บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

คำแนะนำเสริมในการแต่งกลอน

คำแนะนำเสริมในการแต่งกลอน

———————————

มีคนเขียนกลอนหลายคนยังไม่เข้าใจ-หรือไม่ก็เข้าใจผิดเกี่ยวกับการใช้คำรับสัมผัสนอกต่างมาตรา 

๑ “สัมผัสนอก” คือคำท้ายวรรคที่จะต้องให้มีเสียงสระรับสัมผัสกัน รวมทั้งคำในวรรคตรงตำแหน่งที่จะต้องรับสัมผัส ถือว่าเป็นสัมผัสบังคับ

เช่น –

(เนื่องจากกลไกเฟซบุ๊กที่ผมใช้เขียนอยู่นี้ไม่สามารถทำตัวหนาตัวบางตัวเอนหรือขีดเส้นใต้เพื่อให้เป็นที่สังเกตได้ จึงขอใช้เครื่องหมายคำพูดแทน) 

…………………………………

อันความคิดวิทยาเหมือนอา “วุธ”

ประเสริฐ “สุด”ซ่อนใส่เสียใน “ฝัก”

สงวนคมสมนึกใครฮึก “ฮัก”

จึงค่อย “ชัก” เชือดฟันให้บรร “ลัย”

…………………………………

(เพลงยาวถวายโอวาท-สุนทรภู่)

จะเห็นว่า “วุธ” กับ “สุด” รับสัมผัสกัน 

“ฝัก” – “ฮัก” – “ชัก” ก็รับสัมผัสกัน 

นี่คือ “สัมผัสนอก” หรือสัมผัสบังคับ

“ลัย” สระ ไอ เป็นคำส่งคือคำสุดท้ายของบท บังคับว่า บทต่อไปจะต้องมีคำเสียงสระ ไอ มารับสัมผัส 

๒ คำว่า “ต่างมาตรา” หมายความว่า เสียงสระคนละเสียงกัน แต่คล้ายกัน เช่น – 

ไอ กับ อาย 

อัน กับ อาน 

เอา กับ อาว

อำ กับ อาม

อัง กับ อาง

ไอ กับ อาย เช่น – 

…………………………………

อันบุญทานควรทำจงจำ “ไว้” 

เมื่อวาง “วาย” ตามเตือนเป็นเพื่อนสอง

…………………………………

“ไว้” สระ ไอ

“วาย” สระ อาย 

ไอ กับ อาย ต่างมาตรากัน ใช้รับสัมผัสกันไม่ได้ 

อัน กับ อาน เช่น 

…………………………………

อันบุญทานควรทำจงจำไว้ 

เป็นเพื่อนใจไปทุกภพจบ “สวรรค์” 

ทรัพย์สมบัติอยู่ได้ก็ไม่ “นาน” 

พอถึง “กาล” ก็วิบัติอนัตตา

…………………………………

“สวรรค์” สระ อัน

“นาน” สระ อาน

อัน กับ อาน ต่างมาตรากัน ใช้รับสัมผัสกันไม่ได้

“กาล” สระ อาน รับสัมผัสต่อมาจาก “นาน” แม้จะมาตราเดียวกัน แต่เมื่อ “นาน” รับสัมผัสผิดมาจาก “สวรรค์” เสียแล้ว “กาล” ก็ต้องถือว่าพลอยผิดไปด้วย เป็นอันว่าพลอยใช้ไม่ได้ไปด้วย

…………………………………

อย่าให้กลอนดีดีมีตำหนิ

ตั้งสติตรองตรึกค่อยศึกษา

ไทยสอนไทยด้วยกันอย่าฉันทา

ฝรั่งมาสอนเราอายเขานะ

…………………………………

เล็กๆ น้อยๆ บูชาครูวันสุนทรภู่-๒๖ มิถุนายน

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๖ มิถุนายน ๒๕๖๓

๑๐:๓๖

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *