บาลีวันละคำ

วิวาทะ (บาลีวันละคำ 2,060)

วิวาทะ

ไม่ใช่ “วิวาท”

อ่านว่า วิ-วา-ทะ

วิวาทะ” บาลีเป็น “วิวาท” อ่านว่า วิ-วา-ทะ รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + วทฺ (ธาตุ = พูด) + ปัจจัย, ลบ , ทีฆะต้นธาตุ คือ อะ ที่ -(ทฺ) เป็น อา (วทฺ > วาท)

: วิ + วทฺ = วิวทฺ + = วิวทณ > วิวท > วิวาท (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การพูดที่ทำให้แย้งกัน” หรือ “ภาวะเป็นเหตุพูดแย้งกัน” หมายถึง การวิวาท, การทะเลาะ, การทุ่มเถียง (dispute, quarrel, contention)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

วิวาท : (คำกริยา) ทะเลาะ เช่น เด็กวิวาทกัน, มักใช้เข้าคู่กับคำ ทะเลาะ เป็น ทะเลาะวิวาท. (ป., ส.).”

อีกนัยหนึ่ง “วิวาท” มาจาก วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + วาท

วาท” (วา-ทะ) รากศัพท์มาจาก วทฺ (ธาตุ = พูด, กล่าว) + ปัจจัย, ลบ , ทีฆะต้นธาตุ คือ อะ ที่ -(ทฺ) เป็น อา (วทฺ > วาทฺ)

: วทฺ + = วทณ > วท > วาท แปลตามศัพท์ว่า “คำเป็นเครื่องพูด

คำว่า “วาท” ที่ใช้ในภาษาบาลีมีความหมายมากกว่าที่เราเข้าใจกันในภาษาไทย กล่าวคือ:

(1) การพูด, คำพูด, การคุย (speaking, speech, talk)

(2) สิ่งที่พูดกัน, ชื่อเสียง, คุณสมบัติ, ลักษณะพิเศษ (what is said, reputation, attribute, characteristic)

(3) การสนทนา, การทะเลาะกัน, การโต้เถียง, ความขัดแย้ง, การคัดค้าน (discussion, disputation, argument, controversy, dispute)

(4) คำสอน, ทฤษฎี, ความเชื่อ, หลักความเชื่อ, ลัทธิ, นิกาย (doctrine, theory put forth, creed, belief, school, sect)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

วาท, วาท– : (คำนาม) คําพูด, ถ้อยคํา; ลัทธิ, ความเห็น. (ป., ส.).”

วิ + วาท = วิวาท

ตามนัยนี้ “วิวาท” หมายถึง คำสอน ทฤษฎี ความเชื่อ หรือความเห็นที่ต่างกัน ไม่ใช่การทะเลาะวิวาทตามความหมายในภาษาไทย

เพื่อแสดงนัยที่แตกต่างเช่นนี้ บางท่านจึงพอใจที่จะเขียนคำนี้เป็น “วิวาทะ” เพื่อให้ต่างกับ “วิวาท

อภิปราย :

วิวาท” (วิ-วาด) ในภาษาไทย เรามักเข้าใจกันว่า ทะเลาะกัน พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ก็บอกไว้เช่นนั้น (ดูข้างต้น)

ดูที่คำว่า “ทะเลาะ” พจนานุกรมฯ บอกไว้ว่า –

ทะเลาะ : (คำกริยา) ทุ่มเถียงกันด้วยความโกรธ, โต้เถียงกัน, เป็นปากเป็นเสียงกัน.”

เป็นการยืนยันว่า “วิวาท” ในภาษาไทยต้องเป็นการทุ่มเถียงกันด้วยความโกรธ เช่นภาพที่เราเห็นแม่ค้าทะเลาะกันในตลาดเป็นต้น

แต่ในวัฒนธรรมของอารยชน “วิวาท” เป็นเพียงความเห็นหรือการแสดงความเห็นที่แตกต่างกัน ผู้แสดงความเห็นที่แตกต่างกันไม่จำเป็นต้องมีความโกรธหรือต้องโกรธกัน

และว่ากันตามหลักของผู้เจริญแล้ว ผู้แสดงความเห็นที่แตกต่างกันจะต้องไม่แสดงด้วยความโกรธ หากแต่แสดงออกด้วยสติปัญญาและเมตตา จึงจะเป็นการกระทำที่ถูกต้อง

ผู้มีความเชื่อความเห็นแตกต่างกันไม่จำเป็นต้องเป็นศัตรูกัน หากแต่สามารถเป็นเพื่อนรักกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกันได้เป็นอย่างดี

แต่สังคมไทยเรามักไม่เป็นเช่นว่านี้ ใครเชื่อไม่เหมือนตน ใครเห็นไม่เหมือนตน มักถือว่าเป็นศัตรู บางคนมาจากสถาบันเดียวกัน บางทีเป็นญาติพี่น้องกันแท้ๆ กลับถือว่าเป็นศัตรูเพียงเพราะเชื่อไม่เหมือนกัน เห็นไม่เหมือนกัน

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เชื่อว่านรกสวรรค์มี แล้วทำความดีทุกวัน

: ดีกว่ามัวแต่ถกเถียงกัน แต่ไม่มีวันทำความดี

#บาลีวันละคำ (2,060)

1-2-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย