บาลีวันละคำ

สิงฺฆาณิกา (บาลีวันละคำ 2,053)

สิงฺฆาณิกา = น้ำมูก

ลำดับ 29 ในอาการสามสิบสอง

อ่านว่า สิง-คา-นิ-กา

สิงฺฆาณิกา” รูปคำเดิมเป็น “สิงฺฆาณิกา” (สิง-คา-นิ-กา) รากศัพท์มาจาก –

(1) สิงฺฆาน (จมูก) + อิก ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์, แปลง เป็น

: สิงฺฆาน + อิก = สิงฺฆานิก + อา = สิงฺฆานิกา > สิงฺฆาณิกา แปลตามศัพท์ว่า “น้ำที่เกิดในจมูก

(2) สิงฺฆฺ (ธาตุ = ไหล) + อนิก ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์, แปลง เป็น

: สิงฺฆฺ + อนิก = สิงฺฆานิก + อา = สิงฺฆานิกา > สิงฺฆาณิกา แปลตามศัพท์ว่า “น้ำที่ไหลออกมา

สิงฺฆาณิกา” หมายถึง น้ำมูก (mucus of the nose, snot)

สิงฺฆาณิกา” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกพจน์ คงรูปเป็น “สิงฺฆาณิกา

หมายเหตุ : ศัพท์นี้ไม่แปลง เป็น สะกดเป็น “สิงฺฆานิกา” ก็มี

สิงฺฆาณิกา” ในภาษาไทยยังไม่มีเก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

…………..

ขยายความ :

คัมภีร์วิสุทธิมรรคบรรยายลักษณะของ “สิงฺฆาณิกา” ไว้ดังนี้ –

สิงฺฆาณิกาติ  มตฺถลุงฺคโต  ปคฺฆรณกอสุจิ.

คำว่า “สิงฺฆาณิกา” ได้แก่น้ำไม่สะอาดที่ไหลออกจากมันในสมอง

สา  วณฺณโต  ตรุณตาลฏฺฐิมิญฺชวณฺณา.

สิงฆาณิกานั้นมีสีคล้ายเยื่อในเม็ดตาลอ่อน

สณฺฐานโต  โอกาสสณฺฐานา.

สิงฆาณิกามีรูปทรงตามรูปทรงสัณฐานของอวัยวะที่มันไปขังอยู่

โอกาสโต  นาสปูเฏ  ปูเรตฺวา  ฐิตา.

ปกติสิงฆาณิกาจะอยู่เต็มโพรงจมูก

น  เจสา  เอตฺถ  สทา  สนฺนิจิตา  หุตฺวา  ติฏฺฐติ 

แต่มันมิได้ขังอยู่ที่นั่นตลอดเวลาดอก

อถโข  ยถา  นาม  ปุริโส  ปทุมินิปตฺเต  ทธึ  พนฺธิตฺวา  เหฏฺฐา  กณฺฏเกน  วิชฺเฌยฺย  อถ  เตน  ฉิทฺเทน  ทธิมฏฺฐํ  คฬิตฺวา  พหิ  ปเตยฺย

(มันเกิดได้อย่างไร พึงสดับอุปมา คือ) เหมือนคนห่อนมเปรี้ยวไว้ด้วยใบบัว แล้วใช้หนามเจาะข้างล่าง ทีนี้น้ำใสแห่งนมส้มก็จะพึงหยดออกทางช่องนั้นหล่นลงข้างนอก ดังนี้ฉันใด

เอวเมว  ยทา  สตฺตา  โรทนฺติ  วิสภาคาหารอุตุวเสน  วา  สญฺชาตธาตุกฺโขภา  โหนฺติ 

การเกิดขึ้นของสิงฆาณิกาก็ฉันนั้น คือเมื่อใดเราร้องไห้ก็ดี เกิดอาการธาตุผิดปกติเพราะอาหารผิดสำแลงหรืออากาศแปรปรวนก็ดี

ตทา  อนฺโต  สีสโต  ปูติเสมฺหภาวํ  อาปนฺนํ  มตฺถลุงฺคํ  คฬิตฺวา  ตาลุมตฺถกวิวเรน  โอตริตฺวา  นาสปูเฏ  ปูเรตฺวา  ติฏฺฐติ  วา  ปคฺฆรติ  วา.

เมื่อนั้นมันในสมองที่กลายเป็นเสมหะเสียก็จะเลื่อนจากภายในศีรษะลงมาตามช่องเพดาน เต็มอยู่ในโพรงจมูกบ้าง ไหลออกมาบ้าง

สิงฺฆาณิกาปริคฺคณฺหเกน  ปน  โยคินา  นาสปูเฏ  ปูเรตฺวา  ฐิตวเสเนว  ปริคฺคณฺหิตพฺพา.

พระโยคีผู้เจริญพระกรรมฐานจะกำหนดเอาสิงฆาณิกาเป็นอารมณ์ พึงกำหนดเอาตามที่มันเต็มโพรงจมูกอยู่นั่นแลเป็นใช้ได้

(คัมภีร์วิสุทธิมรรค ภาค 2 อนุสสติกัมมัฏฐานนิทเทส หน้า 48-49)

ในบทสวด “พระอาการสามสิบสอง” กล่าวถึง “สิงฺฆาณิกา” ไว้ดังนี้ –

๏ สิงฆาณิกา……..นักปราชญ์ท่านว่า…..น้ำมูกครบครัน

เมื่อคราวร้องไห้….ไหลออกมาพลัน……ดุจดังสำคัญ

เหมือนน้ำคาวปลา๚ะ๛

…………..

ดูก่อนภราดา!

: น้ำมูก ไม่สั่งทิ้งก็ยิ่งโสโครก

: สรรพสิ่งในโลก ไม่รู้จักปล่อยวางก็ยิ่งวุ่นวาย

—————-

(ตามคำอาราธนาของคุณครูอนันต์ นาควิจิตร)

ภาพประกอบ: จาก google

ควรตามไปดูคำว่า “อาการ 32” ที่ลิงก์ข้างล่างนี้ด้วย:

#บาลีวันละคำ (2,053)

25-1-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย