ล่าสัตว์ (บาลีวันละคำ 2,066)
ล่าสัตว์
บาลีว่าอย่างไร
ภาษาไทย “ล่าสัตว์” บาลีใช้ศัพท์ว่า “มิควธ”
อ่านว่า มิ-คะ-วะ-ทะ
ประกอบด้วยคำว่า มิค + วธ
(๑) “มิค” (มิ-คะ) รากศัพท์มาจาก มิ (ธาตุ = เบียดเบียน) + ค ปัจจัย
: มิ + ค = มิค (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สัตว์อันมนุษย์ที่กินเนื้อและสัตว์ที่แข็งแรงกว่าเบียดเบียน”
“มิค” ในบาลี หมายถึง –
(1) สัตว์ป่า, สัตว์ที่อยู่ตามธรรมชาติ (a wild animal, an animal in its natural state)
(2) กวาง, เลียงผา, เนื้อทราย (a deer, antelope, gazelle)
(๒) “วธ” รากศัพท์มาจาก วธฺ (ธาตุ = ฆ่า, เบียดเบียน) + อ ปัจจัย
: วธฺ + อ = วธ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การฆ่า” หมายถึง การตี, การฆ่า; การฆ่าฟัน, การทำลาย (striking, killing; slaughter, destruction, execution)
มิค + วธ = มิควธ แปลตามศัพท์ว่า “การฆ่ากวาง” หมายถึง การล่าเนื้อ, การล่าสัตว์ (deer-slaying, hunting)
ขยายความ :
คำว่า “มิควธ” แปลตามตัวว่า “การฆ่ากวาง” ทั้งนี้อาจเป็นเพราะกวางเป็นสัตว์ป่าที่มนุษย์พบเห็นได้ง่ายและล่าได้ง่าย เดิมทีเดียวมนุษย์ก็คงล่ากวางเป็นพื้น ท่านจึงใช้คำว่า “มิควธ” ต่อมาแม้สัตว์ที่ล่าจะไม่ใช่กวาง ก็ยังคงใช้คำว่า “มิควธ” เหมือนเดิม แต่ความหมายขยายออกไปหมายถึงล่าสัตว์ทั่วไป
เทียบคำฝรั่งว่า salary ซึ่งแปลว่า เงินเดือน นักภาษาบอกว่ารากศัพท์มาจาก salt ที่แปลว่า เกลือ เนื่องจากดั้งเดิมมนุษย์ในสังคมฝรั่งจ่ายค่าจ้างเป็นเกลือ ต่อมาแม้จะเปลี่ยนมาจ่ายเป็นเงิน แต่ก็ยังคงใช้คำว่า salary = อันเกี่ยวกับเกลือ เหมือนเดิม (ผู้เขียนบาลีวันละคำเคยอ่านมาอย่างนี้ หากคลาดเคลื่อนประการใด ขอท่านผู้รู้โปรดทักท้วงด้วย)
เทียบภาษาไทยก็เหมือนคำว่า “กินข้าวกินปลา” เราพูดอย่างนี้เพราะดั้งเดิมข้าวกับปลาเป็นอาหารหลัก เนื่องจากหาได้ง่าย (นึกถึงคำว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว”) ต่อมาแม้อาหารแต่ละมื้อจะไม่ใช่ข้าวหรือปลา เราก็ยังคงใช้คำว่า “กินข้าวกินปลา” เหมือนเดิม แต่ความหมายขยายออกไปหมายถึงกินอาหารแต่ละมื้อ
คนรุ่นใหม่แย้งว่า อาหารในมื้อนั้นๆ อาจไม่ใช่ข้าวและปลา เพราะฉะนั้นจะเรียกว่า “กินข้าวกินปลา” ย่อมผิดความจริง ควรใช้คำพูดให้ตรงกับความเป็นจริง เช่น กินก๋วยเตี๋ยว กินโจ๊ก กินบะหมี่ กินข้าวผัด หรือไม่ก็ควรใช้คำกลางๆ ว่า “รับประทานอาหาร”
การแย้งเช่นนี้ย่อมแสดงให้เห็นว่า ไม่รู้จักรากเหง้าของตัวเอง
………..
ในคัมภีร์มีคำว่า “มิควธ” ใช้อยู่ทั่วไป เช่น –
… ตทา อุตฺตรปญฺจาลนคเร ปญฺจาโล นาม ราชา สพฺพาลงฺการภูสิโต รถมภิรุหิตฺวา มิควธาย วนํ คนฺตฺวา …
(คัมภีร์มังคลัตถทีปนี ภาค 1 หน้า 16 ดูภาพประกอบ)
แปลเป็นไทยว่า –
… ครั้งนั้นพระเจ้าปัญจาละแห่งอุตตรปัญจาลนคร ทรงเครื่องต้นพร้อมสรรพประทับรถพระที่นั่งเสด็จประพาสป่าเพื่อทรงล่าสัตว์ …
เท่าที่สังเกตเรื่องในคัมภีร์ พบว่า “มิควธ – การล่าสัตว์” นิยมกันว่าเป็นการกีฬาในหมู่ชนชั้นสูงของสังคมชาวชมพูทวีป
แต่ในหมู่ชาวพุทธ การล่าคือการฆ่า ย่อมเป็นบาปอย่างแน่นอน
…………..
ดูก่อนภราดา!
: เงินอาจบันดาลผิดให้กลายเป็นถูกตามกฎหมายได้
: แต่จะบันดาลบาปให้กลายเป็นบุญหาได้ไม่
#บาลีวันละคำ (2,066)
7-2-61