปอ = ไป
นี่แปลว่าไม่ใช่เฉพาะวิธีทำความดีเท่านั้นที่เราไม่ได้ถ่ายทอด แม้วิชาการ เช่นหลักภาษาแบบเดิม เราก็ไม่ได้ถ่ายทอดด้วย
การสะกดคำ การอ่านคำ ที่สมัยผมเป็นเด็กครูบอกว่าผิด สมัยนี้ครูบอกว่าเขียนแบบนั้นก็ใช้ได้ อ่านแบบนั้นก็ถูกเหมือนกัน
คำผิดกลายเป็นถูกจึงเกิดขึ้นทั่วไป
(แล้วก็จะมีผู้ออกมาให้เหตุผลว่า ภาษาที่ยังไม่ตายก็เป็นแบบนี้แหละ เป็นอันว่าได้สิทธิ์ทำผิดให้กลายเป็นถูกต่อไป)
ผมเคยเป็นเด็ก (ไม่รู้ว่าจะต้องพูดทำไมเพราะทุกคนก็ต้องเป็นเด็กมาก่อนทั้งนั้น) พออายุเข้าวัยปลาย มีบ่อยๆ ที่รู้สึกว่า วันวัยแห่งความเป็นเด็กเพิ่งผ่านไปเมื่อไม่นานมานี้เอง
แต่พอระลึกดู “ไม่นานมานี้เอง” มันก็ตั้ง ๕๐-๖๐ ปีที่ล่วงมาแล้ว
คนที่เกิดตอนผมเป็นเด็ก เวลานี้ก็อายุขึ้น ๕๐-๖๐ กันหมดแล้ว
ผมชอบตั้งหลักเวลาที่ “ครึ่งศตวรรษ” คือ ๕๐ ปี มันเป็นตัวเลขกลมๆ จำง่ายดี และข้อสำคัญมันเป็นเวลานานพอสมควรที่-ของเก่าจะเสื่อมไป ของใหม่จะเกิดขึ้นแทน
๕๐ ปี นานพอที่ค่านิยมของผู้คนจะเปลี่ยนแปลงไป
หนุ่มสาวเมื่อครึ่งศตวรรษที่แล้ว แต่งงานกันก็หวังได้ว่าจะอยู่กินกันไปจนกระทั่ง “ถือไม้เท้ายอดทอง กระบองยอดเพชร”
แต่หนุ่มสาววันนี้ แต่งงานกันพร้อมกับเตรียมหย่าไปด้วย และถือกันว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา
เมื่อครึ่งศตวรรษที่แล้ว คนไทยพอได้ยินใครพูดว่า มีสวดมนต์ ไปสวดมนต์ ไม่ว่าจะปรารภเหตุใดๆ ก็จะยกมือท่วมหัว อนุโมทนาสาธุ
แต่คนไทยส่วนหนึ่ง-ซึ่งนับวันจะมากขึ้นเรื่อยๆ-วันนี้ ใครพูดว่าสวดมนต์เสริมกำลังใจ ก็จะถูกสวนกลับมาว่า งมงาย ไร้สาระ
มันคงไม่ใช่เพียงกาลเวลาเท่านั้นที่เป็นสาเหตุ
การไม่เรียนรู้ ไม่ศึกษา ไม่สืบทอด ไม่ถ่ายทอดสิ่งที่ดีงามจากรุ่นสู่รุ่น นั่นต่างหากที่เป็นสาเหตุใหญ่
ถ้าเรายังไม่เห็นโทษของการไม่ศึกษาสืบทอดกันอยู่อย่างนี้ คงไม่ต้องรอถึงครึ่งศตวรรษหรือ ๕๐ ปี ความงามความดีจึงจะเสื่อม
อะไรที่วันนี้เราเห็นว่าดี พรุ่งนี้มันก็เสื่อมแล้ว
แต่ข้อสำคัญอยู่ที่-อะไรที่เราเห็นว่าดี เราจะทำให้ดีที่สุด ทำให้สุดความสามารถที่จะทำได้
หรือจะนั่งท่องคาถา “ทุกอย่างเป็นอนิจจัง” แล้วเข้าใจผิดว่าตัวได้สิทธิ์ไม่ต้องทำอะไร
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๒๒ มีนาคม ๒๕๖๓
๑๑:๒๒
…………………………….
…………………………….