บาลีวันละคำ

ปุตตะกาโมละเภปุตตัง (บาลีวันละคำ 2,052)

ปุตตะกาโมละเภปุตตัง

พระคาถาชินบัญชรงอกได้

พระคาถาชินบัญชรหลายฉบับที่พิมพ์ในระยะหลังๆ ได้เพิ่มเติมถ้อยคำเข้าไว้ตอนต้นเป็นข้อความทำนองว่า –

…………

เพื่อให้เกิดอานุภาพยิ่งขึ้น ก่อนเจริญภาวนา ขอให้ตั้งนะโม ๓ จบ แล้วระลึกถึงและบูชาเจ้าพระคุณสมเด็จด้วยคาถาบูชาสมเด็จพระพุฒาจารย์ว่า

ปุตตะกาโมละเภปุตตัง  ธะนะกาโมละเภธะนัง

อัตถิกาเยกายะญายะ   เทวานังปิยะตังสุตตะวา

บางฉบับมีต่อไปอีกว่า

อิติปิโสภะคะวา ยมราชาโน ท้าวเวสสุวัณโณ

มรณังสุขัง อะระหังสุคะโต นะโมพุทธายะ

…………

คำภาษาบาลีเหล่านี้ เขียนตามที่ปรากฏ ซึ่งไม่ได้แยกศัพท์ให้ถูกต้องตามวิธีเขียนคำบาลี แต่ที่สำคัญคือแปลได้ใจความสมบูรณ์เพียง 2 วรรคแรกเท่านั้น คือ –

(ในที่นี้เขียนแบบบาลีไทย คือเขียนตามคำอ่าน)

ปุตตะกาโมละเภปุตตัง

เขียนแยกคำตามหลักภาษาบาลีเป็น –

ปุตตะกาโม  ละเภ  ปุตตัง

แปลว่า ผู้อยากได้บุตรพึงได้บุตร

ธะนะกาโมละเภธะนัง

เขียนแยกคำตามหลักภาษาบาลีเป็น –

ธะนะกาโม  ละเภ  ธะนัง

แปลว่า ผู้อยากได้ทรัพย์พึงได้ทรัพย์

…………..

หนังสือ พิธีสวดสะเดาะนพเคราะห์ด้วยตนเอง และ บทมนต์วิเศษต่างๆ สำหรับสวดจำเพาะตน (ดูภาพประกอบ) เรียบเรียงโดย พระครูวิสุทธิคุณาธาร วัดพระยายัง พิมพ์ครั้งที่ 1 โรงพิมพ์เฟื่องอักษร พระนคร พ.ศ.2510 หัวข้อ มนต์บทสวดมหาทิพมนต์ ในหน้า 78 มีข้อความเป็นคาถาว่า –

ปุตฺตกาโม  ลเภ  ปุตฺตํ ….. ธนกาโม  ลเภ  ธนํ

อธิการํ  ลเภยฺยาหํ ………. เทวานํ  ปิยตํ  สทา.

คาถา 2 บาทแรกตรงกันกับที่มีผู้ใส่เสริมเข้ามาในเบื้องต้นของพระคาถาชินบัญชร

ส่วนคาถา 2 บาทหลัง  อธิการํ  ลเภยฺยาหํ  เทวานํ  ปิยตํ  สทา  แปลว่า “ข้าพเจ้าพึงได้อธิการ (ความดี ความยิ่งใหญ่ บุญบารมี) (และ) ความเป็นที่รักของเทพยดาทั้งหลายทุกเมื่อ”

ก็ได้ความเรียบร้อยดี จึงน่าจะเป็นข้อความที่ถูกต้อง

ถ้าเอาข้อความที่ว่า อัตถิกาเยกายะญายะ  เทวานังปิยะตังสุตตะวา มาเทียบกันดู จะเห็นได้ว่าความคลาดเคลื่อนน่าจะเกิดจากการท่องจำต่อจากปาก ที่เรียกว่า มุขปาฐะ คือฟังเสียงแล้วก็จำเอาไว้โดยมิได้เห็นตัวหนังสือ เมื่อถ่ายทอดคำพูดต่อๆ กันไป เสียงที่ได้ฟังมาก็ย่อมมีโอกาสคลาดเคลื่อนได้ง่ายมาก

