บาลีวันละคำ

คำบาลีที่เว้นวรรคผิด (บาลีวันละคำ 1,905)

คำบาลีที่เว้นวรรคผิด

ผู้เขียนบาลีวันละคำได้เห็นเอกสารฉบับหนึ่งเขียนคำบาลีเว้นวรรคผิด 2 แห่ง (ดูภาพประกอบ) คือ –

ชินะ  ปัญชะระ  ปะริต  ตังมัง  รักขะตุ  สัพพทา

พระครูวิจิตร  ธรรมโชติ

อธิบาย :

ข้อ ๑ ชินะ  ปัญชะระ  ปะริต  ตังมัง  รักขะตุ  สัพพทา

เขียนเป็นคำบาลีที่ถูกต้อง (ในที่นี้ใช้เครื่องหมาย / แบ่งคำเพื่อให้เห็นชัดเจน) ว่า

ชินปญฺชรปริตฺตํ / มํ / รกฺขตุ / สพฺพทา.

อ่านว่า ชิ-นะ-ปัน-ชะ-ระ-ปะ-ริด-ตัง  มัง  รัก-ขะ-ตุ  สับ-พะ-ทา

(๑) “ชินปญฺชรปริตฺตํ” แยกศัพท์เป็น ชิน + ปญฺชร + ปริตฺตํ

ชิน (ชิ-นะ) = ผู้ชนะ หรือผู้ชนะมาร หมายถึงพระพุทธเจ้า

ปญฺชร (ปัน-ชะ-ระ) = กรง (a cage, frame)

ปริตฺตํ (ปริตฺต) (ปะ-ริด-ตะ) = “เครื่องป้องกัน” คือบทสวดต่างๆ ที่นับถือกันว่ามีอานุภาพป้องกันภัย ในภาษาไทยเรียกว่า “พระปริตร” ( -ปะ-หฺริด)

ชิน + ปญฺชร = ชินปญฺชร > ชินบัญชร แปลตามศัพท์ว่า “กรงแห่งพระชินเจ้า” หมายถึงพระคาถาชินบัญชร

ชินปญฺชร + ปริตฺต = ชินปญฺชรปริตฺต แปลว่า “พระปริตรอันเปรียบเสมือนกรงแห่งพระชินเจ้า” ในที่นี้ท่านถือว่าพระคาถาชินบัญชรเป็น “ปริตร” บทหนึ่ง

ชินปญฺชรปริตฺต” ประกอบวิภัตติเป็น “ชินปญฺชรปริตฺตํ” เป็นศัพท์เดียวกัน จึงต้องเขียนติดกัน

(๒) “มํ” อ่านว่า มัง เป็นศัพท์ที่เปลี่ยนรูปมาจาก “อมฺห” (อำ-หฺมะ) = ข้าพเจ้า

ในที่นี้ “มํ” แปลตามศัพท์ว่า “ซึ่งข้าพเจ้า

(๓) “รกฺขตุ” (รัก-ขะ-ตุ) เป็นคำกริยา เอกพจน์ ประถมบุรุษ (ประถมบุรุษของบาลีหมายถึง ผู้หรือสิ่งที่ถูกพูดถึง) แปลว่า “จงรักษา” (ประธานของกริยาตัวนี้คือ “ชินปญฺชรปริตฺตํ”)

(๔) “สพฺพทา” (สับ-พะ-ทา) เป็นคำจำพวกที่เรียกว่า “นิบาต” ลักษณะประจำตัวของคำจำพวกนี้คือคงรูปเดิมเสมอ ไม่แจกด้วยวิภัตติ

สพฺพทา” แปลว่า “ในกาลทั้งปวง” (always)

ชินปญฺชรปริตฺตํ  มํ  รกฺขตุ  สพฺพทา.

เขียนแบบคำอ่าน: ชินะปัญชะระปะริตตัง  มัง  รักขะตุ  สัพพะทา.

แปลว่า “ขอพระชินปัญชรปริตรจงรักษาข้าพเจ้าในกาลทุกเมื่อ

หลักที่ต้องเข้าใจ :

ภาษาบาลีเขียนแยกเป็นคำๆ แบบเดียวกับภาษาอังกฤษ ถ้าเขียนติดกัน ก็ไม่เป็นภาษา เช่น –

LONGLIVETHEKING

ทีฆายุโกโหตุมหาราชา

ถ้าแยกคำไม่ถูกต้อง ก็อ่านไม่ได้ความ

LON  GLI  VET  HEK  ING

ที  ฆายุ  โกโห  ตุม  หารา  ชา

แยกคำถูกต้อง จึงอ่านได้ความ

LONG  LIVE  THE  KING

ทีฆายุโก  โหตุ  มหาราชา

ข้อ ๒ พระครูวิจิตร  ธรรมโชติ

คำว่า “พระครูวิจิตร  ธรรมโชติ” เป็นนามสมณศักดิ์ หรือราชทินนาม (ดู “ราชทินนาม” บาลีวันละคำ (382) 31-5-56)

ราชทินนามเป็นกลุ่มคำ จึงต้องเขียนติดกันเป็นคำเดียว ข้อบกพร่องที่พบเสมอในสื่อสิ่งพิมพ์สมัยนี้ก็คือ เขียนราชทินนามแยกเป็น ๒ คำ เพราะเข้าใจผิดว่าเป็นชื่อกับนามสกุล เช่น –

หลวงประดิษฐ์  มนูธรรม” เข้าใจผิดว่าชื่อ “ประดิษฐ์” นามสกุล “มนูธรรม”

เขียนถูกต้องคือ “หลวงประดิษฐ์มนูธรรม

พระยาอนุมาน  ราชธน” เข้าใจผิดว่าชื่อ “อนุมาน” นามสกุล “ราชธน”

เขียนถูกต้องคือ “พระยาอนุมานราชธน

พระโสภณ  คณาภรณ์” (นามสมณศักดิ์) เข้าใจผิดว่าชื่อ “พระโสภณ” นามสกุล “คณาภรณ์”

เขียนถูกต้องคือ “พระโสภณคณาภรณ์

ในที่นี้ก็เช่นกัน “พระครูวิจิตร  ธรรมโชติ” เข้าใจผิดว่าชื่อ “พระครูวิจิตร” นามสกุล “ธรรมโชติ

เขียนถูกต้องคือ “พระครูวิจิตรธรรมโชติ

ราชทินนามไม่ใช่เรื่องลึกลับซับซ้อนหรือสูงเกินวิสัยที่จะเข้าใจ สังเกตสักนิด เอาใจใส่สักหน่อย ก็จะเขียนไม่ผิด

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ปรองดองกับความผิด

: คือความวิปริตของสังคม

27-8-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย