บาลีวันละคำ

หู (บาลีวันละคำ 1,904)

หู

ควรมีไว้แก้ปัญหา – บาลีว่าอย่างไร

คำว่า “หู” ที่หมายถึงอวัยวะในร่างกาย มีคำบาลีที่ใช้หลายคำ แต่ที่ใช้เป็นสามัญมี 2 คำ คือ “โสต” และ “กณฺณ

(๑) “โสต

บาลีอ่านว่า โส-ตะ รากศัพท์มาจาก สุ (ธาตุ = ฟัง, ได้ยิน) + ปัจจัย, แผลง อุ ที่ สุ เป็น โอ (สุ > โส)

: สุ + = สุต > โสต (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “อวัยวะเป็นเครื่องฟัง” (2) “อวัยวะที่ได้ยิน

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “โสต” ว่า ear, the organ of hearing (หู, โสต)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

โสต, โสต– ๑ : (คำนาม) หู, ช่องหู. (ป.; ส. โศฺรตฺร).”

(๒) “กณฺณ

บาลีอ่านว่า กัน-นะ รากศัพท์มาจาก กณฺณ (ธาตุ = ฟัง) + ปัจจัย

: กณฺณ + = กณฺณ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะเป็นเครื่องฟังเสียง

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “กณฺณ” ว่า the ear (หู)

บาลี “กณฺณ” ในภาษาไทยใช้ว่า “กรรณ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

กรรณ, กรรณ– : (คำนาม) หู, ใบหู, กลอน ใช้เป็น กรรณา ก็มี เช่น กรรณาคือกลีบกาญจ- นปัทม์. (สมุทรโฆษ), ราชาศัพท์ใช้ว่า พระกรรณ. (ส. กรฺณ).”

อภิปราย – ขยายความ :

ในภาษาไทย คำว่า โสต” พจนานุกรมฯ บอกว่าหมายถึง หู, ช่องหู ส่วน “กรรณ” หมายถึง หู, ใบหู

ความแตกต่างคือ –

โสต” ช่องหู คือส่วนที่ลึกเข้าไปข้างใน

กรรณ” ใบหู ส่วนที่ยื่นออกมาภายนอก

ในภาษาบาลี 2 ศัพท์นี้ใช้ในความหมายที่แตกต่างกัน คือ –

โสต” หมายถึง ประสาทส่วนที่ทำหน้าที่รับเสียง อย่างคำที่ใช้ในภาษาไทยว่า โสตประสาท เป็นต้น ไม่มุ่งถึงรูปทรงของอวัยวะ ถ้าส่วนที่เป็น “โสต” ไม่ทำงาน แม้รูปทรงของอวัยวะยังมีอยู่ เช่นมีใบหู ก็ไม่สามารถได้ยินเสียงได้

กณฺณ” หมายถึง อวัยวะที่เห็นเป็นรูปหู เช่น ใบหู ซึ่งอาจฉีกขาดหรือถูกตัดออกไปได้ แต่ไม่ทำให้สูญเสียการได้ยินถ้า “โสต” ยังใช้การได้อยู่

ในคำแปลเป็นภาษาอังกฤษ พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลคำทั้ง 2 ต่างกัน คือ –

แปล “โสต” ว่า ear, the organ of hearing

แปล “กณฺณ” ว่า the ear

ซึ่งสอดคล้องกับความหมายในบาลี

นอกจากนี้ พจนานุกรมบาลี-อังกฤษยังแสดงความเห็นไว้ด้วยว่า ศัพท์ว่า “กณฺณ” นั้น – not associated with hearing, therefore not used to signify the sense (แต่เดิมไม่ได้เกี่ยวเนื่องกับการฟัง, เพราะ

ฉะนั้นจึงไม่ใช้เพื่อแสดงถึงประสาท)

สรุปความแตกต่างๆ ชัดๆ :

– ถ้าพูดว่า “หูหนวก” หู คำนั้นหมายถึง “โสต” ไม่ใช่ “กณฺณ

– ถ้าพูดว่า “หูแหว่ง จมูกวิ่น” หู คำนั้นหมายถึง “กณฺณ” (กรรณ) ไม่ใช่ “โสต

…………..

แถม :

ในภาษาไทยมีคำที่มาจากบาลีว่า “พหูสูต” ( –สูต ไม่มี ) คำว่า “-หู” ในคำนี้ไม่ได้หมายถึง “หู” ไม่ว่าจะเป็น “โสต” หรือ “กรรณ” แต่มาจากคำว่า “พหุ” ซึ่งแปลว่า “มาก” ที่เกี่ยวกับ “หู” คือ “สูต” ซึ่งแปลว่า “ฟัง

พหูสูต” แปลว่า “ฟังมาก” หมายถึง สดับตรับฟัง ศึกษา เรียนรู้ สังเกต สำเหนียกมามาก คำไทยเรียกว่า “คงแก่เรียน

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ฟังทุกเรื่อง

: แต่อย่าเชื่อทุกเรื่อง

————-

(อินเทอเน็ตไม่เป็นใจ ขออภัยในความไม่สะดวก)

26-8-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย