อาบน้ำ (บาลีวันละคำ 1,899)
อาบน้ำ
อีกคำหนึ่งที่น่าจับบวช
“อาบน้ำ” เป็นคำไทย คำว่า “อาบ” ชวนให้นึกคำบาลีว่า “อาป”
“อาป” อ่านว่า อา-ปะ รากศัพท์มาจาก –
(๑) อาปฺ (ธาตุ = เอิบอาบ, ซึมซาบ; เจริญ) + อ ปัจจัย
: อาปฺ + อ = อาป แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่เอิบอาบซึมซาบไป” (2) “สิ่งที่ซึมซาบไปได้ทุกที่” (3) “สิ่งที่แผ่ซึมซาบไปสู่สหชาตรูป” (“สหชาตรูป” ในที่นี้คือสิ่งที่เกิดจากน้ำหรือเกิดในน้ำ) (4) “สิ่งที่ช่วยให้สหชาตรูปเจริญเติบโต”
(๒) อปฺ (ธาตุ = ไป, ถึง) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, “ทีฆะต้นธาตุ” คือ อะ ที่ อ-(ปฺ) เป็น อา (อปฺ > อาป)
: อปฺ + ณ = อปณ > อป > อาป แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ไหลไปถึงที่นั้นๆ”
“อาป” (ปุงลิงค์) หมายถึง น้ำ, ธาตุน้ำ
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีศัพท์ว่า “อาป” บอกว่าเป็น ธาตุ (รากศัพท์) มีความหมายว่า ซ่านทั่ว; ได้; to pervade; to obtain.
และมีศัพท์ที่ออกจาก “อาป” คือ “อาปคา” เป็นคำนาม แปลว่า แม่น้ำ, ลำน้ำ; a river, a stream.
หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) บอกความหมายของ “อาป” ว่า น้ำ, ธาตุน้ำ, สมุทร
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แสดงความเห็นไว้ว่า “อาป” คำนี้มีรูปคำคล้ายภาษาละตินและยุโรปโบราณบางคำ คือ amnis (Lat.) = river (แม่น้ำ) ùpé (Lith.) = water (น้ำ) ape (Old Prussian) = river (แม่น้ำ)
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อาป” ว่า water (น้ำ) และขยายความต่อไปว่า philosophically t. t. for cohesion, representative of one of the 4 great elements (cp. mahābhūta), viz. paṭhavī, āpo, tejo, vāyo (ทางปรัชญาเป็นศัพท์เฉพาะสำหรับการเกาะตัวหรือรวมกันเป็นอันหนึ่งอันเดียว, อาโปธาตุ, เป็นชื่อที่ใช้แทนธาตุหนึ่งในบรรดาธาตุทั้งสี่ (เทียบ มหาภูต), กล่าวคือ ปฐวี, อาโป, เตโช, วาโย)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อาปะ, อาโป : (คำนาม) นํ้า, เมื่อใช้เป็นส่วนหน้าของสมาสมักใช้ว่า อาโป เช่น อาโปกสิณ อาโปธาตุ.”
…………..
อภิปราย :
“อาป” ในบาลีมีคติเหมือนศัพท์ในชุดที่ท่านเรียกว่า “มโนคณะ” (ศัพท์ 12 ศัพท์ มีคำว่า “มน” (มะ-นะ) = ใจ เป็นต้น) คือ “เข้าสมาสแล้วเอาสระที่สุดของตนเป็น โอ ได้” เช่น –
“มโนธรรม” รูปคำเดิมคือ มน + ธรรม ซึ่งควรจะเป็น “มนธรรม” แต่เอาสระที่สุดของตนเป็น โอ คือ มน = มโน
มน + ธรรม = มนธรรม > มโนธรรม (ไม่ใช้คำว่า “มนธรรม”)
อาป + ธาตุ = อาปธาตุ > อาโปธาตุ (ไม่ใช้คำว่า “อาปธาตุ”)
คำบาลีที่แปลว่า “น้ำ” มีหลายคำ เช่น ชล อุทก วาริ อมฺพุ ปานีย สลิล แต่เมื่อพูดถึงธาตุทั้ง 4 คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม ธาตุน้ำท่านใช้ศัพท์ว่า “อาโป” คือ “อาโปธาตุ” (ภาษาไทยอ่านว่า อา-โป-ทาด) จะเปลี่ยนไปเรียกเป็น “ชลธาตุ” “อุทกธาตุ” หรือ “วาริธาตุ” ไม่ได้
“อาโปธาตุ” จึงถือว่าเป็นศัพท์เฉพาะทาง พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ บอกความหมายของ “อาโปธาตุ” ว่า the fluid element, the essential element in water, i. e element of cohesion (ธาตุน้ำหรือของเหลว, อาโปธาตุ, คือธาตุที่มีลักษณะเกาะกุมกันอยู่)
ในภาษาไทย เราคุ้นกับคำว่า “อาโป” มากกว่า “อาป” (อา-ปะ)
คำว่า “อาป” ถ้าออกเสียงแบบคำไทย ก็คือ “อาบ” ชวนให้ถึงคำว่า “อาบ” ในภาษาไทย
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อาบ : (คำกริยา) เอานํ้ารดตัวหรือลงในนํ้าทั้งตัว เพื่อแก้ร้อนหรือชําระล้างเหงื่อไคลเป็นต้น เรียกว่า อาบนํ้า; ชโลม, ทา, ทําให้ซึมซาบ, เช่น อาบนํ้ารัก ลูกศรอาบยาพิษ; ไหลโซม เช่น เหงื่ออาบหน้า.”
จะเห็นได้ว่ามีความหมายเกี่ยวข้องอยู่กับ “น้ำ” ทั้งสิ้น
เป็นไปได้หรือไม่ว่า “อาบ” ก็คือ “อาป = น้ำ” นั่นเอง
และเป็นไปได้หรือไม่ว่า คำว่า “อาบน้ำ” ในภาษาไทย แรกเริ่มก็มาจากพูดคำบาลีแล้วแปลเป็นไทยที่เรียกว่าคำซ้อน เช่น “เสื่อสาดอาสนะ” “เสื่อสาด” ก็คืออาสนะ และ “อาสนะ” ก็แปลว่า เสื่อสาด นั่นเอง
“อาป” แปลว่า น้ำ เราจึงพูดว่า “อาป–น้ำ” คือจะบอกว่า อาป แปลว่าน้ำ แต่พูดไปพูดมากลายเป็น “อาบน้ำ” และเป็นคำไทยไปโดยไม่รู้ตัว
หมายเหตุ : เป็นความเห็นเฉพาะตัว กรุณาอย่าลอกเลียนแบบ
…………..
ดูก่อนภราดา!
: วันเดียวไม่ได้อาบน้ำยังเหม็นสาบ
: ใจที่หมักหมมด้วยบาป จะรอไว้อีกกี่วัน?
21-8-60