หัสดีรณเรศ (บาลีวันละคำ 2,046)
หัสดีรณเรศ
อ่านว่า หัด-สะ-ดี-รน-นะ-เรด
ประกอบด้วยคำว่า หัสดี + รณเรศ
(๑) “หัสดี”
บาลีเป็น “หตฺถี” (หัด-ถี) รากศัพท์มาจาก หตฺถ + อี ปัจจัย
(ก) “หตฺถ” (หัด-ถะ) รากศัพท์มาจาก –
(1) หสฺ (ธาตุ = ร่าเริง) + ถ ปัจจัย, แปลง สฺ ที่สุดธาตุเป็น ตฺ (หสฺ > หตฺ)
: หสฺ + ถ = หสฺถ > หตฺถ แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะเป็นเครื่องเล่นสนุก” (เช่นใช้ปรบ ฟ้อนรำ) = มือ “อวัยวะเป็นที่เล่นสนุก” = ศอก
(2) หนฺ (ธาตุ = เบียดเบียน) + ถ ปัจจัย, แปลง นฺ ที่สุดธาตุเป็น ตฺ (หนฺ > หตฺ)
: หนฺ + ถ = หนฺถ > หตฺถ แปลตามศัพท์ว่า (1) “อวัยวะเป็นเครื่องเบียดเบียนอวัยวะอื่น” (เช่นเกา ตบตี) = มือ (2) “เป็นที่ไปถึงแห่งอวัยวะทั้งหลาย” (หมายถึงมือเอื้อมถึง) = มวยผม
(3) หรฺ (ธาตุ = นำไป) + ถ ปัจจัย, แปลง รฺ ที่สุดธาตุเป็น ตฺ (หรฺ > หตฺ)
: หรฺ + ถ = หรฺถ > หตฺถ แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะเป็นเครื่องนำของไป” = มือ
(4) หตฺถ (มือ) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ
: หตฺถ + ณ = หตฺถณ > หตฺถ แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะที่เหมือนมือเพราะทำหน้าที่มือให้สำเร็จประโยชน์ได้” = งวงช้าง
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “หตฺถ” ดังนี้ –
(1) hand (มือ)
(2) the hand as measure, a cubit (มือในฐานเป็นเครื่องวัด, ระยะหนึ่งศอก)
(3) a handful, a tuft of hair (เต็มมือ, ปอยผม)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“หัตถ-, หัตถ์ : (คำนาม) มือ; ศอกหนึ่ง; งวงช้าง. (ป.; ส. หสฺต).”
(ข) หตฺถ + อี ปัจจัย
: หตฺถ + อี = หตฺถี แปลตามศัพท์ว่า “สัตว์ที่มีมือ” “สัตว์ที่ประกอบด้วยมือ” หมายถึง ช้าง (an elephant)
บาลี “หตฺถี” ไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “หัสดิน” “หัสดี”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“หัสดิน, หัสดี : (คำนาม) ช้าง. (ส. หสฺตินฺ, หสฺติ; ป. หตฺถี).”
พจนานุกรมฯ บอกว่าคำนี้สันสกฤตเป็น “หสฺตินฺ” และ “หสฺติ”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน เก็บไว้ทั้ง 2 คำ บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
(1) หสฺตินฺ : (คำนาม) ‘หัสดิน’ ช้าง; นางช้าง; นารีหรือสตรี, นารีหนึ่งในสี่จำพวกที่ท่านจัดไว้, และท่านพรรณนาไว้ว่ามีร่างต่ำเตี้ย, มีนิสสัยเปนคนเจ้าเนื้อหรือหนักเนื้อ, มีผมหงิกงอ, มีผิวดำ, หนักในกาม, และในความโกรธ; โอษธและสุคนธ์; an elephant; a female elephant; one of the four kinds in to which they are classified, and described as of low stature, corpulent habits, curly hair, dark complexion, libidinous appetite, and furious passions, a drug and perfume.
(2) หสฺติ : (คำนาม) ‘หัสดิ, หัสดิ์,’ ช้าง; an elephant
โปรดสังเกตว่า “หสฺตินฺ” ในสันสกฤตไม่ได้แปลว่าช้างอย่างเดียว ยังแปลว่า นารี หรือสตรี อีกด้วย
(๒) “รณเรศ”
รูปคำเดิมคือ “รณ” บาลีอ่านว่า ระ-นะ รากศัพท์มาจาก รณฺ (ธาตุ = ส่งเสียง) + อ ปัจจัย
: รณฺ + อ = รณ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การที่ส่งเสียงดัง”
“รณ” ในบาลีมีความหมายดังนี้ –
(1) การต่อสู้, การรบ, สงคราม (fight, battle, war)
ความหมายนี้ถอดมาจากคำแปลตามศัพท์ที่ว่า “การที่ส่งเสียงดัง” อาจเนื่องมาจากธรรมชาติในการสู้รบกันนั้นมักต้องส่งเสียงโห่ร้องอื้ออึง ประกอบด้วยเสียงจากอาวุธยุทโธปกรณ์อีกส่วนหนึ่งด้วย
(2) ความมึนเมา, ความอยาก, บาป, ความผิด (intoxication, desire, sin, fault) รวมไปถึง ความเจ็บปวด, ความปวดร้าว, ความทุกข์ยาก (pain, anguish, distress)
ความหมายนี้เป็นความหมายในทางธรรม หรืออิงแนวคิดทางศาสนา คำที่มีความหมายตรงข้ามหรือเชิงปฏิเสธคือ “อรณ” (อะ-ระ-นะ) หมายถึง ปราศจากอันตราย, ปลอดจากกิเลส หรือตามศัพท์ว่า “ไม่ต้องต่อสู้” เพราะเอาชนะกิเลสได้เด็ดขาดแล้ว คือต่อสู้มาจนจบเสร็จไปแล้วจึงไม่ต้องต่อสู้อีก
คำที่ออกมาจาก “รณ” ที่เราคุ้นกันดีในภาษาไทยคือ “รณรงค์” อ่านว่า รน-นะ-รง เกิดจากการประสมกันระหว่าง รณ (การรบ) + รงค์ (สนาม) เสียงใกล้กับ รน-นะ-เรด (ดูเพิ่มเติมที่: “รณรงค์” บาลีวันละคำ (813) 9-8-57)
แต่ “รณเรศ” เกิดจากการประสมกันระหว่าง รณ + อีศ ลง ร อาคมระหว่าง รณ– กับ –อีศ, แผลง อีศ เป็น เอศ
: รณ + ร + อีศ = รณรีศ > รณเรศ
“อีศ” ที่เติมเข้ามาและทำตามกระบวนการนี้ ศัพท์วรรณคดีเรียกว่า “ศ เข้าลิลิต” หมายถึงคำที่เติม “อีศ” (แล้วมักแผลงเป็น “เอศ”) เข้าข้างท้ายเพื่อให้ได้รูปหรือเสียงที่ต้องการในทางฉันทลักษณ์ แต่คงมีความหมายเท่าเดิม เช่น –
นารี > นาเรศ
มยุรา > มยุเรศ
นาวา > นาเวศ
สาคร > สาคเรศ
และในที่ รณ > รณเรศ
: หัสดี + รณเรศ = หัสดีรณเรศ แปลว่า “การรบด้วยช้าง”
…………..
อภิปราย :
“หัสดีรณเรศ” เป็นคำที่มีอยู่ในโคลงบทหนึ่งในลิลิตตะเลงพ่าย ตอนพระนเรศวรร้องเชิญพระมหาอุปราชาแห่งกรุงหงสาวดีให้กระทำยุทธหัตถีต่อกัน มีข้อความดังนี้ –
๏ หัสดีรณเรศอ้าง…….อวสาน นี้นา
นับอนาคตกาล………..ห่อนพ้อง
ขัตติยายุทธ์บรรหาร….คชคู่ กันแฮ
คงแต่เผือพี่น้อง………ตราบฟ้าดินกษัย๚ะ๛
ที่มา: ลิลิตตะเลงพ่ายบทที่ ๓๐๔ (ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ)
“หัสดีรณเรศ” นับว่าเป็นคำที่งามทั้งรูป เสียง และความหมาย จะเป็นคำที่ผูกขึ้นเพื่อเลี่ยงคำว่า “ยุทธหัตถี” หรือเป็นคำที่เกิดก่อนคำว่า “ยุทธหัตถี” เป็นเรื่องที่ควรแก่การศึกษาของผู้สนใจสืบไป
———-
เมื่อวันจันทร์ แรม 2 ค่ำ เดือนยี่ ปีมะโรง จุลศักราช 954 สมเด็จพระนเรศวรมหาราช แห่งกรุงศรีอยุธยา ทรงได้รับชัยชนะจากการกระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชาแห่งกรุงหงสาวดี
วันที่เกิดเหตุการณ์ “ยุทธหัตถี” หรือ “หัสดีรณเรศ” นี้ตามการคำนวณทางสุริยคติ ตรงกับวันที่ 18 มกราคม พุทธศักราช 2135
…………..
ดูก่อนภราดา!
: อิสรภาพของชาติ อาจได้มาด้วยการรบกับเพื่อนมนุษย์
: แต่อิสรภาพของจิตที่บริสุทธิ์ ได้มาด้วยการรบกับตัวเอง
#บาลีวันละคำ (2,046)
18-1-61