ข้อความท่อนท้ายเริ่มตั้งแต่ อิติปิโสภะคะวา มีคำไทยเข้าไปปนอยู่ด้วย เป็นลีลาของคาถาอาคมคือคำภาวนาเพื่อให้เกิดความขลังศักสิทธิ์ไปแล้ว ไม่ใช่ถ้อยคำที่กล่าวเพื่อระลึกถึงสมเด็จพระพุฒาจารย์ดังที่อ้างแต่อย่างใดเลย

สรุปว่า ข้อความเริ่มต้นตั้งแต่ ปุตตะกาโม ละเภ ปุตตัง

๑ ไม่ใช่ข้อความในตัวพระคาถาชินบัญชรที่มีมาแต่เดิม แต่เป็นคำที่นักเล่นคาถาเติมเข้ามาตามความเชื่อถือของตนเอง

๒ ทั้งไม่ใช่ข้อความที่เป็นคำบูชาเจ้าพระคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์โตด้วย

ตอนหลังๆ มานี้ คำแนะนำการสวดพระคาถาชินบัญชรได้ตัดคำว่า “แล้วระลึกถึงและบูชาเจ้าพระคุณสมเด็จด้วยคาถาบูชาสมเด็จพระพุฒาจารย์” ออกไป ชะรอยจะถูกทักท้วงเข้าว่านั่นไม่ใช่คำบูชาสมเด็จพระพุฒาจารย์โต ข้อความเปลี่ยนเป็นว่า “นึกถึงหลวงปู่โตแล้วตั้งอธิษฐาน

ข้อความส่วนที่เป็นคาถา (คำฉันท์บาลี) ที่ระยะแรกเขียนติดกันเป็นวรรค (ปุตตะกาโมละเภปุตตัง  ธะนะกาโมละเภธะนัง) ตอนหลังก็แยกเป็นคำๆ ตามหลักภาษาบาลี (ปุตตะกาโม  ละเภ  ปุตตัง  ธะนะกาโม  ละเภ  ธะนัง)

ข้อความที่เติมเข้ามาดังที่นำเสนอมานี้ ท่านผู้ใดจะสวดด้วยความนับถือเลื่อมใส หรือจะไม่สวด ก็ตามแต่จะปรารถนา แต่ควรมีเหตุผลที่สมเหตุสมผลเข้าประกอบด้วยว่า ควรสวดหรือไม่ควรสวดเพราะอะไร มิใช่เพียงเพราะมีผู้บอกว่าเป็นถ้อยคำที่ขลังและศักดิ์สิทธิ์จึงสวดตามไปเท่านั้น

…………..

ดูก่อนภราดา!

อะไรเอ่ย …

: ขาด้วนตาดี

: ขามีตามืด

…………..

ขาด้วนตาดี: คือคนมีสติปัญญาดี รู้จักคิดหาเหตุผล แต่ขาดศรัทธา ไม่ค่อยเชื่ออะไรหรือเชื่อใคร ก็ก้าวไปถึงจุดหมายได้ยาก เหมือนคนตาดี แต่ขาด้วน มองเห็นทาง แต่เดินไปไม่ได้

ขามีตามืด: คือคนที่มีศรัทธามาก เลื่อมใสง่าย พร้อมที่จะเชื่อและทำตาม แต่ขาดสติปัญญาที่จะพินิจพิเคราะห์เหตุผล ก็ก้าวไปถึงจุดหมายได้ยากเช่นกัน เหมือนคนขาดี แต่ตาบอด แม้จะเดินไปได้ แต่ก็สะเปะสะปะ เพราะไม่เห็นทาง และอาจประสบอันตรายได้ง่าย

ผู้มีปัญญาและศรัทธาสมดุลกันย่อมประลุถึงจุดหมายที่ถูกต้องได้อย่างปลอดภัย เหมือนคนตาดีมองเห็นหนทาง ทั้งมีขาดีพร้อมที่จะก้าวไปได้อย่างมั่นคงฉะนั้น

#บาลีวันละคำ (2,052)

24-1-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย