บุษบก (บาลีวันละคำ 2,653)
บุษบก
มาจากภาษาอะไร
อ่านว่า บุด-สะ-บก
“บุษบก” เป็นรูปคำสันสกฤต ถ้าเทียบเป็นบาลีก็ตรงกับคำว่า “ปุปฺผก” รากศัพท์มาจาก ปุปฺผ + ก
(๑) “ปุปฺผ” (ปุบ-ผะ) รากศัพท์มาจาก ปุปฺผฺ (ธาตุ = แย้ม, บาน) + อ ปัจจัย
: ปุปฺผ + อ = ปุปฺผ (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่แย้มบาน” (2) “สิ่งที่เบ่งบานเหมือนดอกไม้”
“ปุปฺผ” ที่แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่แย้มบาน” หมายถึง ดอกไม้ (a flower) เป็นความหมายทั่วไป
“ปุปฺผ” ที่แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เบ่งบานเหมือนดอกไม้” หมายถึง เลือด (blood) เป็นความหมายเฉพาะในบางแห่ง โดยเฉพาะเมื่อกล่าวถึงระดูของสตรี (the menses)
(๒) ปุปฺผ + ก (กะ)
“ก” อ่านว่า กะ (ไม่ใช่ กอ) คำเต็มเรียกกันว่า “ก สกรรถ” (อ่านว่า กะ สะ-กัด) หมายถึงลง ก ปัจจัย แต่คงมีความหมายเท่าเดิม แต่บางคำอาจเสริมความหมายขึ้นอีกเล็กน้อยว่า “มี-” หรือ “เกี่ยวกับ-”
ในที่นี้ ปุปฺผ + ก = ปุปฺผก (ปุบ-ผะ-กะ) แปลว่า “ดอกไม้” (เท่าคำเดิม) บางทีมีความหมายเสริมขึ้นว่า “มีดอกไม้” หรือ “เกี่ยวกับดอกไม้”
ความหมาย :
(ก) “ปุปฺผก” บางแห่งแปลว่า “ผู้มีดอกไม้” หมายถึงสตรีที่อยู่ในช่วงเวลามีระดู
(ข) ในอรรถกถาชาดก (สัตติคุมพชาดก วีสตินิบาต ชาตกัฏฐกถา ภาค 7 หน้า 78-88) เล่าเรื่องลูกนกแขกเต้าพี่น้อง 2 ตัว ตัวหนึ่งลมพัดไปตกที่กองหอกของพวกโจร ได้ชื่อว่า “สัตติคุมพะ” แปลว่า “กองหอก” ตัวหนึ่งลมพัดไปตกที่กองดอกไม้ของพวกฤๅษี ได้ชื่อว่า “ปุปผกะ” แปลว่า “กองดอกไม้”
“ปุปผกะ” เขียนแบบบาลีเป็น “ปุปฺผก” ตรงกับรูปคำสันสกฤว่า “ปุษฺปก”
ถ้า “บุษบก” มาจากคำสันสกฤตว่า “ปุษฺปก” และตรงกับบาลีว่า “ปุปฺผก” “บุษบก” ก็ควรจะมีความหมายเกี่ยวกับ “กองดอกไม้” มากกว่าที่จะเกี่ยวกับ “สตรีมีระดู”
อย่างไรก็ตาม สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายของ “ปุษฺปก” ไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ปุษฺปก : (คำนาม) กากหรือตะกอนทองเหลือง, ‘ขี้ทองเหลือง’ ก็ใช้ตามมติไท; ยานของท้าวกุเวร; โรคตา; กำไลเพ็ชร์; ภาชนะเหล็ก, โลหภาชน์; เชิงกรานหรือเตาไฟอันย่อมๆ; กาสีส์, เกลือเหล็ก (อันกัดด้วยกรดกำมถัน); calx of bless; the chariot of Kuvera; a disease of the eyes; a bracelet of diamonds; an iron-cup; a small earthen fireplace; green vitriol or sulphate of iron.”
มีความหมายเดียวที่เข้าเค้าที่สุด คือ “ยานของท้าวกุเวร” (the chariot of Kuvera)
“ยาน” ในความหมายเช่นนี้ย่อมหมายถึงรถทรงของเทพ มีลักษณะเป็นปราสาทอยู่ในตัว เช่นเวชยันตราชรถของพระอินทร์ก็มีลักษณะเป็นปราสาทหรือมณฑป อันเป็นแบบของรถโบราณ (the chariot) ตรงกับลักษณะของ “บุษบก” ที่เข้าใจกันในภาษาไทย
“บุษบก” ในภาษาไทย ถ้าจะว่ามาจากสันสกฤตก็คงอ้างได้ด้วยความหมายนี้
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –
“บุษบก : (คำนาม) มณฑปขนาดเล็กแต่ด้านข้างโปร่ง เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ในพระราชพิธี หรือประดิษฐานปูชนียวัตถุเช่นพระพุทธรูปเป็นต้น.”
ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับแก้บทนิยามใหม่ เป็นดังนี้ –
“บุษบก : (คำนาม) เรือนยอดแบบหนึ่งมีขนาดต่าง ๆ กัน เป็นอย่างเรือนโกง เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ในพระราชพิธี หรือประดิษฐานปูชนียวัตถุเช่นพระพุทธรูปเป็นต้น.”
…………..
หมายเหตุแถม :
คำนิยามของพจนานุกรมฯ ตรงที่ว่า “เป็นอย่างเรือนโกง” คำว่า “เรือนโกง” (โกง – ก ไก่) ไม่ทราบว่าเรือนแบบไหนหรือหมายถึงอะไร
ตรวจดูทั้งในฉบับเล่มกระดาษและฉบับอิเล็กทรอนิกส์ ก็สะกดเป็น “เรือนโกง” (โกง – ก ไก่) ตรงกัน
คำว่า “โกง” (โกง – ก ไก่) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“โกง : (คำกริยา) ใช้อุบายหรือเล่ห์เหลี่ยมหลอกลวง เช่น โกงเงิน, แสดงอาการดื้อไม่ยอมทําตาม เช่น เด็กโกง ม้าโกง. (คำวิเศษณ์) โค้ง, ไม่ตรง, เช่น หลังโกง.
ผู้เขียนบาลีวันละคำเข้าใจว่า คำนี้น่าจะเป็น “เรือนโถง” (โถง – ถ ถุง)
คำว่า “โถง” (โถง – ถ ถุง) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“โถง : (คำนาม) อาคารที่เปิดโล่ง ๓ หรือ ๔ ด้าน, พื้นที่ใช้สอยบางส่วนของอาคาร มีลักษณะโล่ง เช่น โถงทางเข้า ห้องโถง. (คำวิเศษณ์) ที่เปิดโล่ง มีฝาเพียงด้านเดียวหรือไม่มีฝา เช่น ศาลาโถง วิหารโถง ปราสาทโถง.”
การควรจะเป็นประการใด ขอฝากเพื่อนไทยที่รักเมืองไทย รักภาษาไทย และรักความจำเริญทางภาษาอันเป็นวัฒนธรรมของชาติ โปรดช่วยกันพิจารณาโดยโยนิโสมนสิการด้วย เทอญ
…………..
ดูก่อนภราดา!
: บุษบกเปรียบเหมือนเป็นเรือนร่าง
: บุญที่สร้างเหมือนพระพุทธพิสุทธิ์ศรี
: เกิดเป็นคนแม้นไม่ทำซึ่งกรรมดี
: ก็เหมือนมีแต่บุษบกที่รกร้าง
#บาลีวันละคำ (2,653)
17-9-62