สรงสนาน (บาลีวันละคำ 1,900)
สรงสนาน
บาลีว่าอย่างไร
อ่านว่า สง-สะ-หฺนาน
คำว่า “สรง” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –
“สรง : (คำกริยา) อาบนํ้า (ใช้แก่บรรพชิตและเจ้านาย). (ข.).”
ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับแก้คำนิยามใหม่เป็นดังนี้ –
“สรง : (คำกริยา) อาบนํ้า, รดน้ำ, (ใช้แก่เจ้านายและพระภิกษุสามเณร), ประพรม เช่น สรงพระบรมอัฐิ. (ข.).”
โปรดสังเกตคำในวงเล็บ :
พจนานุกรมฯ ฉบับ 42 บอกว่า “ใช้แก่บรรพชิตและเจ้านาย”
พจนานุกรมฯ ฉบับ 54 แก้เป็น “ใช้แก่เจ้านายและพระภิกษุสามเณร”
เล็กๆ น้อยๆ แต่บอกความนัยหรือความในใจลึกๆ ของราชบัณฑิตยฯ
คำในวงเล็บ (ข.) หมายถึง “เขมร” นั่นคือพจนานุกรมฯ บอกว่า “สรง” เป็นภาษาเขมร
ส่วนคำว่า “สนาน” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สนาน : (คำนาม) การอาบนํ้า. (ส. สฺนาน; ป. นหาน).”
พจนานุกรมฯ บอกว่า “สนาน” คำสันสกฤตว่า “สฺนาน” (มีจุดใต้ ส)
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
“สฺนาน : (คำนาม) ‘สนาน,’ การอาบ, การอภิเษกหรือชำระ (ด้วยน้ำ); สิ่งสำหรับการชำระ, น้ำ, ฯลฯ; bathing, ablution, anything for ablution, water, &c.”
พจนานุกรมฯ บอกว่า “สนาน” คำบาลีว่า “นหาน”
“นหาน” คำนี้เขียนเป็น “นฺหาน” (มีจุดใต้ น) ก็มี
ถ้าเขียนด้วยอักษรโรมัน (ซึ่งคนไทยมักเรียกผิดๆ ว่า “ภาษาอังกฤษ” (ดูเพิ่มเติมที่: “ภาษา กับ อักษร” บาลีวันละคำ (781) 8-7-57) อาจช่วยให้เห็นความแตกต่างชัดขึ้น
นหาน (ไม่มีจุดใต้ น) = nahāna
นฺหาน (มีจุดใต้ น) = nhāna
ตัว ā มีเครื่องหมายขีด – ข้างบน เป็นสัญลักษณ์ที่ใช้กันในหมู่นักภาษา เมื่อเขียนภาษาบาลีเป็นอักษรโรมัน หมายถึงให้ออกเสียง a เป็น อา เช่นในที่นี้ nahāna อ่านว่า นะ-หา-นะ -hā- อ่านว่า -หา- ไม่ใช่ หะ
“นหาน” (nahāna) บาลีอ่านว่า นะ-หา-นะ
“นฺหาน” (nhāna) (อักษรไทยมีจุดใต้ น อักษรโรมัน n ไม่มี a) นฺหา ไม่อ่านว่า นะ-หา- แต่อ่านคล้ายกับคำไทยว่า หนา- จะอ่านว่า หนา-นะ ตรงๆ เลยก็ได้
“นหาน” (ไม่มีจุดใต้ น) รากศัพท์มาจาก นหา (ธาตุ = ทำให้หมดจด, อาบน้ำ) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)
: นหา + ยุ > อน = นหาน แปลตามศัพท์ว่า “การทำให้สะอาด” หมายถึง การอาบ, การอาบน้ำ (bathing, a bath)
พจนานุกรมฯ บอกว่า “สนาน” คำบาลีว่า “นหาน” แต่ความจริงบาลียังมีศัพท์ว่า “สินาน” อีกคำหนึ่ง
“สินาน” (สิ-นา-นะ) รากศัพท์มาจาก สินา (ธาตุ = สะอาด, ชำระให้สะอาด) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)
: สินา + ยุ > อน = สินาน แปลตามศัพท์ว่า “กิริยาที่ทำให้สะอาด” หมายถึง การอาบน้ำ (bathing)
บาลี “สินาน”
ไทย “สนาน”
อันที่จริง ถ้าพจนานุกรมฯ บอกว่า “สนาน” บาลีเป็น “สินาน” น่าจะใกล้เคียงกว่าที่บอกว่า “สนาน” บาลีเป็น “นหาน”
…………..
อภิปราย :
พระภิกษุสามเณรอาบน้ำ ภาษาไทยพูดว่า “สรงน้ำ” = พระสรงน้ำ เราไม่พูดว่า พระอาบน้ำ
เช่นเดียวกับ พระนอนหรือนอนหลับ เราพูดว่า “จำวัด” = พระจำวัด เราไม่พูดว่า พระนอนหลับ
ควรสังเกตว่า พระอาบน้ำ เราพูดว่า “พระสรงน้ำ” แต่เจ้านายอาบน้ำมักพูดเพียง “สรง” คำเดียว
พจนานุกรมฯ บอกว่าคำว่า “สรง” เป็นภาษาเขมร แปลว่า อาบน้ำ
ภาษาไทยมีคำว่า “สนาน” มาจากคำสันสกฤต แปลว่า การอาบนํ้า
นอกจากนี้ภาษาไทยยังมีคำที่นิยมพูดควบกันว่า “สรงสนาน”
“สรง” แปลว่า อาบน้ำ ก็คือ “สนาน”
“สนาน” ก็แปลว่า อาบน้ำ ก็คือ “สรง”
“สรงสนาน” จึงเป็นคำซ้ำความ คือคำศัพท์คำแปลอยู่ในคำเดียวกัน ในภาษาไทยมีคำแบบนี้อยู่เป็นอันมาก
น่าสังเกตว่า “สรง” พจนานุกรมฯ บอกว่าเป็นคำกริยา แต่ “สนาน” พจนานุกรมฯ บอกว่าเป็นคำนาม (ดูข้างต้น)
…………..
การสรงสนาน คืออาบน้ำ หรือรดน้ำ ดูจะเป็นเรื่องสำคัญถึงระดับเป็นพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ในหลายสังคมหลายศาสนา ที่ขึ้นชื่อเป็นพิเศษเห็นจะได้แก่การอาบน้ำในแม่น้ำคงคาของชาวชมพูทวีป ที่เชื่อกันว่าเป็นการลอยบาปหรือล้างบาป ซึ่งคำสอนในพระพุทธศาสนาปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ต้องรออีกกี่ชาติจึงจะมีโอกาสไปอาบน้ำล้างบาปในแม่คงคา
: แต่ธรรมะของพระบรมศาสดาชำระกิเลสในใจได้เดี๋ยวนี้ที่นี่เอง
—————
(ตามคำเสนอแนะของ Santi Issaraphan)
22-8-60